การแข่งขันก่อสร้างระหว่างจีน-อินเดียสร้างความเสียหายต่อเทือกเขาหิมาลัยอย่างไร

รอยแยกใหม่บนพื้นดินเมืองโจชิมัธ ในเทือกเขาหิมาลัย ทางภาคเหนือของอินเดียปรากฏเป็นข่าวอีกครั้ง เหตุใดเมืองที่กำลังทรุดตัวแห่งนี้จึงกลายเป็นหัวข้อถกเถียงอย่างต่อเนื่อง

บรรดานักวิทยาศาสตร์ชี้ว่ามีประเด็นน่ากังวลที่ใหญ่กว่ากำลังเกิดขึ้นในเทือกเขาที่ได้ชื่อว่า “หลังคาโลก” แห่งนี้

พวกเขาระบุว่า การเร่งก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานของจีนและอินเดียทั่วภูมิภาคในเทือกเขาหิมาลัยอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มอันตรายและความเสี่ยงการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ

นอกจากนี้ ภาวะโลกร้อนก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้แก่ภูมิภาคที่มีความเปราะบางทางระบบนิเวศในแถบนี้ เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้ธารน้ำแข็ง และ “ชั้นดินเยือกแข็ง” หรือ เพอร์มาฟรอสต์ (permafrost) ละลายอย่างต่อเนื่อง

พื้นที่เหล่านี้คือบริเวณที่ทั้งจีนและอินเดียต่างดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวง ทางรถไฟ การขุดเจาะอุโมงค์ การสร้างเขื่อน และสนามบินขึ้นทั้งสองฝั่งของเทือกเขาหิมาลัย

ศาสตราจารย์ อันเดรียส คาบบ์ อาจารย์ด้านภูมิศาสตร์กายภาพและอุทกวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยออสโล ในนอร์เวย์ กล่าวถึงสถานการณ์นี้ว่า “พูดง่าย ๆ ว่าคุณกำลังพาตัวเองเข้าใกล้อันตรายมากขึ้นทุกขณะ”

A view of the damaged Dhauliganga hydropower project at Reni village in Chamoli district after portion of Nanda Devi glacier broke off in Tapovan area of the northern state of Uttarakhand on India, 07 February 2021

Getty Images
การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำในหุบเขาแคบ ๆ ของเทือกเขาหิมาลัยได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ และอาจส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างทั้งโครงการ

ข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า พื้นที่บริเวณ “แนวเส้นแบ่งเขตควบคุมตามความเป็นจริง” (Line of Actual Control หรือ LAC) ซึ่งถือเป็นพรมแดนโดยพฤตินัยระยะทาง 3,500 กม.ที่แบ่งเขตแดนระหว่างจีนและอินเดียนั้น มีความเสี่ยงเกิดภัยพิบัติเพิ่มขึ้น

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Natural Hazards and Earth System Sciences ระบุว่า ช่วงระหว่างเดือน ก.ย.-ต.ค. 2022 ได้เกิดเหตุดินถล่มปิดถนนบางส่วนหรือทั้งหมด 1 จุดในระยะทางทุก 1 กิโลเมตรของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข NH-7 ในรัฐรัฐอุตตราขัณฑ์ ของอินเดีย

งานวิจัยชิ้นอื่น ๆ ก็บ่งชี้ถึงอันตรายลักษณะเดียวกัน โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์โดยสหภาพวิทยาศาสตร์โลกแห่งยุโรป ระบุว่า นอกจากปัจจัยที่เกิดตามธรรมชาติแล้ว การก่อสร้างและขยายถนนก็เป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดเหตุดินถล่มในภูมิภาค ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่ระบบโครงสร้างพื้นฐานและการจราจร

ในช่วงไม่กี่ปีมี่ผ่านมา ได้เกิดเหตุดินถล่มขึ้นบ่อยครั้งในภูมิภาคนี้ เช่น ทางหลวงจารธามที่เพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จในรัฐอุตตราขัณฑ์ได้รับความเสียหายบางส่วนในช่วงฤดูมรสุมเมื่อปีก่อน

นอกจากนี้ มีผู้เสียชีวิตกว่า 200 คน และมีสถานีโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่กำลังก่อสร้าง 2 แห่งได้รับความเสียหายรุนแรงจากเหตุหิมะถล่มในเขตชาโมลีของรัฐอุตตราขัณฑ์

ในระหว่างทำรายงานเรื่องเหตุการณ์ดังกล่าว สำนักจัดการภัยพิบัติแห่งชาติอินเดียพบว่า เจ้าหน้าที่ในเขตชาโมลีไม่ได้รวมปัจจัยความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศและการก่อสร้างไว้ในแผนการรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น

The flood destroyed G318 Sichuan-Tibet Highway on 21th July, 2020 in Nyingchi,Tibet, China

Getty Images
ความเสี่ยงเกิดภัยธรรมชาติในภูมิภาคเทือกเขาหิมาลัยในฝั่งของจีนก็อยู่ในระดับสูงไม่ต่างกัน

