ภาษีรถไฟฟ้า : รัฐบาลลดอะไรบ้าง ชนิดไหน มีผลเมื่อไร

 

หัวชาร์จรถไฟฟ้า

ที่มาของภาพ, Getty Images

คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในแนวนโยบายสนับสนุนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเมื่อ 26 ก.ค.

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่าที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ลดภาษีประจำปีสำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว ตาม กม. ว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ลดอัตราภาษีประจำปี สำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวที่จดทะเบียน ระหว่าง 1 ต.ค. 2565 ถึง 30 ก.ย. 2568 ลง 80 % ของอัตราที่กำหนดตามอัตราภาษีประจำปีท้าย พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 (แก้ไขเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ. รถยนต์ (ฉ. 14) พ.ศ. 2550) เป็นระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียน

ตัวอย่างเช่น รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ขนาดใหญ่สุด (น้ำหนัก 7,001 กก. ขึ้นไป) เดิมเคยเก็บที่ 3,600 บาท ปรับลงมาเหลือ 720 บาท

นอกจากนี้ยังให้มีการยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับรถยนต์นั่ง, รถยนต์โดยสาร ที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน, รถยนต์กระบะ แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (BEV) ที่ประกอบหรือผลิตในเขตปลอดอากร ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรหรือเขตประกอบการเสรีตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ร่างประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ จนถึง 31 ธ.ค. 68

ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนด เช่น ให้นับมูลค่าของเซลล์แบตเตอรี่จากต่างประเทศ สำหรับการนำมาผลิตเป็นแบตเตอรี่ และนำไปผลิตหรือประกอบเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ในเขตปลอดอากร (Free Zone) หรือเขตประกอบการเสรี รวมเป็นต้นทุนการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศสำหรับการคำนวณมูลค่าเพิ่ม ในประเทศได้ไม่เกิน 15% ของราคายานยนต์ไฟฟ้า (BEV) หน้าโรงงาน

อีกทั้งการยกเว้นอากรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ดังกล่าว ต้องมีผลรวมของมูลค่าวัตถุดิบ ที่ได้ถิ่นกำเนิดในประเทศไทย มูลค่าวัตถุดิบที่ได้ถิ่นกำเนิดจากประเทศสมาชิกอาเซียน มูลค่าของเซลล์แบตเตอรี่ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ต้นทุนค่าแรง ต้นทุนการผลิตอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยเพื่อให้ได้มาซึ่งของนั้น และกำไรไม่น้อยกว่า 40% ของราคาหน้าโรงงาน โดยผู้ขอใช้สิทธิต้องเป็นผู้ประกอบการในเขตปลอดอากร ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรหรือเขตประกอบการเสรีตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

นายธนกร คาดการณ์ว่าการยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (BEV) ที่ประกอบหรือผลิตในเขตปลอดอากรหรือในเขตประกอบการเสรี ในปี 2565 – 2568 จะทำให้มีการสูญเสียรายได้ประมาณ 36,128 ล้านบาท และอาจจะเพิ่มสูงขึ้นตามปริมาณความต้องการภายในประเทศ

อย่างไรก็ดี นายธนกร เสริมว่า การสูญเสียรายภาษีได้ดังกล่าวไม่ใช้ปัญหาใหญ่เนื่องจาก จำนวนภาษีของรถที่เสียภาษีประจำปี 2565 ถึงปี 2568 (รถทุกประเภท) ที่กรมการขนส่งทางบกจัดเก็บได้จะมีรายได้ประมาณการในปี 2568 จำนวน 34,000 ล้านบาท ดังนั้นการสูญเสียรายได้จากการลดอัตราภาษีประจำปีสำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวจึงคิดเป็นจำนวนเพียง 0.05% เท่านั้น

โดยมาตรการนี้ถือเป็นการส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และปริมาณ PM 2.5 ในอากาศ ตลอดจนช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ

มติครั้งก่อน

ในมติครม. เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา รัฐบาลได้เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) รวมถึงแนวทางในการลดภาษีทั้งอาการขาเข้า ภาษีสรรพสามิต และให้เงินอุดหนุนไปแล้ว โดย ครม. อนุมัติกรอบวง 3,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์

สำหรับมติ ครม.ครั้งนั้น รัฐบาลอนุมัติ:

  • เงินอุดหนุนรถยนต์และรถกระบะคันละ 70,000-150,000 บาทต่อคัน และรถจักรยานยนต์ 18,000 บาทต่อคัน
  • ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์จาก 8% เป็น 2% และรถกระบะเป็น 0%
  • ลดอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศและนำเข้าทั้งคัน (CBU) สูงสุด 40% สำหรับรถยนต์ถึงปี 2566
  • ยกเว้นอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตในประเทศ (CKD) จำนวน 9 รายการ

…..

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว