รถไฟไทย-จีน : หวัง อี้ เข้าพบประยุทธ์ ผลักดันโครงการรถไฟให้เสร็จตามกำหนด ประกาศฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมร่วมกัน

เมื่อ 14 นาทีที่ผ่านมา

นายหวัง อี้ เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ที่มาของภาพ, สำนักนายกรัฐมนตรี

นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 5 ก.ค.

พล.อ.ประยุทธ์ แสดงความยินดีกับวาระครบรอบหนึ่งทศวรรษของความเป็น “หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” ในปีนี้ โดยระบุว่ารัฐบาลไทยพร้อมร่วมมือกับรัฐบาลจีนเพื่อพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนไปสู่ทศวรรษหน้า โดยระหว่างที่นายหวัง อี้ พบหารือกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จีนและไทยได้เห็นพ้องกับหลักการต่อแนวคิดที่จะตั้งเป้าหมายพัฒนาความสัมพันธ์เพื่อปูทางสู่ 50 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2568 (ค.ศ. 2025)

นายหวัง อี้ เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ที่มาของภาพ, สำนักนายก

ด้านนายหวัง อี้ กล่าวว่าเป็นเกียรติที่ได้เดินทางเยือนไทย มิตรประเทศที่สำคัญในภูมิภาค พร้อมชื่นชมการบริหารประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ ในการรักษาเสถียรภาพทางสังคม อีกทั้งส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และจัดการความท้าทายเรื่องโควิด-19 ได้อย่างดี ซึ่งจีนเชื่อมั่นว่า นายกรัฐมนตรีจะพัฒนาประเทศไทยได้ดีขึ้นต่อไป

ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า ความสัมพันธ์ไทยจีนที่พัฒนาไปด้วยดีไม่เคยเปลี่ยนแปลง เป็นเพราะประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และพล.อ.ประยุทธ์มีความเข้าใจต่อกัน ในปีนี้ครบ 10 ปี “หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” ไทยและจีนจะต้องวางแผนร่วมกันถึงความร่วมมือในอนาคต ร่วมกันสร้างประชาคมเพื่อ ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ร่วมกัน

ความร่วมมือทวิภาคี

ทั้งสองฝ่ายได้หารือเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมร่วมกันภายหลังสถานการณ์โควิด – 19 ดังนี้ ด้านการค้า นายกรัฐมนตรียินดีกับมูลค่าการค้าระหว่างกัน ปีนี้ช่วงเดือนมกราคม – เมษายน การค้าขยายตัวกว่าร้อยละ 20 เป็นสัญญาณที่ดีของเศรษฐกิจทั้งสองประเทศ

ไทยแสดงความขอบคุณจีนที่ตอบสนองต่อข้อเสนอของไทยในการอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าเกษตร ซึ่งสินค้าเกษตรเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 จากไทยไปจีน และได้เสนอให้จีนพิจารณาเร่งรัดการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการนำเข้าผลไม้ในด้านอื่น ๆ ของฝั่งจีน

นายหวัง อี้ เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ที่มาของภาพ, สำนักนายกรัฐมนตรี

ด้านการลงทุน ไทยได้เชิญชวนให้จีนพิจารณาเพิ่มการลงทุนในไทย ด้วยศักยภาพจากจุดยุทธศาสตร์ของไทย การเป็นจุดเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ของภูมิภาค โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่พร้อมรองรับการลงทุนในสาขาอุตสาหกรรมที่บริษัทของจีนมีศักยภาพและความเชี่ยวชาญ อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมการเกษตร

การส่งเสริมความเชื่อมโยง จีนได้ให้ความสำคัญกับความเชื่อมโยงโครงการรถไฟจีน-ลาวกับระบบรางของไทย โดยเชื่อมั่นว่าจะสนับสนุนความเป็นพลวัตด้านความสัมพันธ์ การขนสินค้า และการท่องเที่ยว ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ยืนยันว่า ไทยมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินโครงการรถไฟไทย-จีนอย่างเต็มที่เพื่อให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด

ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะไปติดตามปัญหาที่ติดขัดเพื่อประโยชน์ร่วมกันของประชาชนในภูมิภาค โดยจีนเสนอให้จัดการประชุมสามฝ่ายเพื่อให้เกิดความคืบหน้าโดยเร็ว

ในตอนท้าย พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวกับมนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนว่า “ฉีซินเฉียลี่ ชื่อชื่อชุ่นลี่” (Qixin xieli shishi shunli) ซึ่งแปลว่า ร่วมแรงใจเป็นหนึ่งเดียว เรื่องต่าง ๆ ก็จะราบรื่น หากร่วมมือกันแม้แต่ขุนเขาก็สามารถเคลื่อนได้

นายหวัง อี้ เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ที่มาของภาพ, สำนักนายกรัฐมนตรี

ความเป็นมาโครงการรถไฟ ไทย-จีน

เว็บไซต์ของกระทรวงคมนาคมระบุว่า รัฐบาลไทยและจีนได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ ภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 เมื่อ19 ธ.ค. 2557 ในโอกาสเฉลิมฉลองการครบรอบ 40 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างทั้งสองประเทศ

รัฐบาลไทยตกลงให้รัฐบาลจีนเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินการตาม “กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565” โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐาน (Standard Gauge) เส้นทางหนองคาย-โคราช- แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด (ประมาณ 734 กิโลเมตร) และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ (ประมาณ 133 กิโลเมตร) ซึ่งเป็นโครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐานโครงการแรกของไทย โดยทั้งสองฝ่ายจะใช้ความร่วมมือในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาลในการดำเนินโครงการความร่วมมือดังกล่าว

ในเบื้องต้น ฝ่ายจีนจะรับผิดชอบการก่อสร้างและพัฒนาระบบรถไฟและจะมีการหารือการสนับสนุนเงินลงทุนและการชำระเงินลงทุนกันต่อไป ในเวลาต่อมา ในการประชุมหารือทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยกับนายกรัฐมนตรีจีนเมื่อ 23 มี.ค. 2559 ได้ข้อยุติในหลักการว่า ไทยจะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างเอง โดยจ้างจีนเป็นผู้ก่อสร้างโดยไม่มีการให้สัมปทานหรือร่วมทุนใดกับประเทศจีน รวมทั้งเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินงานจากรถไฟความเร็วปานกลางเป็นรถไฟความเร็วสูงที่ 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยฝ่ายจีนได้ดำเนินการปรับปรุงการออกแบบใหม่

ซึ่งต่อมาทั้งสองฝ่ายได้ลงนาม “กรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาล แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการกระชับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2565” เมื่อ 24 ส.ค. 2559 เพื่อใช้เป็นแนวทางการดำเนินความร่วมมือโครงการรถไฟระหว่างสองฝ่ายต่อไป

15 ม.ค. ปีนี้ ฐานเศรษฐกิจ รายงานข่าว โครงการรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา 253 กิโลเมตร (กม.) 14 สัญญา มูลค่า 179,000 ล้านบาท ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 ในปี 2565 มีผลงานคืบหน้าเพียง3.53%หรือการก่อสร้างแล้วเสร็จ 3.5 กม. ในส่วนของสัญญาที่1-1สถานีกลางดง-ปางอโศก ซึ่งเป็นส่วนที่กรมทางหลวงดำเนินการนับตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเริ่มงานก่อสร้างโครงการสัญญาที่ 1-1 สถานีกลางดง-ปางอโศก 3.5 กม. โดยมอบกรมทางหลวง (ทล.) ก่อสร้างคันทางเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม2560

ผ่านไปไม่กี่เดือน 9 พ.ค. ปีนี้ ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า โครงการรถไฟ ไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ก้าวเข้าสู่ปีที่ 8 แล้ว นับจากวันที่มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ เมื่อ 19 ธ.ค. 2557 โดยการก่อสร้างทางรถไฟ ระบบควบคุมการเดินรถ และขบวนรถไฟ ใช้เทคโนโลยีรถไฟของจีนทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการ ได้พยายามแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้ รถไฟความเร็วสูงสายแรกของประเทศ เปิดให้บริการได้ตามเป้าหมายในปี 2569

การก่อสร้างงานโยธาระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา จำนวน 14 สัญญา เริ่มต้นคิกออฟสัญญา 1-1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2560 โดยมีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นผู้ก่อสร้าง ใช้เวลากว่า 2 ปี 6 เดือนการก่อสร้างจึงแล้วเสร็จ

ส่วนอีก 13 สัญญานั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง 9 สัญญา เซ็นสัญญาแล้วเตรียมก่อสร้าง 1 สัญญา และมี 2 สัญญาที่ยังไม่ได้ลงนาม ขณะที่เหลือสัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. เพียงสัญญาเดียวที่ยังไม่ได้ประกวดราคา เนื่องจากมีแนวเส้นทางทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่มีกลุ่ม ซี.พี.ผู้รับสัมปทาน จะเป็นผู้ก่อสร้างโครงสร้างร่วม แต่ยังต้องรอให้การเจรจาแก้ไขสัญญา รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินได้ข้อสรุปก่อน

โดยภาพรวมการก่อสร้างเดือน มี.ค. 2565 มีความคืบหน้า 4.62% ส่วนแผนงานกำหนดที่ 8.64% เท่ากับมีความล่าช้า 4.02%

รายงานของผู้จัดการออนไลน์ระบุว่า ปัญหาอุปสรรคที่ทำให้การก่อสร้างรถไฟไทย-จีนล่าช้า และงานโยธายังไม่เริ่มต้นถึง 4 สัญญานั้น มีผลกระทบทำให้การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐบาลต้องหลุดเป้า งานระบบดีเลย์กว่า 1 ปีจากพิษโควิด-19 มีความเป็นไปได้สูงที่อาจจะทำให้ต้องขยับไทม์ไลน์การเปิดให้บริการเฟสแรก กรุงเทพ-นครราชสีมา จากปี 2569 ออกไปอีกแน่นอน