บีบีซีได้ติดต่อไปยังกระทรวงสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของอินเดีย เพื่อสอบถามถึงภัยจากการก่อสร้างที่มีต่อภูมิภาคในเทือกเขาหิมาลัย แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนระบุว่า ความเสี่ยงเกิดภัยธรรมชาติในภูมิภาคเทือกเขาหิมาลัยในฝั่งของจีนก็อยู่ในระดับสูงไม่ต่างกัน โดยชั้นดินเยือกแข็งที่กำลังละลายถือเป็นภัยคุกคามรุนแรงต่อระบบโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Communications Earth and Environment เมื่อเดือน ต.ค.ปีก่อน พบว่า ถนนระยะทางเกือบ 9,400 กิโลเมตร, ทางรถไฟ 580 กิโลเมตร, และสายไฟฟ้ากว่า 2,600 กิโลเมตร รวมทั้งสิ่งปลูกสร้างจำนวนมากของจีนที่ตั้งอยู่บนที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบตนั้นสร้างอยู่บนชั้นดินเยือกแข็ง

งานวิจัยชี้ว่า ภายในปี 2050 ถนน 38.14%, ทางรถไฟ 38.76%, สายไฟฟ้า 39.41% และอาคารสิ่งปลูกสร้าง 20.94% ในพื้นที่แถบนี้อาจตกอยู่ในอันตรายจากการละลายของชั้นดินเยือกแข็ง

ขณะเดียวกัน ภูมิประเทศทางภาคตะวันออกของทิเบต ไปจนถึงตอนเหนือของรัฐอรุณาจัลประเทศ และรัฐสิกขิมของอินเดีย ก็เสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเผชิญภัยจากแม่น้ำที่ทะลักออกนอกเส้นทาง แล้วไหลเข้าท่วมระบบโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ

รายงานฉบับหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Cryosphere เมื่อปีก่อน ระบุว่า ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ภูมิภาคนี้ได้รับผลกระทบจากเหตุหิมะและหินถล่ม ธารน้ำแข็งแตกตัว และน้ำจากธารน้ำแข็งไหลเข้าท่วมหลายครั้ง

เมื่อต้นเดือน มี.ค. มีผู้เสียชีวิต 28 รายในเหตุหิมะถล่มครั้งใหญ่ปิดทางออกอุโมงค์แห่งหนึ่งในเขตปกครองตนเองทิเบตของจีน

รายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า ทิเบตเป็นบริเวณที่รัฐบาลจีนมุ่งเข้าไปลงทุนด้านต่าง ๆ เช่น การก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงเสฉวน-ทิเบต

เจ้าหน้าที่จีนระบุว่า เส้นทางรถไฟสายนี้จะพาดผ่านเทือกเขาที่มีหิมะปกคลุม 21 ลูก ซึ่งมีความสูงกว่า 4,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และข้ามแม่น้ำใหญ่ 14 สาย

หัวหน้าวิศวกรจากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีนให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า นอกจากสภาพภูมิประเทศสูงต่ำในเทือกเขาแล้ว เส้นทางรถไฟสายนี้ยังเผชิญกับอันตรายอื่น ๆ เช่น หิมะถล่ม ดินถล่ม และแผ่นดินไหว

A woman sits beside a cracked wall of her house at Joshimath in Chamoli district of India's Uttarakhand state on January 10, 2023.

Getty Images

บรรดาผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การที่ผู้คนเข้าไปตั้งถิ่นฐานเพิ่มขึ้นหลายร้อยแห่งในนครญิงจี หรือ หลินจือ และนครซีกาเจ หรือ รื่อคาเจ๋อ ในทิเบตนั้น ทำให้ต้องมีการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ มากขึ้น เช่น ถนนหนทาง ไฟฟ้า น้ำประปา และการโทรคมนาคม

บีบีซีได้ติดต่อขอให้กระทรวงนิเวศวิทยาจีนแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ

นอกจากการเข้าไปตั้งถิ่นฐานใหม่ของชาวจีนในพื้นที่แถบเทือกเขาหิมาลัยแล้ว ทางฝั่งอินเดีย เช่นบริเวณรัฐอรุณาจัลประเทศ และรัฐสิกขิมก็กำลังมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะน้ำจากการละลายของธารน้ำแข็ง ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัย

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์และความเป็นปรปักษ์ระหว่างอินเดียกับจีน ยิ่งทำให้ชาติมหาอำนาจแห่งเอเชียทั้งสองเร่งดำเนินโครงการพัฒนาต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงโครงการด้านการทหารในพื้นที่พิพาทเรื่องพรมแดนบนเทือกเขาหิมาลัย

ดร. เจฟฟรีย์ คาร์เกล นักธรณีวิทยาชาวอเมริกันที่ศึกษาสถานการณ์ในเทือกเขาหิมาลัยกล่าวว่า “นี่ควรเป็นชีวมณฑลระหว่างประเทศที่ได้รับการสงวนไว้ไม่ให้มีการรบกวนใด ๆ”

“แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในเทือกเขาหิมาลัยในปัจจุบันได้เพิ่มความเสี่ยงการเกิดอันตรายจากภัยพิบัติต่าง ๆ …เราจะได้เห็นภัยพิบัติมากมายเกิดขึ้นที่นี่”

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว