เปิดเส้นทางชีวิต 2 ขั้วการเมือง “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” ผู้ร้องเรียน กกต. ปม “พิธา” ถือหุ้น ITV

นับตั้งแต่ปี 2549 ชื่อของ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ปรากฏในพาดหัวข่าวเป็นระยะ แต่ที่น่าสนใจคือ ชีวิตบนเส้นทางการเมืองของทนายความคนนี้ โลดแล่นไปมาบนอุดมการณ์สองขั้วทางการเมืองตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา

ไม่นานมานี้ เขากลายเป็นข่าวอีกครั้ง หลังเข้ายื่นหนังสือต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ขอให้ตรวจสอบว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล ว่า เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่

เขาอ้างว่า ตรวจสอบพบว่า นายพิธาถือหุ้นใน บมจ. ไอทีวี (ITV) และระบุอีกว่า บริษัทดังกล่าวยังคงดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน โดยตามการจดแจ้งกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า เป็นบริษัททึ่ประกอบธุรกิจสื่อ

ประเด็นนี้ ทำให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหลากหลาย ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของนายเรืองไกร ในห้วงเวลาโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 พ.ค. นี้

บีบีซีไทยรวบรวมเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับนายเรืองไกร บน 20 ปีเส้นทางการเมืองสองขั้วความคิด ที่ปัจจุบันสังคมมองว่า เป็นขั้วเสรีนิยมประชาธิปไตย และอนุรักษนิยม

เคยเป็นที่ปรึกษา ผู้ว่าฯ สตง. ที่ยื่นตรวจสอบทรัพย์สินนายเก่า

ก่อนเข้าสู่แวดวงทางการเมือง นายเรืองไกร จบการศึกษาปริญญาตรีด้านบัญชี จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และปริญญาโทสาขาเดียวกัน จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แต่ที่ทำให้ชื่อของเขากลายเป็นที่สนใจของสังคม รวมถึงทำให้คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ชักชวนไปทำงานด้วย คือ เหตุการณ์เมื่อช่วงปี 2549 ที่กรมสรรพากรได้คืนเช็คให้แก่เขา แต่ทนายรายนี้ไม่ได้นำไปขึ้นเงิน เพื่อใช้เป็นกรณีเปรียบเทียบกับกรณีที่ตระกูลชินวัตรขายหุ้นกลุ่มชินคอร์ปให้แก่กลุ่มเทมาเส็กของสิงคโปร์ เมื่อ 23 ม.ค. 2549 โดยไม่เสียภาษี

พนักงาน บมจ. ไอทีวี ร่ำไห้ขณะที่รับฟังประกาศคำสั่งให้ยุติกิจการ จากรัฐบาลที่ถูกแต่งตั้งขึ้นหลังรัฐประหารปี 2549 โดยระบุว่า ไอทีวีก็ไม่สามารถจ่ายค่าสัมปทานและชดใช้ค่าเสียหายได้ทันกำหนดเวลา

Getty Images/ พนักงาน บมจ. ไอทีวี ร่ำไห้ขณะที่รับฟังประกาศคำสั่งให้ยุติกิจการ จากรัฐบาลที่ถูกแต่งตั้งขึ้นหลังรัฐประหารปี 2549 โดยอ้างว่า ไอทีวี ไม่สามารถจ่ายค่าสัมปทานและชดใช้ค่าเสียหายได้ทันกำหนดเวลา

 

ในครั้งนั้น นายเรืองไกรได้ซื้อหุ้น บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ ต่อจากบิดาในราคา 10 บาท จากราคาตลาด 21 บาท จึงต้องเสียภาษี แต่กรณีของตระกูลชินวัตรกลับไม่ต้องเสียภาษี

นายเรืองไกรยังได้ยื่นฟ้องร้อง เรื่องการที่กรมสรรพากรกระทำการนี้แบบสองมาตรฐานอีกด้วย จนกลายเป็นกระแสสังคม กดดันกรมสรรพากรต้องรีบคืนเงินให้กับนายเรืองไกรโดยเร็ว

ผลงานดังกล่าวยังเข้าตาคุณหญิงจารุวรรณ นายเรืองไกรจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของเธอ

ต่อมาเขาได้รับการแต่งตั้งเป็น ส.ว. สรรหา ภายหลังรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 โดยคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) นำโดย พล.อ. สนธิ บุญรัตกลิน และมีบทบาทในการทำหน้าที่ร่วมกับกลุ่มที่สื่อมวชนขนานนามว่า “กลุ่ม 40 ส.ว.”

สื่อหลายสำนักมองว่าเรืองไกรเป็น “เด็กปั้น” ของคุณหญิงจารุวรรณ ในขณะที่เธอดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่ตั้งโดย คมช. เช่นกันเพื่อตรวจสอบการทุจริตสมัยรัฐบาลทักษิณ

ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองมาถึงจุดพลิกผัน เมื่อคุณหญิงจารุวรรณ อายุครบ 65 ปี ซึ่งตามกฎหมายต้องสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ สตง. แต่เธออ้างโดยอาศัยอำนาจตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 29 เพื่อยังคงปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้ตรวจการแผ่นดิน ชี้ว่า เธอต้องพ้นจากตำแหน่ง แล้วต่อมา นายเรืองไกร ออกมาทำหนังสือถึงประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2553 ขอให้ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของ คุณหญิงจารุวรรณ หลังพ้นตำแหน่งไปแล้วด้วย

ฉายา “แจ็คผู้ฆ่ายักษ์”

บทบาทที่ทำให้สังคมจดจำชื่อของนายเรืองไกรได้ มาจากการที่เขาเป็นนักตรวจสอบและ “นักร้องเรียน” บุคคลสำคัญทางการเมือง หนึ่งในนั้นคือ การตรวจสอบนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จากรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ในปี 2551

นายเรืองไกรได้ยื่นคำร้องให้ตรวจสอบนายสมัคร กรณีจัดรายการโทรทัศน์” ชิมไป บ่นไป” และรับค่าตอบแทน ว่าเข้าข่ายกระทำการขัดรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 267 ในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่

ต่อมาในเดือน ก.ย. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายสมัครพ้นจากตำแหน่ง

นายสมัคร สุนทรเวช

Getty Images / นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลพรรคพลังประชาชน พ้นจากตำแหน่งตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ “คดีผัดกับข้าว”

 

ทว่า สองปีต่อมา นายเรืองไกรกลับทำให้สังคมประหลาดใจอีกครั้ง เพราะในปี 2553 เขาปรากฏตัวตามเวทีต่าง ๆ ของกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนของนายทักษิณ ชินวัตร

หลังจาก น.ส. ยิงลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยุบสภาในวันที่ 9 ธ.ค. 2556 เพื่อเดินทางสู่การเลือกตั้ง ยังปรากฎว่า ชื่อของนายเรืองไกร เป็นหนึ่งในผู้สมัคร ส.ส.รายบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 41 ของพรรคเพื่อไทยอีกด้วย แต่ยังไม่มีโอกาสเข้าสภา เพราะการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 กลายเป็นโมฆะตามคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ

“ผมเลือกมาทางนี้ (พรรคเพื่อไทย) เพราะเขาไม่ติดใจเรื่องที่เคยทำคุณสมัครออกจากตำแหน่ง แต่ถ้าไปทางโน้น (พรรคประชาธิปัตย์) เขาก็อาจจะติดใจผมที่เคยร่วมเวทีเสื้อแดง ผมจึงมาสมัครเป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทย เพราะพรรคเพื่อไทยไม่มีอคติ ยึดกติกา ไม่เจ้าคิดเจ้าแค้น” เขาให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจวันที่ 6 มิ.ย. 2564

เปลี่ยนขั้วอำนาจ

การกลับมาอยู่ในพรรคการเมือง ที่ครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นชนวนเหตุแห่งการยุบพรรคย่อมมีแรงเสียดทานอยู่บ้าง และหลังจากการเลือกตั้งในปี 2557 เป็นโมฆะไป เขาก็วางมือทางการเมืองไป 5 ปีก่อนจะกลับมาพรรคเพื่อไทย ในยุคที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นประธานยุทธศาสตร์พรรค

แต่ด้วยเหตุผลทางการเมืองภายในพรรค เมื่อขั้วอำนาจเปลี่ยนไปเป็นกลุ่มของนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรค ก็ทำให้เขาตกที่นั่งลำบาก

เหตุการณ์ที่ทำให้เขาจำต้องลาออกจากพรรคเพื่อไทยทันที คือ การที่เขาถูกปลดกลางอากาศ ระหว่างการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการงบประมาณปี 2564 โดยมีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ลูกชายของหัวหน้าพรรค เข้าดำรงตำแหน่งแทน

แม้เขาจะไม่ได้เป็น กมธ. งบประมาณดังกล่าวในโควตาของพรรคเพื่อไทยแล้ว แต่เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอนุกรรมาธิการงบประมาณ ปี 2564 ภายใต้โควตาของพรรคเสรีรวมไทย ที่มี พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นหัวหน้าพรรค

นายเรืองไกร กลายเป็นที่จับตาอีกครั้ง เมื่อชื่อของเขาปรากฏในรายชื่อของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฯ ในสัดส่วนของพรรคพลังประชารัฐ แม้ว่าก่อนหน้านั้น เขาเองจะเคยร้องต่อ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบพระเครื่องของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมทั้งร้องตรวจสอบกรณี “แหวนแม่ นาฬิกายืมเพื่อน” ของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ และการครอบครองรถจักรยานราคาแพง ของ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ว่า มีในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. หรือไม่

ปม “พิธา” ถือหุ้นสื่อ ไม่ใช่กรณีแรก

ในการทำหน้าที่นักร้องเรียนและนักตรวจสอบของนายเรืองไกรต่อการถือหุ้นสื่อกรณีล่าสุด กับการถือหุ้น จำนวน 42,000 หุ้น ใน บมจ. ไอทีวี ซึ่งถูกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ไปแล้ว และอยู่ในสถานะคงสภาพจากเหตุแห่งคดีข้อพิพาทกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) อยู่นั้นไม่ใช่กรณีแรก

เมื่อเดือน มิ.ย. 2562 ในครั้งที่เขาเป็นอดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ เขาได้ยื่นหนังสือต่อ กกต. ขอให้ตรวจสอบสมาชิกภาพของ 21 สมาชิกวุฒิสภา ให้เป็นการสิ้นสุด เนื่องจากเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขอให้รีบส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และสั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ ของ 21 สมาชิกวุฒิสภาในทันที

หนึ่งในจำนวนนั้นคือ นายวันชัย สอนศิริ จาก บริษัท แคล นู ไฮเรอร์ จำกัด ซึ่งต่อมานายวันชัยได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า จะดำเนินการฟ้องกลับทั้งทางแพ่งและอาญา นายเรืองไกร โดยยืนยันว่า ก่อนเข้ารับตำแหน่งได้มีการตรวจสอบคุณสมบัติของตัวเองครบถ้วนแล้ว

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว