รัฐประหารเมียนมา : อดีต ส.ส. + 3 นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ถูกประหารแล้ว

นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย 4 รายถูกรัฐบาลทหารเมียนมาประหารชีวิต ซึ่งเชื่อได้ว่านี่เป็นการใช้บทลงโทษประหารชีวิตครั้งแรกของเมียนมาในรอบหลายทศวรรษ

นายเพียว เซยาร์ ตอ อดีตสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) นายก่อ จิมมี นักเขียนและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง นายฮลา มโย อัง และนายอัง ตูรา ซอว ถูกกล่าวหาว่ากระทำการ “ก่อการร้าย”

คำตัดสินประหารชีวิต โดยรัฐบาลทหารเมียนมา ประกาศเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา หลังเกิดการทำรัฐประหารเมื่อ ก.พ. 2021 เรียกเสียงประณามจากนานาชาติ

Kyaw Min Yu, one of the leaders of the 88 Generation Students Group, talks to reporters during the group's press conference in Yangon, Myanmar January 21, 2012.

ที่มาของภาพ, Reuters

รัฐบาลเผด็จการทหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยที่นำโดยพรรคเอ็นแอลดี ของนางออง ซาน ซู จี เมื่อเดือนก.พ. ปีที่แล้ว ทำให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ไปทั่วเมียนมาซึ่งต่อมาถูกสลายอย่างรวดเร็ว

“รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติแห่งเมียนมาร์” (National Unity Government: NUG) รัฐบาลเงาเมียนมา ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านการทำรัฐประหาร ประณามการสังหารโดยกล่าวว่าพวกเขา “ตกใจและเสียใจอย่างยิ่ง”

รัฐบาลเงาดังกล่าวประกอบไปด้วยบุคคลที่สนับสนุนประชาธิปไตย ผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ และสมาชิกของพรรคเอ็นแอลดี พวกเขาเรียกร้องให้ประชาคมโลก “ลงโทษรัฐบาลทหารที่สังหารคนในประเทศอย่างเหี้ยมโหด”

Global News Light of Myanmar สื่อของทางการเมียนมารายงานว่าชายทั้ง 4 คน ถูกประหารชีวิตเนื่องจากพวกเขา “ออกคำสั่งให้ จัดเตรียมและสมรู้ร่วมคิดในการกระทำการก่อการร้ายที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรม”

National League for Democracy party (NLD) leader Aung San Suu Kyi and Member of Parliament Thaw leave after attending a lower house of parliament meeting at Naypyitaw

ที่มาของภาพ, Reuters

กระบอกเสียงของรัฐให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าพวกเขาถูกตั้งข้อหาภายใต้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย แต่ไม่ได้บอกว่าพวกเขาถูกประหารชีวิตเมื่อใดหรืออย่างไร

การประหารชีวิตในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1988 ตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ การประหารชีวิตในอดีตของเมียนมากระทำโดยการแขวนคอ

สมาชิกในครอบครัวของชายทั้ง 4 รออยู่ที่เรือนจำอินเส่งในนครย่างกุ้ง เพื่อซักถามเจ้าหน้าที่ ตามรายงานของบีบีซีเมียนมา โดยน้องสาวของก่อ จิมมี บอกกับบีบีซีว่าพวกเขายังไม่ได้รับศพ

สำรักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า นางธาซิน ยุ่น อัง ภรรยาของนายเพียว กล่าวว่าเธอไม่ได้รับแจ้งเกี่ยวกับการประหารชีวิตสามีของเธอ ในขณะนี้ ครอบครัวของนักเคลื่อนไหวที่ถูกประหารชีวิต ได้ส่งเอกสารเข้าไปเพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับการประหารชีวิต

ชายทั้ง 4 คนถูกตัดสินประหารชีวิตในเดือน ม.ค. ภายหลังการพิจารณาคดีแบบปิดที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ยุติธรรมและไม่โปร่งใส นายเพียว เซยาร์ ตอ และนายจ่อ มิน ยู ซึ่งเป็นที่รู้จักในหมู่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองว่า “ก่อ จิมมี” ถูกยกคำร้องอุทธรณ์การลงโทษในเดือน มิ.ย.

ในปี 2021 กองทัพของประเทศเข้ายึดอำนาจ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่จุดชนวนให้เกิดการประท้วงในวงกว้าง กระตุ้นให้กองทัพออกมาปราบปรามผู้ประท้วงที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย นักเคลื่อนไหว และนักข่าว

“ตกใจและเสียใจ”

ข่าวการสังหารดังกล่าวได้ถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากกลุ่มต่อต้านและองค์กรสิทธิมนุษยชน

“ผมโกรธเคืองและเสียใจกับข่าวการประหารชีวิตผู้รักชาติเมียนมา และผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของรัฐบาลทหารในเมียนมา” ทอม แอนดรูวส์ ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติในเมียนมากล่าว “การกระทำที่เลวทรามเหล่านี้จะต้องเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับประชาคมนานาประเทศ”

รัฐบาลเงา คือ “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของเมียนมา” กล่าวว่าพวกเขา “ตกใจและเสียใจอย่างยิ่ง” จากการประหารดังกล่าว

Myanmar political prisoner Kyaw Min Yu (C), known as Jimmy, and his wife Ni Lar Thein (L) holding her child, both members of the 88 Generation student group, celebrate upon their arrival at Yangon international airport following their release from detention on January 13, 2012.

ที่มาของภาพ, Getty Images

ผู้ถูกกล่าวหาคือใคร

ก่อ จิมมี่ วัย 53 ปี เป็นนักต่อสู้ใน “กลุ่มนักศึกษารุ่น 88” (88 Generation Students Group) ซึ่งเป็นขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยของเมียนมาซึ่งเป็นที่รู้จักจากการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารของประเทศในการชุมนุมต่อต้านของกลุ่มนักศึกษาในปี 1988

เขากับภรรยา นิลาร์ เต็ง นักเคลื่อนไหวที่ต่อสู้เคียงคู่กับเขา ถือได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย

เมื่อพระสงฆ์นำการประท้วงต่อต้านระบอบการปกครองในปี 2007 ก่อ จิมมี่และภรรยาของเขาได้ระดมนักเคลื่อนไหวและผู้ประท้วงจากการประท้วงในปี 1988 เพื่อเข้าร่วม

เขาถูกคุมขังหลายครั้งในเรือนจำเนื่องจากการมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ก่อนที่จะได้รับการปล่อยตัวในปี 2012

เขาถูกจับกุมเมื่อเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว หลังจากถูกกล่าวหาว่า ซุกซ่อนอาวุธและกระสุนปืนที่อพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งในย่างกุ้ง และเป็น “ที่ปรึกษา” ของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ

เพียว เซยาร์ ตอ อายุ 41 ปี เป็นอดีตสมาชิกพรรคเอ็นแอลดี และเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดของ ออง ซาน ซู จี

ก่อ จิมมี่ อดีตศิลปินฮิปฮอป มักจะทำให้รัฐบาลทหารโกรธเคืองจากเนื้อเพลงต่อต้านทหาร เขาถูกจับกุมในเดือน พ.ย. เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในคดีต่อต้านการก่อการร้าย

ส่วนนักเคลื่อนไหวอีกสองคนคือ นายฮลา มโย อัง และนายอัง ตูรา ซอว ซึ่งไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ถูกตัดสินประหารชีวิตในข้อหาฆ่าสตรีคนหนึ่งซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้แจ้งข่าวให้รัฐบาลทหาร

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ เรียกการตัดสินใจของกองทัพในการประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวทั้ง 4 ว่า “เป็นการละเมิดสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงของบุคคลอย่างโจ่งแจ้ง”

รัฐบาลทหารได้เพิ่มการปราบปรามกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองผู้เห็นต่าง และผู้ที่ถูกมองว่ามีความรู้สึกต่อต้านรัฐประหาร นับตั้งแต่ที่พวกเขายึดอำนาจเมื่อปีที่แล้ว

พวกเขาอ้างว่าผลการเลือกตั้งทั่วไปที่พรรคการเมืองของ ซู จี ชนะการเลือกตั้งแบบ “แลนด์สไลด์” นั้นเป็นผลมาจากการโกงการเลือกตั้ง แต่เจ้าหน้าที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ออกมาปฏิเสธ โดยระบุว่าไม่มีหลักฐานใด ๆ ระบุว่ามีการโกงการเลือกตั้งเกิดขึ้น

นับตั้งแต่การทำรัฐประหาร ซู จี ถูกกักบริเวณในบ้านของเธอ และยัดเยียดด้วยข้อกล่าวหาต่าง ๆ ตั้งแต่การทุจริตไปจนถึงการละเมิดกฎหมายความลับทางการของประเทศ ซึ่งอาจทำให้เธอได้รับโทษจำคุกสูงสุด 150 ปี

สมาคมช่วยเหลือผู้ต้องขังทางการเมือง (The Assistance Association for Political Prisoners: AAPP) ซึ่งเก็บรวบรวมสถิติจำนวนผู้เสียชีวิต ถูกจำคุก หรือควบคุมตัวโดยทหาร ระบุว่า มีผู้ถูกจับกุม 14,847 คน นับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร และมีผู้เสียชีวิตจากกองกำลังทหารประมาณ 2,114 คน