เลือกตั้ง 2566 : เปิดงานวิจัย ประจักษ์ ก้องกีรติ มอง “การเมืองของระบบเลือกตั้ง”

Getty Images

ในระยะเวลาเพียง 2 ทศวรรษ ประเทศไทยเปลี่ยนระบบเลือกตั้งถึง 5 ครั้ง ในจำนวนนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่ 3 ครั้ง ตามการยกร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540, 2550 และ 2560 ซึ่งสะท้อนว่า “สังคมไทยขาดฉันทามติเรื่องกติกาพื้นฐานในการขึ้นสู่อำนาจ” และ “ระบบเลือกตั้งแต่ละระบบยังไม่ตอบโจทย์เรื่องการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย”

ข้อค้นพบดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งจากงานวิจัยของ รศ.ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ซึ่งได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือ “การเมืองของระบบเลือกตั้ง : อำนาจ ความขัดแย้ง และประชาธิปไตย”

เขามุ่งศึกษาเปรียบเทียบระบบเลือกตั้งของไทย เพื่อตอบ 2 คำถามหลักคือ 1. ระบบเลือกตั้งที่ไทยนำมาใช้ตั้งแต่ปี 2540 ถึงปัจจุบัน มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร และส่งผลกระทบต่อระบบการเมืองไทยอย่างไร และ 2. ระบบเลือกตั้งแบบใดเหมาะสมที่สุดกับสังคมไทย

“การขาดกติกาที่ยอมรับร่วมกัน เป็นบ่อเกิดสำคัญของความขัดแย้งอันยืดเยื้อเรื้อรัง” และ “ส่งผลร้ายทั้งต่อประชาธิปไตยและสันติสุขในสังคม” รศ.ดร. ประจักษ์ ระบุ

ท่ามกลางสารพัดข้อถกเถียงและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นภายใต้กฎกติกาใหม่ที่จะใช้จัดการเลือกตั้ง 2566 โดยมีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้คุมกฎ

บีบีซีไทยสรุปสถิติและข้อมูลที่น่าสนใจจากงานวิจัยของอาจารย์ประจักษ์ เพื่อชวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวไทยให้ทดลองมองเบื้องหลังของการออกแบบระบบเลือกตั้ง ก่อนต้องเดินเข้าคูหาเลือกตั้งอีกครั้ง 14 พ.ค. นี้

การเมืองเรื่องการเลือกตั้งจาก 2544-2562

ในรอบ 22 ปีนี้ ไทยมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป 8 ครั้ง โดยมีอยู่ 2 ครั้งที่กลายเป็นโฆฆะ ก่อนจบด้วยรัฐประหารปี 2549 และ 2557

เลือกตั้ง 2544 : เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 โดยเป็นการแข่งขันกันระหว่างพรรคการเมืองเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์ (ปชป.) กับพรรคไทยรักไทย (ทรท.) ที่เพิ่งตั้งใหม่

ผลคือ ทรท. ซึ่งมีอายุเพียง 3 ปี ชนะเลือกตั้งด้วยที่นั่งในสภา 248 ที่นั่ง ทิ้งห่างพรรคอันดับสองอย่าง ปชป. ที่ได้ 128 ที่นั่ง (จาก ส.ส. ทั้งหมด 500 ที่นั่ง) ทั้งนี้มีพรรคการเมืองได้เข้าสภารวม 9 พรรค

ทักษิณ

LIGHTROCKET VIA GETTY IMAGES
ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย เปิดปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งปี 2544 ที่บ้านเกิดใน จ. เชียงใหม่ โดยขอเป็น “นายกฯ ชาวเหนือ”

เลือกตั้ง 2548 : ทรท. ชนะเลือกตั้งถล่มทลาย 377 ที่นั่ง หรือคิดเป็น 75% ของที่นั่งทั้งหมดในสภาล่าง หลังรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร อยู่ครบเทอม 4 ปี โดยถือเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ครบวาระ และยังสร้างประวัติศาสตร์จัดตั้ง “รัฐบาลทักษิณ 2” เป็นรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จ ส่วน ปชป. ได้เพียง 96 ที่นั่ง พรรคชาติไทย (ชท.) ได้ 26 ที่นั่ง และพรรคมหาชน ได้ 3 ที่นั่ง ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เหลือเพียง 4 พรรคที่เข้าสภาได้

เลือกตั้ง 2549 (โมฆะ) : เป็นการเลือกตั้งหลังรัฐบาลทักษิณประกาศยุบสภา เมื่อเผชิญหน้ากับการชุมนุมประท้วงของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่มี ทรท. เป็นพรรคหลักพรรคเดียวในสนามเลือกตั้ง หลังหลายพรรคบอยคอต-งดส่งผู้สมัคร ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ และมีการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ทว่าการเลือกตั้งยังไม่ทันเกิดขึ้น ก็เกิดการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 และนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ที่มาพร้อมกับระบบเลือกตั้งใหม่

เลือกตั้ง 2550 : เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 และอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งขึ้นสู่อำนาจหลังรัฐประหาร 2549 และมีการประกาศกฎอัยการศึกหลายพื้นที่ ทำให้บรรยากาศในการแข่งขันค่อนข้างจำกัด

ผลคือ พรรคพลังประชาชน (พปช. ซึ่งตั้งขึ้นมาหลัง ทรท. ถูกตุลาการรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค) ชนะเลือกตั้ง 233 ที่นั่ง ส่วน ปชป. ได้ไป 165 ที่นั่ง และ ชท. ได้ 37 ที่นั่ง (จาก ส.ส. ทั้งหมด 480 ที่นั่ง) ทั้งนี้มีพรรคการเมืองได้เข้าสภารวม 7 พรรค

เลือกตั้ง 2554 : เป็นการเลือกตั้งหลังรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศยุบสภา ท่ามกลางความขัดแย้งแบ่งขั้วสูงทั้งในและนอกสภา จากเหตุปราบปรามการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553

ผลปรากฏว่า พรรคเพื่อไทย (พท. ซึ่งตั้งขึ้นมาหลัง พปช. ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค) ชนะเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมาก 265 ที่นั่ง ส่วน ปชป. ครองอันดับสองอีกครั้ง 159 ที่นั่ง และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ซึ่งเป็นพรรคตั้งใหม่และสมาชิกส่วนใหญ่มาจาก พปช. เป็นพรรคอันดับสาม ได้ไป 32 ที่นั่ง (จาก ส.ส. ทั้งหมด 500 ที่นั่ง) ทั้งนี้มีพรรคการเมืองได้เข้าสภารวม 11 พรรค

มาร์ค

Getty Images
พรรคประชาธิปัตย์ให้เหตุผลในการเปิดเวทีปราศรัยที่แยกราชประสงค์ก่อนการเลือกตั้ง 3 ก.ค. 2554 ว่าต้องการพูดความจริง และแก้ข้อความใส่ร้ายของ พท. ที่ว่า “นายอภิสิทธิ์สั่งฆ่าประชาชน”

เลือกตั้ง 2562 : เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 และเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายหลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 โดยถือเป็นช่วงที่สังคมไทยว่างเว้นจากกระบวนการเลือกตั้ง 5 ปี ซึ่งยาวนานที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ (ครั้งสุดท้ายคือช่วงระบอบสฤษดิ์-ถนอม) การเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นในบริบทที่สังคมมีความแตกแยกแบ่งขั้วการเมืองสูงโดยเฉพาะในทางอุดมการณ์

“ความขัดแย้งไม่ได้ถูกแก้ไขในเชิงโครงสร้าง เพียงแต่ถูกกดไว้ไม่ให้เผยตัวออกมาได้ด้วยการใช้ความรุนแรงและกลไกทางกฎหมายปิดกั้นการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนตลอดช่วง 5 ปีภายใต้การบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” รศ.ดร. ประจักษ์ บรรยายเอาไว้

การเลือกตั้งหนนี้ มีคนและพรรคลงสู่สนามมากเป็นประวัติการณ์ เป็นผู้สมัคร ส.ส. 13,846 คน จาก 80 พรรคการเมือง โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ พรรคที่สนับสนุนระบอบ คสช., พรรคที่คัดค้านระบอบ คสช. และการสืบทอดอำนาจของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคที่ไม่แสดงจุดยืนชัดเจน

ผลการเลือกตั้งชี้ว่า ไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาด คะแนนที่แต่ละพรรคได้เป็นไปอย่างกระจัดกระจาย พท. และ ปชป. ซึ่งเป็น 2 พรรคหลักที่ครอบงำการเมืองไทยในช่วงหลังปี 2540 มีคะแนนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้การเมืองไทยไม่อยู่ในลักษณะ 2 พรรคอีกต่อไป

พท. ซึ่งชนะเลือกตั้งอันดับหนึ่ง มีที่นั่ง 27% ของสภา ส่วนพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่เพิ่งก่อตั้ง มีคะแนนเป็นอันดับสอง มีที่นั่ง 23.4% ของสภา (ขณะที่การเลือกตั้งปี 2544-2554 พรรคอันดับหนึ่งมีที่นั่งในสภา 48-57%) และมีพรรคการเมืองได้เข้าสภาถึง 27 พรรค แต่มีเพียง 5 พรรคที่มีคะแนนเสียงเกิน 50 ที่นั่ง ได้แก่ พท., พปชร., พรรคอนาคตใหม่ (อนค.), ภท. และ ปชป. ส่วนที่เหลือได้ ส.ส. น้อยกว่า 15 ที่นั่ง และมีถึง 11 พรรคที่มี ส.ส. เพียง 1 ที่นั่ง ซึ่งเป็นผลจากสูตรคำนวณ ส.ส. ปัดเศษของ กกต. ทั้งนี้มีพรรคการเมืองได้เข้าสภารวมทั้งหมด 26 พรรค

การเมืองของการออกแบบระบบเลือกตั้ง

ระบบเลือกตั้งที่ถูกออกแบบไว้ในรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ เป็นไปเพื่อแก้โจทย์ที่สังคมการเมืองไทยต้องเผชิญอยู่ก่อนหน้า

รัฐธรรมนูญ 2540 : มุ่งสร้างพรรคการเมืองเข้มแข็ง/ขจัดมุ้งการเมือง

  • นำระบบเลือกตั้งแบบผสมมาใช้ครั้งแรกในไทย โดยให้มี ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) 100 คน
  • ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คำนวณคะแนนแยกจากกัน
  • การสร้างระบบบัญชีรายชื่อที่ทุกพรรคหาเสียงโดยใช้เบอร์เดียวกันทั้งประเทศ ทำให้เกิดการแข่งขันเชิงนโยบาย และเกิดการสร้างความเป็นสถาบันพรรคการเมือง
บัตรเลือกตั้ง ส.ส.

AFP/Getty Images
คนไทยมีโอกาสเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ครั้งแรกในการเลือกตั้ง 2544

รัฐธรรมนูญ 2550 : มุ่งทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลง/คืนอำนาจต่อรองให้มุ้งการเมือง

  • ยังใช้ระบบเลือกตั้งแบบผสม โดยให้มี ส.ส.เขต 400 คน แต่ละจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อเหลือ 80 คน
  • ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คำนวณคะแนนแยกจากกัน
  • ในส่วนของ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เปลี่ยนจาก เขตเลือกตั้งทั่วประเทศ เป็น เขตเลือกตั้งภูมิภาค เรียกชื่อว่า ระบบสัดส่วน โดยแบ่งประเทศไทยออกเป็น 8 กลุ่มจังหวัด แต่ละกลุ่มมี ส.ส. ได้ 10 คน มุ่งให้เกิดผลลดทอนขอบเขตความนิยมและความเข้มแข็งของพรรคการเมืองในระดับชาติ
  • ในส่วนของ ส.ส.เขต เปลี่ยนจาก เขตเดียวคนเดียว กลับไปใช้ เขตเดียวหลายคน เหมือนระบบเลือกตั้งก่อนยุค 2540 สร้างแรงจูงใจให้เกิดมุ้งการเมืองจำนวนมาก

รัฐธรรมนูญ 2560 : ออกแบบมาเพื่อลงโทษพรรคขนาดใหญ่/ให้โบนัสพรรคขนาดกลาง

  • นำระบบจัดสรรปันส่วนผสมมาใช้ โดยให้มี ส.ส.เขต 350 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อเหลือ 150 คน
  • ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว เลือกได้แค่ ส.ส.เขต แต่นำคะแนนในระบบเขตไปคำนวณเพื่อกำหนดที่นั่ง ส.ส. ทั้งหมดของพรรค และกำหนดจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ด้วย
  • ผลที่เกิดขึ้นคือ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องจำใจเลือกผู้แทนเขตที่ด้อยคุณภาพ เพราะกลัวว่าพรรคที่ตนสนับสนุนจะเสียคะแนน (เพราะคะแนนผูกกัน), การหาเสียงเชิงนโยบายลดลง, การใช้อิทธิพลและเงินมากขึ้น และนำไปสู่รัฐบาลผสมที่อ่อนแอ, เกิดธุรกิจการเมืองในสภาเพื่อ “ซื้อ ส.ส.”
  • พรรคที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากระบบเลือกตั้งนี้คือพรรคขนาดกลาง ที่เน้นหาเสียงในรูปแบบเก่า/แบบเจ้าพ่อท้องถิ่น ซึ่งเหมือน “ได้โบนัส” ขณะที่พรรคขนาดใหญ่คล้าย “ถูกลงโทษ” เพราะยิ่งชนะเลือกตั้งเขตเป็นกอบเป็นกรรม ก็ยิ่งมีโอกาสไม่ได้ผู้แทนฯ แบบบัญชีรายชื่อ
  • มีเพียง 4-5 ประเทศที่เคยทดลองใช้ระบบนี้ และส่วนใหญ่ยกเลิกไปแล้ว เช่น แอลเบเนีย (ปี 2535), เกาหลีใต้ (ปี 2539-2543), เยอรมนี (2492) เนื่องจากสร้างปัญหาหลายอย่าง อาทิ สร้างความสับสนและทำให้คะแนนไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนจากการใช้บัตรใบเดียว, สร้างระบบที่ไม่ยุติธรรมคือ ยิ่งพรรคใดได้ที่นั่งระบบเขตมาก ก็ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อน้อย, ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าประชาชนต้องการเลือกตัวบุคคลหรือพรรค ฯลฯ
CG

BBC

เปรียบเทียบระบบเลือกตั้งจากรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ

ระบบเลือกตั้งที่แตกต่างกันตามรัฐธรรมนูญ 2540, 2550 และ 2560 ทำให้เกิดผลกระทบทั้งที่เหมือนและแตกต่างกันไป เมื่อนำผลลัพธ์ด้านต่าง ๆ ที่ระบบเลือกตั้งก่อให้เกิดขึ้น มาเปรียบเทียบกับเป้าหมายสำคัญของการออกแบบระบบเลือกตั้ง ก็จะเกิดภาพที่ชัดเจน

สำหรับเป้าหมายในการออกแบบระบบเลือกตั้งที่ถูกพูดถึงกันมากมีหลายด้าน บีบีซีไทยขอนำเสนอผลการเปรียบเทียบ 3 ด้าน ได้แก่ ความเป็นสัดส่วนระหว่างคะแนนเสียงกับที่นั่ง, ความเข้มแข็งและเสถียรภาพของรัฐบาล และความง่ายต่อความเข้าใจของผู้ลงคะแนน

ความเป็นสัดส่วนระหว่างคะแนนเสียงกับที่นั่ง หรือหลักความยุติธรรมของคะแนน

การเปรียบเทียบเพื่อดูความไม่เป็นสัดส่วน สามารถดูได้จากคะแนนบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค เพราะสะท้อนความนิยมที่ประชาชนมีต่อพรรคนั้น ๆ แล้วนำมาเทียบกับจำนวนที่นั่งในสภา ก็จะได้คำตอบว่าแต่ละพรรคได้ที่นั่งมากหรือน้อยกว่าสัดส่วนที่พวกเขาได้จากประชาชนทั้งประเทศ นั่นเท่ากับว่า หากพรรคใดยิ่งได้ ส.ส.เขตมาก ค่าความไม่เป็นสัดส่วนก็จะยิ่งมาก

งานวิจัยของ รศ.ดร. ประจักษ์พบว่า ระบบเลือกตั้งที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นสัดส่วนมากที่สุดคือ ระบบเลือกตั้งปี 2540 รองลงมาคือ ระบบเลือกตั้งปี 2550 ขณะที่ระบบเลือกตั้งปี 2560 แม้สร้างให้เกิดความเป็นสัดส่วนมากกว่า แต่ก็ไม่ได้เกิดความเป็นสัดส่วนแท้จริงตามเป้าหมายที่ผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญประกาศไว้

รัฐธรรมนูญ 2540

  • ทรท. ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ในการเลือกตั้ง 2544 ไป 40.64% แต่มีที่นั่งในสภา 49.6% นั่นเท่ากับว่าได้ที่นั่งมากกว่าที่ควรเป็น 8.96% เช่นเดียวกับการเลือกตั้ง 2548 ที่ ทรท. ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ 61.17% แต่มีที่นั่งในสภาถึง 75.4% (เนื่องจากชนะเลือกตั้งแบบเขตไปถึง 310 ที่นั่ง จากทั้งหมด 400 ที่นั่ง) ทำให้มีที่นั่งเกินกว่าคะแนนเสียงที่ได้รับถึง 14.23%
  • ปชป. ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ในการเลือกตั้ง 2544 ไป 26.58% มีที่นั่งในสภา 25.6% ทำให้มีที่นั่งน้อยกว่าที่ควรเป็น 0.98% เช่นเดียวกับการเลือกตั้ง 2548 ที่ ปชป. ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ 23.22% มีที่นั่งในสภา 19.2% ทำให้มีที่นั่งน้อยกว่าที่ควรเป็น 4.02%

รัฐธรรมนูญ 2550

  • พปช. ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ในการเลือกตั้ง 2550 ไป 41.08% แต่มีที่นั่งในสภา 48.54% ทำให้มีนั่งมากกว่าที่ควรเป็น 7.46%
  • ปชป. ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ในการเลือกตั้ง 2550 ไป 40.45% แต่มีที่นั่งในสภาเพียง 34.38% ทำให้มีที่นั่งน้อยกว่าที่ควรเป็น 6.07%
ลุงตู่

Getty Images
แม้ พปชร. เป็นพรรคอันดับสองในการเลือกตั้ง 2562 แต่มีคะแนนมหาชนสูงที่สุด 8.4 ล้านเสียง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะกระแส “เลือกความสงบจบที่ลุงตู่”

รัฐธรรมนูญ 2550 (แก้ไขเพิ่มเติม)

  • มีพรรคที่ได้ที่นั่งเกินสัดส่วนคะแนนของตน 4 พรรคในการเลือกตั้ง 2554 ได้แก่ พท. (เกินสัดส่วนไป 4.59%) , ภท. (เกินสัดส่วนไป 2.86%), ชทพ. (เกินสัดส่วนไป 1.01%) และพลังชล (เกินสัดส่วนไป 0.85%)

รัฐธรรมนูญ 2560

  • แม้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พยายามออกแบบระบบเพื่อให้ “ทุกคะแนนเสียงไม่ตกน้ำ” แต่ผลการเลือกตั้งชี้ให้เห็นว่าไม่ได้บรรลุเป้าหมายเรื่องความเป็นสัดส่วนตามที่ กรธ. ต้องการ เพราะยังมี 12 พรรคได้ที่นั่งเกินสัดส่วนคะแนนที่ได้รับ ถือเป็นจำนวนมากกว่าทุกครั้ง ในจำนวนนี้คือ พท. (เกินสัดส่วนไป 5.04% แม้ไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว) ส่วนที่เหลือเป็นพรรคเล็ก/พรรคจิ๋ว (มีที่นั่งเกินสัดส่วนไปตั้งแต่ 0.02-0.1%)

รศ.ดร. ประจักษ์ชี้ว่า ปัญหาหลักของความไม่ยุติธรรมของคะแนนในระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม เกิดจากการกำหนดให้จำนวนที่นั่งในระบบเขตเป็นสัดส่วนมากกว่าระบบบัญชีรายชื่อมาก โดยอยู่ที่ 70:30 ทำให้ไม่มีที่นั่งปาร์ตี้ลิสต์มากพอที่จะชดเชยให้ทุกพรรคอย่างเหมาะสม อีกทั้งยังให้พรรคที่มีที่นั่งเกินสัดส่วน เก็บที่นั่งส่วนเกินเอาไว้ได้ แต่ไม่ได้กำหนดให้ชดเชยที่นั่งส่วนเกินให้พรรคอื่น

ความเข้มแข็งและเสถียรภาพของรัฐบาล

ระบบเลือกตั้งผสมแบบคู่ขนานที่ใช้ในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ทำให้รัฐบาลผสมมีจำนวนพรรคการเมืองน้อยลง โดยรัฐบาล ทรท. และพรรคทายาท มีจำนวนพรรคร่วมรัฐบาล 6 พรรค มีสัดส่วนที่นั่งในสภารวมกันตั้งแต่ 60-73.6% (ยกเว้นรัฐบาลทักษิณ 2 ที่ตั้งรัฐบาลพรรคเดียว คุมเสียง 75.3% ของสภาล่าง)

ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2560 ก่อให้เกิด “รัฐบาลผสมเสียงปริ่มน้ำ” ที่ประกอบด้วยพรรคการเมืองจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ถึง 20 พรรค แต่มีเสียงในสภาเพียง 50.8% เท่านั้น

บัตรเสีย

Getty Images
ในการเลือกตั้ง 2562 มีบัตรเสีย 2.1 ล้านใบ

ความง่ายต่อความเข้าใจของผู้ลงคะแนน

หนึ่งในตัวชี้วัดว่าระบบเลือกตั้งมีความง่ายหรือยากต่อความเข้าใจของผู้ลงคะแนน หนีไม่พ้น จำนวนบัตรเสีย ซึ่งมักมีจำนวนมากขึ้นภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้ง

เมื่อพิจารณาข้อมูลในช่วง 2 ทศวรรษ พบว่า การเลือกตั้งที่ประชาชนกาบัตรเสียมากที่สุดคือ การเลือกตั้ง 2544 ซึ่งนำระบบผสมคู่ขนานมาใช้เป็นครั้งแรก โดยมีบัตรเสียถึง 3.7 ล้านใบ (คิดเป็น 6.25%) แต่เมื่อใช้ระบบนี้จัดการเลือกตั้งหนที่สองในปี 2548 ยอดบัตรเสียลดลงเหลือ 2.8 ล้านใบ (คิดเป็น 4.44%)

ส่วนการเลือกตั้งที่มีจำนวนบัตรเสียมากเป็นอันดับสองคือ การเลือกตั้ง 2562 ที่นำระบบจัดสรรปันส่วนผสมมาใช้เป็นครั้งแรก และเปลี่ยนแปลงบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ที่ใช้เลือกตั้งมา 18 ปี จนคนไทยคุ้นเคย ก็หดเหลือใบเดียว ทำให้ยอดบัตรเสียไปอยู่ที่ 2.1 ล้านใบ (คิดเป็น 5.58%)

อย่างไรก็ตามผู้วิจัยเห็นว่า ระบบเลือกตั้งแต่ละระบบไม่ได้ทำให้เกิดบัตรเสียมากและน้อยอย่างมีนัยสำคัญ แต่การเปลี่ยนระบบเลือกตั้งถี่เกินไป อาจทำให้ประชาชนสับสนในการลงคะแนนได้

line

BBC

หมายเหตุ : งานวิจัยของ รศ.ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ เสร็จสิ้นก่อนที่รัฐสภาจะมีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งกลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และเพิ่มจำนวน ส.ส.เขตเป็น 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว