รู้จัก “นิวรัลลิงก์” บริษัทพัฒนาชิปฝังสมองของอีลอน มัสก์ หลัง อย. สหรัฐฯ อนุมัติให้ทดลองในคน

Reuters
Reuters

“นิวรัลลิงก์” บริษัทพัฒนาชิปฝังสมองของอีลอน มัสก์ ออกมาเปิดเผยเมื่อ 26 พ.ค. ว่า ได้รับอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) เพื่อทำการทดลองวิจัยในมนุษย์แล้ว

ชิปของนิวรัลลิงค์ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยฟื้นฟูการมองเห็นของมนุษย์ รวมทั้งสั่งการการเคลื่อนไหวของร่างกายที่เชื่อมโยงระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์

อย่างไรก็ตาม ในการที่ อย.สหรัฐฯ อนุญาตดังกล่าว บริษัทนิวรัลลิงก์ ยังไม่ได้ระบุว่าจะเปิดรับสมัครคัดเลือกผู้เข้าร่วมทดสอบเมื่อใด

ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ที่อ้างแหล่งข้อมูลจากอดีตลูกจ้างของนิวรัลลิงค์หลายราย ระบุว่า การเสนอขออนุมัติจาก อย. สหรัฐฯ ของนิวรัลลิงค์ ถูกปฏิเสธมาแล้วหนึ่งครั้ง เนื่องด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

ชิปฝังสมองของนิวรัลลิงก์ทำงานอย่างไร

นิวรัลลิงก์ ตั้งความหวังว่าการฝังชิปขนาดเล็กในสมองในการรักษาช่วยผู้ป่วยอัมพาต ตลอดจนผู้พิการทางการมองเห็น และช่วยเหลือผู้พิการผ่านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีชนิดเคลื่อนที่

ชิปที่ใช้ฝังสมองที่ผ่านการทดลองในลิงมาแล้ว ถูกออกแบบให้ทำหน้าที่ตีความสัญญาณที่ส่งจากสมอง ก่อนถ่ายทอดข้อมูลไปยังอุปกรณ์ผ่านสัญญาณบลูทูธ

Advertisment

ผู้เชี่ยวชาญได้ออกมาเตือนว่า การฝังชิปในสมองดังกล่าว จำเป็นต้องมีการทดสอบเพิ่มเติมอีกขั้น ไม่ว่าจะเป็นทางเทคนิค และเป็นไปตามจริยธรรมการทดสอบวิจัยในมนุษย์ หากจะมีการนำมาใช้กับมนุษย์เป็นวงกว้าง

ก่อนหน้านี้อีลอน มัสก์ ระบุว่าเป้าหมายของการพัฒนาเทคโนโลยีชิปเชื่อมโยงสมองมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ อาจช่วยบรรเทาความกังวลว่าปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาทดแทนมนุษย์

Advertisment

ขั้นตอนต่อไปในการทดสอบฝังชิปในสมองคน

คำแถลงจากนิวรัลลิงก์ผ่านบัญชีทวิตเตอร์ ได้กล่าวถึง “ก้าวแรกที่สำคัญ” ซึ่งการอนุมัติให้ทดสอบในมนุษย์จะช่วยให้เทคโนโลยีของบริษัทสามารถช่วยเหลือผู้คนได้มากมาย และการอนุมัติจาก อย. สหรัฐฯ ยังเป็นผลจากการทำงานอย่างหนักของทีมนิวรัลลิงค์ร่วมกับ อย. สหรัฐฯ

บริษัทนิวรัลลิงก์ ยืนยันว่าจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมเร็วๆ นี้ เกี่ยวกับแผนการรับสมัครผู้เข้าร่วมการทดลอง พร้อมยืนยันถึง หลักการความปลอดภัย การเข้าถึงข้อมูลและความน่าเชื่อถือ ว่าเป็นภารกิจสำหรับสำหรับกระบวนการทางวิศวกรรมของการพัฒนาชิปดังกล่าว

อีลอน มัสก์ ซึ่งเป็นผู้บริหารบริษัทพัฒนาเทคโนโลยีหลายแขนง ก่อตั้งนิวรัลลิงก์ขึ้นเมื่อปี 2016 โดยทุนส่วนตัวของเขา โดยที่ผ่านมาได้ถูกจับตามองถึงความล่าช้าของการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว

แผนการก่อนหน้านี้ นิวรัลลิงก์ประกาศว่าจะเริ่มฝังชิปใส่สมองมนุษย์ในปี 2020 ก่อนเลื่อนมาในปี 2022

บริษัทยังประสบปัญหาในช่วงปลายปีที่แล้ว จากการถูกสอบสวนข้อกล่าวหาว่าละเมิดสวัสดิการสัตว์จากการพัฒนาดังกล่าว ซึ่งทางนิวรัลลิงก์ได้ออกมาปฏิเสธ

การประกาศความคืบหน้าว่า อย.สหรัฐฯ รับรองการทดสอบในมนุษย์ เกิดขึ้นหลังจากมีข่าวความก้าวหน้าของการทดลองเกี่ยวกับการปลูกถ่ายสมองมนุษย์ของนักวิจัยชาวสวิตเซอร์แลนด์ ที่ผ่าตัดปลูกถ่ายสมองอิเล็กทรอนิกส์ให้ชายชาวเนเธอร์แลนด์วัย 40 ปี ซึ่งเป็นอัมพาตจากอุบัติเหตุ ทำให้เขากลับมาเดินได้อีกครั้งเพียงแค่ใช้การคิด โดยถือว่าเป็นความสำเร็จจากการผ่าตัดปลูกถ่ายสมองอิเล็กทรอนิกส์ครั้งแรกในวงการแพทย์

ย้อนดูการก่อตั้ง

มัสก์ เปิดตัวนิวรัลลิงก์ขึ้นเพื่อคิดค้นพัฒนาวิทยาการที่เชื่อมต่อสมองคนเข้ากับคอมพิวเตอร์ ซึ่งเขาบอกว่าในอนาคตจะช่วยในการเพิ่มความจำหรือเสริมความสามารถแบบปัญญาประดิษฐ์ให้กับสมองของมนุษย์

นิวรัลลิงก์จดทะเบียนในฐานะบริษัทวิจัยทางการแพทย์ที่รัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อเดือน ก.ค. 2016 โดยมีนักวิทยาศาสตร์ระดับแนวหน้าจากสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงหลายคนได้ตกลงเข้าทำงานที่บริษัทแห่งนี้

นิวรัลลิงก์จะมุ่งพัฒนาแนวคิดที่เรียกกันว่า “สายเชื่อมประสาท” (Neural lace) ให้เป็นจริงขึ้นมา โดยอาจพัฒนาเทคโนโลยีการฝังขั้วไฟฟ้าในสมอง เพื่อเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ดิจิทัลให้คนเราสามารถดาวน์โหลดข้อมูลความคิดต่าง ๆ ได้โดยไม่จำกัด

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว