ศรีลังกา : เมื่อมวลชนลุกฮือโค่นอำนาจผู้นำ เป็นบทเรียนต่อไทยหรือไม่

ประชาชนเดินเข้าออกทำเนียบประธานาธิบดีศรีลังกา ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก กระโดดเล่นน้ำในสระคลายร้อน จนเหมือนที่พำนักของผู้ปกครองประเทศกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวไปแล้ว แต่ในสายตาของนักวิชาการ ที่เฝ้าจับตาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในศรีลังกาเป็น “บทเรียนสำคัญ” ต่อผู้บริหารประเทศ ทั้งไทย และหลายประเทศในเอเชีย

นับแต่ผู้ประท้วงบุกทำเนียบประธานาธิบดีศรีลังกาของโกตาบายา ราชปักษา ในกรุงโคลัมโบ ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จนถึง 11 ก.ค. พวกเขายังไม่ไปไหน อีกทั้งประชาชนทั่วไปยังถือโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมอย่างคึกคัก แม้รัฐบาลยืนกรานว่า ปธน.ราชปักษา จะลาออกแน่นอนในวันที่ 13 ก.ค.

ชาวศรีลังกาบุกทำเนียบประธานาธิบดี

ที่มาของภาพ, Reuters

สาเหตุที่ชาวศรีลังกาลุกฮือบุกทำเนียบประธานาธิบดี-วางเพลิงเผาบ้านพักนายกฯ เพื่อเรียกร้องให้ปธน.ราชปักษา และนายกฯ รานิล วิกรมสิงเห ลาออกรับผิดชอบต่อการบริหารประเทศที่ผิดพลาด จนศรีลังกาจมดิ่งในวิกฤตเศรษฐกิจเลวร้ายที่สุดในรอบ 70 ปี นับแต่ได้รับเอกราช

ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู ผู้อำนวยการวิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า และอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองพลังมวลชนที่โค่นผู้นำในศรีลังกาเป็น “บทเรียนถึงผู้บริหารประเทศ…ถ้ารู้ตัวเองไม่มีความสามารถ ก็ควรยอมปล่อยอำนาจให้รัฐบาลที่มีศักยภาพ”

พร้อมมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในศรีลังกา แม้ตระกูล “ราชปักษา” จะขึ้นสู่อำนาจอย่างถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย แต่ “พวกเขาชะล่าใจเกินไป…ปลื้มที่เขาเป็นฮีโร่ที่จัดการกับกบฎทมิฬ แต่ก็ต้องแยกแยะ เราเหมาไม่ได้ว่า ประชาชนจะสนับสนุนเราได้ทุกเรื่อง โดยเฉพาะเมื่อมีปัญหาปากท้อง”

Current Sri Lankan President Gotabaya Rajapaksa (right) and his brother, former Prime Minister and President Mahinda Rajapaksa, in 2018

ที่มาของภาพ, Getty Images

ชาวศรีลังกา “เคย” มองตระกูลราชปักษาเป็น “ฮีโร่” จากชัยชนะใน สงครามกลางเมืองเหนือขบวนการแบ่งแยกดินแดนพยัคฆ์ทมิฬอีแลม เมื่อปี 2009 ภายใต้การนำของมหินทา ราชปักษา ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในสมัยนั้น

การเมืองแบบครอบครัว-พวกพ้อง…ไม่ยั่งยืน ?

ถ้าลองไปดูตำแหน่งสำคัญ ๆ ในรัฐบาลมหินทา ราชปักษา ช่วงก่อนเกิดวิกฤตจลาจล ที่มาจากความไม่พอใจของประชาชนต่อปัญหาเงินเฟ้อ-ข้าวยากหมากแพง จะเห็นว่านามสกุล “ราชปักษา” ครองตำแหน่งสำคัญทั้งสิ้น ไม่ว่าจะประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา, นายกฯ มหินทา ราชปักษา, ลูกชาย 2 คนของมหินทา ก็เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่สำนักนายกฯ และรัฐมนตรีกีฬา เป็นต้น แต่หลังเหตุจลาจล ก็ลาออกไปเกือบทุกคน

bbc

ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ชี้ว่า รัฐบาลที่มองแต่พวกพ้อง-วงศาคณาญาติ ไม่มีวันจะยั่งยืนได้ ยิ่งเป็นรัฐบาลที่ไร้ศักยภาพในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ “แล้วเอาพรรคพวกมาบริหารประเทศ ก็ยิ่งเติมเชื้อเพลิงความไม่พอใจของประชาชน”

“ผมก็ไม่เข้าใจนะว่า บรรดาผู้มีอำนาจทั้งหลาย ตัวเองก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร ทำไมไม่เปิดทางให้ผู้บริหารที่มีความสามารถมากกว่า มาบริหารประเทศ”

“คนเรา (ผู้นำ) ควรมีความสามารถในการยอมรับข้อจำกัดของตัวเอง” ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ กล่าวกับบีบีซีไทย โดยไม่ได้ระบุว่าพูดถึงผู้นำประเทศใดเป็นพิเศษ

ทำไมต้องดึงเกมถึงช่วงเข้าพรรษา

แม้นายกฯ ศรีลังกาจะประกาศลาออก ส่วน ปธน.ราชปักษา ก็เตรียมลงจากตำแหน่งในวันที่ 13 ก.ค. แต่ ผศ.ดร.จิรายุทธ์ สินธุพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์เอเชียใต้ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ในรายการ “เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand” ว่า การเปลี่ยนผ่านจะยังไม่เกิดในเร็ว ๆ นี้ ตอนนี้ ศรีลังกาอยู่ในภาวะ “สูญญากาศทางการเมือง”

ส่วนเหตุผลที่ ปธน.ราชปักษา ไม่ลาออกในทันที เนื่องจากต้องการจัดการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองให้เรียบร้อยก่อน เพราะตอนนี้ ศรีลังกากำลังเจรจากับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ เรื่องหนี้สินมหาศาลของประเทศ

อีกทั้ง วันที่ 13 ก.ค. ก็เป็นวันเข้าพรรษาด้วย ซึ่งประเทศที่นับถือศาสนาพุทธเป็นหลักอย่างศรีลังกา ถือเป็นการเริ่มต้นวันหยุดยาว จึงมองว่า “เป็นการซื้อเวลา เพื่อคิดหาทางออก การประท้วงและบุกทำเนียบประธานาธิบดี มันฉับพลันมาก” และ “เรายังไม่รู้ว่าตัวประธานาธิบดีราชปักษาไปอยู่ที่ไหน”

“ถ้าเป็นไทยนะ ทหารออกมาแล้ว”

“ในสถานการณ์อย่างนี้ ในสูญญากาศทางการเมืองอย่างนี้ ถ้าเป็นประเทศไทยนะ ทหารออกแล้ว” ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ ผู้ดำเนินรายการ “เจาะลึกทั่วไป Inside Thailand” ตั้งข้อสังเกตกลางรายการเมื่อ 11 ก.ค.

แต่ ผศ.ดร.จิรายุทธ์ มองว่า ตามประวัติศาสตร์กองทัพของศรีลังกา ทหารไม่ค่อยเคลื่อนไหวในสถานการณ์ลักษณะนี้ แต่ก็เตือนว่า สถานการณ์การเมืองโลกตอนนี้ “คาดเดาอะไรไม่ได้”

กองทัพศรีลังกายังไม่เข้ามาแทรกแซงสถานการณ์

ที่มาของภาพ, EPA

ประเด็นนี้ ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ชี้ว่า ถ้าการยึดอำนาจ (ของกองทัพ) นำมาซึ่งความเจริญทางเศรษฐกิจได้ “ประเทศที่ทำเช่นนี้คงพัฒนาก้าวหน้าไปมากแล้ว” และมองว่าการวางตัวของทหารศรีลังกาในเวลานี้ถือว่าเหมาะสม เพราะ “ทหารไม่ควรฝักใฝ่ฝ่ายใด”

ส่วนผู้กระทำผิดก็ให้เป็นไปตามบริบทของกฎหมาย พร้อมยกตัวอย่าง ผู้ประท้วงบุกอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งยังคงเป็นคดีความอยู่ในปัจจุบัน, การประท้วงขับไล่อดีตประธานาธิบดีปาร์ก กึน-ฮเย ของเกาหลีใต้ และการประท้วงประปรายในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสังคมอุดมสันติ กองทัพก็ไม่ได้ออกมาแทรกแซง

“ทหารมีหน้าที่ป้องกันประเทศ ปล่อยให้พลเมืองแก้ปัญหาในหมู่พลเมืองด้วยกัน ตามกระบวนการประชาธิปไตย”

ราชันเทนนิสยังรู้จักถอนตัว…ผู้นำก็ควรรู้เวลาวางมือ

“ผมชอบ ราฟาเอล นาดาล ที่ถอนตัวจากการแข่งขัน รอบเซมิไฟนอล” ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ กล่าวถึงข่าวใหญ่ในวงการกีฬา ที่เกิดขึ้นในศึกเทนนิสวิมเบิลดัน เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยเปรียบเทียบทัศนคติของนาดาล ตอนให้เหตุผลว่า “ความสุขสำคัญกว่าตำแหน่ง” และ “เขาอยากเคารพตัวเอง” เพราะการไปแข่งขันในสภาพที่ไม่สมบูรณ์ ไม่เพียงไม่เคารพต่อตัวเอง แต่ยังไม่ให้เกียรติผู้ชม ที่อยากชมเกมการแข่งขันที่ผู้เล่นทุกคนเล่นอย่างเต็มที่

“มันก็เหมือนเรื่องอำนาจ ถ้าปล่อยอำนาจไป ผมเชื่อว่าพวกเขาไม่อดตายหรอก โดยเฉพาะเมื่อรู้ว่าตัวเองไม่อยู่ในสภาพจะบริหารประเทศได้”

นอนบนเตียงผู้นำในบ้านประธานาธิบดี

ที่มาของภาพ, Reuters

ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ยังชี้ถึงความงดงามของระบอบประชาธิปไตยที่สะท้อนออกมาจากสิ่งที่เกิดขึ้นในศรีลังกาว่า แม้จะได้อำนาจมาโดยชอบธรรม แต่หากทำหน้าที่ได้ไม่เป็นที่พึงพอใจ หรือก่อให้เกิดปัญหาต่อประเทศชาติ “ประชาชนก็ต้องมีโอกาสตัดสิน…ได้แก้ไขความผิดพลาดของตนเองที่เลือกคนผิดขึ้นมา” แต่อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ยืนกรานว่า ไม่ได้สนับสนุนการใช้ความรุนแรง หรือภาพการจลาจลเหมือนที่เกิดขึ้นกับการบุกทำเนียบประธานาธิบดีศรีลังกา และวางเพลิงเผาบ้านพักนายกฯ

และยิ่งเป็น “ผู้นำที่ได้อำนาจมาอย่างไม่ถูกต้อง” “ไม่ได้มาจากฉันทามติของประชาชน” “เคยสัญญาว่าจะอยู่ในอำนาจไม่นาน” แต่ “ยังอยู่ถึงทุกวันนี้ และอยากอยู่ต่อไป” ทั้งที่ผลงานที่ผ่านมา ไม่ได้แก้ปัญหาสำคัญของประเทศได้

ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ พยายามทำความเข้าใจแนวคิดของ “ผู้นำ” ลักษณะนี้ว่า “เขาอาจคิดว่า อยู่ ๆ ไปมันก็จะดีขึ้น ประเทศขาดเขาไม่ได้…ถ้าไม่มีเราแล้ว ชาติจะเจอปัญหามากกว่านี้” ซึ่งถือเป็นทัศนคติขอผู้นำที่หลงไหลในอำนาจ แต่ยิ่งนานวันไป กลับยิ่งเจอแต่ปัญหา และตัวเองก็มีศักยภาพไม่พอจะแก้ไขได้

พร้อมใช้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในศรีลังกาเวลานี้ เป็นข้อเตือนใจโดยไม่ระบุประเทศว่า แม้จะเป็นรัฐบุรุษผู้ยุติความขัดแย้ง การปกครองใต้ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งอย่างชอบธรรม หรือไม่ชอบธรรม แต่ถ้าบริหารประเทศได้ไม่ดี

“ประชาชนก็ระเบิดความไม่พอใจได้…อย่างที่ศรีลังกาได้ระเบิดออกมาแล้ว”

…………..

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว