จีน-ไต้หวัน : สถานการณ์ช่องแคบไต้หวันถึงจุดยากเกินบรรเทา หลังเพโลซีเดินทางเยือน

  • บทวิเคราะห์โดย สตีเฟน แม็กโดเนลล์
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซี ประจำกรุงปักกิ่ง
ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ พบกับประธานาธิบดีไต้หวัน วันที่ 3 ส.ค.

ที่มาของภาพ, Taiwan Presidential Office/Handout via REUTERS

ความตึงเครียดสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน ระหว่างจีนและไต้หวัน ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจถึงจุดยากเกินจะบรรเทา โดยเฉพาะหลังการเดินทางเยือนไต้หวันของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ

สตีเฟน แม็กโดเนลล์ ผู้สื่อข่าวบีบีซี ประจำกรุงปักกิ่งวิเคราะห์ถึงการเดินทางเยือนไต้หวันของนางเพโลซี ซึ่งถือเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนแรกของสหรัฐฯ ที่เดินทางเยือนไต้หวันในรอบ 25 ปี ก่อให้เกิดคำถามว่า เมื่อมีครั้งแรกก็ต้องมีครั้งต่อไป อนาคตอาจมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงสหรัฐฯ เดินทางไปไต้หวันมากขึ้น

แต่ในขณะเดียวกัน การประกาศซ้อมรบใหญ่ด้วยกระสุนจริงของจีน ที่เกิดขึ้นหลังนางเพโลซีเดินทางถึงไม่ถึง 24 ชั่วโมง ก็นำมาสู่คำถามว่า การซ้อมรบระดับนี้ใกล้ไต้หวัน ก็อาจจะเกิดขึ้นอีกได้กัน

Advertisment

และเมื่อจีนซ้อมรบใหญ่ระดับนี้ เครื่องบินรบที่บินเข้าใกล้ไต้หวัน จนถึงจุดที่ล่วงล้ำเข้าน่านฟ้าแสดงตนทางการทหาร เครื่องบินอาจยิ่งบินเข้าใกล้มากขึ้น และมีจำนวนเครื่องบินรบเพิ่มขึ้นด้วย เพราะสถานการณ์ระหว่างจีนและไต้หวันได้เข้าสู่สถานะที่เรียกได้ว่า “ความปกติใหม่”

หรือถ้าจีนไม่ซ้อมรบบ่อยขึ้น ส่งเครื่องบินรบเข้าใกล้ไต้หวันมากขึ้น หรือบ่อยขึ้น ก็ต้องจับตาว่าจีนจะส่งสัญญาณแบบไหนต่อไต้หวัน สหรัฐฯ และทั่วโลก

เมื่อไม่นานมานี้ แผนการของจีนต่อไต้หวัน คือการเข้าหาในระดับประชาชน เห็นได้จากคนรุ่นใหม่จากจีนแผ่นดินใหญ่เดินทางท่องเที่ยวแบบสะพายเป้ไปทั่วเกาะไต้หวันที่จีนมองว่าเป็นมณฑลหนึ่งของจีนที่แยกออกมา ขณะที่ธุรกิจจากไต้หวันก็ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วจีน

แต่เมื่อเข้าสู่ยุคของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ยุทธศาสตร์ของจีนเริ่มเปลี่ยนเป็นแนวทางทางการทหาร ด้วยการกดดันไต้หวันมากขึ้น แม้จะยังไม่ถึงระดับการปะทะหรือสู้รบก็ตาม

Advertisment
Nancy Pelosi in pink suit walking down stairs off aeroplane

ที่มาของภาพ, Reuters

ถ้ามองยุทธศาสตร์ของจีนที่เน้นการแสดงแสนยานุภาพทางทหารกับไต้หวันมากขึ้นแล้ว การเดินทางเยือนไต้หวันของนางเพโลซี อันที่จริง อาจเป็นพัฒนาการที่กลุ่มชนชั้นนำในจีนบางส่วนอาจยินดีแบบลับ ๆ เพราะเป็นข้ออ้างในอุดมคติ เพื่อยกระดับการซ้อมรบในน่านน้ำรอบไต้หวัน เตรียมความพร้อมสำหรับวันเผด็จศึกในอนาคตที่จีนจะยึดเกาะไต้หวันกลับมาเป็นของจีนแผ่นดินใหญ่ด้วยกำลัง

เกมเสแสร้งครั้งใหญ่

ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำกรุงปักกิ่ง มองว่า ความท้าทายสูงสุดต่อความมั่นคงในภูมิภาค จริง ๆ แล้ว อาจเป็นจุดยืนของไต้หวันในความรับรู้ของประชาคมโลกนั้นแปลกประหลาด เหมือน “เกมเสแสร้งครั้งใหญ่” ที่เริ่มเสแสร้งยากขึ้นเรื่อย ๆ

เกมนี้เล่นอย่างไร เริ่มจาก จีนแสร้งบอกว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของอธิปไตยจีน ทั้งที่ไต้หวันเก็บภาษีประชาชนของตนเอง ลงคะแนนเลือกรัฐบาลของตนเอง ออกหนังสือเดินทางให้ประชาชนเอง รวมถึงมีกองทัพเป็นของตนเอง

ส่วนสหรัฐฯ ก็เสแสร้งว่า ไม่ได้ปฏิบัติกับไต้หวันในฐานะประเทศเอกราช ทั้งที่จำหน่ายอาวุธขั้นสูง รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงเดินทางเยือนอยู่เป็นเนือง ๆ และเป็นการเดินทางเยือนที่ดูเหมือนเป็นทางการ

แม็กโดเนลล์มองว่า เกมเสแสร้งนี้มีเป้าหมายเพื่อคงสถานะปัจจุบันของความตึงเครียดจีน-ไต้หวัน แต่มันก็เป็นเกมที่เปราะบางมากเสียจนพังทลายลงมาได้ไม่ยาก และภัยคุกคามต่อโลกอยู่ตรงที่รัฐบาลจีนต้องการให้เกมนี้พังทลายลง

Chinese President Xi Jinping

ที่มาของภาพ, Getty Images

หลายทศวรรษมาแล้วที่สื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีนพยายามผลิตซ้ำวาทกรรมที่คล้ายคลึงกันต่อประเด็นไต้หวัน แต่ปัจจุบัน แนวคิดเรื่องสงครามเพื่อช่วงชิงไต้หวันกลับมา มีความรู้สึกว่ากำลังใกล้จะเกิดขึ้น แต่ยังไม่ใช่ตอนนี้

แม็กโดเนลล์มองว่า คนหลายคนที่คุยด้วยเริ่มคิดว่าประธานาธิบดีสีต้องการยึดคืนไต้หวันกลับมาในระหว่างที่เขายังดำรงตำแหน่ง เพื่อยกสถานะเขาสู่ผู้นำแห่งความเป็นนิรันดร์ ผู้รวมมาตุภูมิจีนให้กลับมาดังเดิม

ปัจจุบัน ประธานาธิบดีสีคุมบังเหียนการเมืองในฮ่องกงได้แล้วเกือบเบ็ดเสร็จ จากที่เคยเป็นประเด็นปวดหัวของรัฐบาลจีนจากการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ของประชาชนในฮ่องกงบางส่วน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เมื่อไม่กี่ปีก่อน

ทั้งนี้ การที่สี จิ้นผิง จะเข้าสู่วาระประธานาธิบดีสมัยที่ 3 ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า อันที่จริง ได้ช่วยลดแรงกดดันลงเล็กน้อย เพราะนั่นหมายถึงเขายังปกครองจีนได้อีกยาวนานเท่าที่ต้องการ ไม่เหมือนสมัยประธานเหมา เจ๋อตุง และประธานาธิบดีคนก่อน ๆ ที่ดำรงตำแหน่งได้จำกัดแค่ 2 สมัย นั่นหมายความว่า สีไม่จำเป็นต้องเร่งรีบโจมตีเกาะไต้หวันในเร็ว ๆ นี้

แต่ไม่ช้าก็เร็ว การใช้กำลังทางทหารของจีนจะต้องเกิดขึ้น และแต่ละวันที่ผ่านไป สันติภาพก็ยิ่งเลือนหายจากไต้หวันมากขึ้นเรื่อย ๆ

Speaker of the U.S. House Of Representatives Nancy Pelosi (D-CA), centre, arrives at the Legislative Yuan, Taiwan's house of parliament

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำถามต่อมา คือ แล้วคนจีนต้องการให้เกิดสงครามจริงหรือ โดยโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลจีน ซึ่งออกแบบมาเพื่อระดมการสนับสนุนจากมหาชนต่อการใช้กำลังทางทหารเพื่อควบคุมไต้หวัน เผยแพร่และผลิตซ้ำฉากทัศน์ของการสู้รบว่าจะคล้ายเหมือนยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 เท่านั้น หรือพูดง่าย ๆ คือใครมีกำลังทหารมากกว่าคือผู้ชนะ

แต่ชาวจีนจำนวนไม่น้อย ได้เห็นถึงฉากทัศน์ของสงครามยุคใหม่ที่ไม่ใช่เพียงแสนยานุภาพทางการทหาร แต่รวมถึงอาวุธทางเศรษฐกิจ จากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย แม้ว่าสื่อของรัฐบาลจีนจะพยายามปิดกั้นเนื้อหาอย่างมาก ซึ่งก็ทำให้คนจีนตระหนักว่า การสู้รบจะนำไปสู่การนองเลือดได้มากแค่ไหน กระทบหนักต่อเศรษฐกิจเพียงใด ทั้งนี้ ก็ต้องยอมรับว่า ชาตินิยมก็เป็นทั้งเครื่องมือและม่านบังตาต่อข้อเท็จจริงเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

แม็กโดเนลล์ มองว่า ถ้าจีนโจมตีไต้หวัน จะต้องดำเนินการยกพลขึ้นบกครั้งใหญ่ ผ่านช่องแคบที่คลื่นลมมรสุมรุมเร้า จากนั้นต้องขุดสนามเพลาะยิงสู้รบกับศัตรูที่ต่อสู้เพื่ออิสรภาพของตนเอง แต่สงครามเช่นนี้อาจยาวนาน จนทำให้จีนต้องถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลก เพื่อลงโทษต่อการรุกรานไต้หวัน จนส่งผลกระทบหนักต่อเศรษฐกิจ ที่มีขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก

และถึงแม้กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนจะชนะ จีนก็ต้องปกครองประชาชนหลายล้านคนของไต้หวัน ที่มีทัศนคติต่อต้านรัฐบาลจีน ซึ่งเป็นสิ่งที่จีนเองก็ตระหนักดีหากใช้กำลังยึดไต้หวันจริง ๆ

……….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว