ข้าวอิโต ข้าวญี่ปุ่นร้อยใจรักษ์ ปลูกด้วยใจกลับใจเกษตรกรปกาเกอะญอ

นับจากปี 2565 เป็นต้นไป โครงการพัฒนาดอยตุง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ จะขยับจากธุรกิจเพื่อสังคมไปอีกก้าว เพื่อก้าวขึ้นสู่ปีที่ 51 ขยับขึ้นวางแผนสู่การเป็นองค์กรร้อยปี มุ่งจับมือกับธุรกิจเอกชนและพันธมิตรเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรในพื้นที่ดอยสูง

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เล่าถึงเป้าหมายและแรงขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคม ในยุคที่สังคมเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงว่า “จากนี้ไปจะปรับตัวเองไปทำงานกับบริษัทเอกชน ทั้งไทยและต่างประเทศมากขึ้น โดยใช้ความแข็งแกร่งขององค์กรในเรื่องของการสร้างความยั่งยืนที่มีมากว่า 30 ปี มาเป็นจุดนำทางทำธุรกิจที่ทำให้โลกนี้ดีขึ้น”

นอกจากนี้ จะพัฒนากลุ่มสินค้าเกษตรให้เป็นสินค้าที่มีผลผลิตให้ราคาสูง (high yield) และคุณภาพระดับพรีเมี่ยมมากขึ้น เช่น กาแฟ มูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ทั้งเรื่องของพืชเศรษฐกิจที่โครงการเคยส่งเสริมให้ปลูก ทั้งพัฒนาพันธุ์กาแฟ เช่น กาแฟ ดอยตุง จี ซีรีส์, ดับเบิลยู ซีรีส์ และทำตลาดร่วมกับบริษัทเอกชน กลุ่มตลาดรีเทล ให้มากขึ้น ที่ก่อนหน้านี้ได้ร่วมกับการบินไทย ซีพี รีเทลลิงค์ มาแล้ว

“ขณะนี้ดอยตุงอยู่ระหว่างทดลองแปลงปลูกวานิลลา เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ได้มีรายได้จากการปลูกพืชเศรษฐกิจใหม่ที่มีมูลค่าสูงมากขึ้น เพราะความต้องการฝักวานิลลาเพิ่มขึ้นทั่วโลก จากการเติบโตของธุรกิจที่รองรับไลฟ์สไตล์ของคนยุคปัจจุบัน ทั้งธุรกิจเครื่องสำอาง ร้านกาแฟ เบเกอรี่ หรือร้านอาหารระดับพรีเมี่ยม ที่เน้นการใช้วัตถุดิบธรรมชาติ และให้กลิ่นรสพิเศษของวานิลลา” ม.ล.ดิศปนัดดากล่าว

ขณะที่แขน-ขา และปีกอีกด้านของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง มีภารกิจใหม่และใหญ่ไม่แพ้การเคลื่อนแบรนด์ดอยตุง คือการบริหารพื้นที่พัฒนาโครงการร้อยใจรักษ์ 37,119 ไร่ ใน 4 หมู่บ้านหลัก 20 หมู่บ้านย่อย ในพื้นที่ ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ โดย 4 หมู่บ้านหลักได้แก่ บ้านห้วยส้าน บ้านเมืองงามเหนือ และบ้านเมืองงามใต้ มีประชากรอาศัยอยู่ในพื้นที่ 1,132 ครัวเรือน ประมาณ 4,700 คน

ถาม ม.ล.ดิศปนัดว่า โครงการร้อยใจรักษ์ ลงทุนอะไรไปแล้วบ้าง ม.ล.ดิศปนัดดากางแผนงานและดอกผลในพื้นที่เป็นคำตอบ

“เราและพันธมิตรคือ ป.ป.ส. ร่วมกันลงทุนโรงสีข้าว โรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร โรงแช่แข็งผัก-เนื้อสัตว์-ผลไม้ เครื่องจักรกลการเกษตร และระบบน้ำ เราสร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่ เมื่อมีการเข้ามาวางแผนเรื่องจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ทำให้การเพาะปลูกพืชสามารถทำได้มากขึ้น”

“ปัจจุบันในพื้นที่มีการส่งเสริมการทำเกษตรทั้งจากพืชดั้งเดิมที่เคยปลูกในพื้นที่ ทั้งพืชระยะสั้นและระยะยาว เช่น ข้าวพื้นเมืองพันธุ์อิโต ลิ้นจี่ ส้ม และพืชทางเลือกใหม่ ๆ เช่น มันหวาน ทุเรียน เกรปฟรุต เก๊กฮวย ข้าวโพด กาแฟโรบัสต้า อะโวคาโด ซึ่งผลผลิตที่ได้โครงการได้นำมาจัดจำหน่ายที่กาดหลวงร้อยใจรักษ์ ให้บริการนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปี”

สำหรับข้าวพื้นเมืองพันธุ์อิโต ที่เป็นข้าวนาปรังไม่ไว้แสงที่มีปริมาณแป้งสูง มีผลผลิตในพื้นที่สูง 800-1,200 กิโลกรัมต่อไร่ ได้มีการตั้งโรงสีข้าวชุมชนในพื้นที่ เพื่อช่วยให้คนในพื้นที่นิยมปลูกและรับประทานข้าวพันธุ์นี้มาใช้โรงสีในพื้นที่ หรือขายข้าวเข้ามาให้โรงสีในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด ช่วยเพิ่มทั้งรายได้และความมั่นคงทางอาหารให้กับคนในพื้นที่ โดยราคารับซื้อจากชาวบ้านอยู่ที่ 11 บาทต่อกิโลกรัม มีการจ้างงานในชุมชน และเตรียมที่จะยกระดับเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และรุกทำตลาดกับร้านโชห่วย

โชติภูมิ เหลืองประเสริฐ เจ้าหน้าที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ซึ่งรับผิดชอบโครงการบริหารจัดการข้าวอย่างครบวงจร ในโครงการร้อยใจรักษ์เล่าว่า “ในพื้นที่ภาคเหนือ ตามเขาตามดอย เป็นพื้นที่อาศัยหลักของชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น กะเหรี่ยงปกาเกอะญอ, ลีซอ, ลาหู่, และไทยใหญ่ ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้มีวิถีชีวิตที่แตกต่างจากคนเมือง ไม่ว่าจะเป็นภาษา วัฒนธรรมงานรื่นเริง หรือแม้แต่อาหารการกิน กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้มีการบริโภคข้าวที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร พันธุ์ข้าวที่แตกต่างจากข้าวในท้องตลาดทั่วไป ข้าวพันธุ์อิโต”

ข้าวพันธุ์อิโตนี้ เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมือง ต้นตอเป็นข้าวมาจากจังหวัดลำปาง แต่ด้วยเวลาที่ผ่านไปหลายสิบปี ผสมกับดินที่มีแร่ธาตุสมบูรณ์และปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอ ข้าวลำปางจึงค่อย ๆ วิวัฒนาการมาเป็นข้าวอิโตที่มีลักษณะเฉพาะตัว

“ข้าวอิโต มีรสสัมผัสที่เหนียวนุ่ม มีความหอมที่เป็นเอกลักษณ์หลังการหุง เมล็ดข้าวจะมีขนาดยาวกว่าข้าวญี่ปุ่นเล็กน้อย แต่ยังถือว่าสั้นกว่าข้าวหอมมะลิที่คนเมืองทั่วไปคุ้นเคย ข้าวอิโตจะมีลักษณะที่โดดเด่นคือ หอมนุ่ม เหนียว เหมือนข้าวญี่ปุ่น กินแล้วอิ่มท้องนาน ให้พลังงานสูง ซึ่งเหมาะสมต่อวิถีชีวิตเกษตรกรที่จะต้องทำการเกษตรจะต้องใช้พลังงานมาก แต่สำหรับคนเมืองมีคำแนะนำว่า ให้ล้างน้ำหลาย ๆ ครั้ง จะทำให้ลดระดับของแป้งลงได้”

นายโชติภูมิอธิบายเพิ่มเติมว่า พื้นที่ปลูกข้าวอิโตมากถึง 1,500 ไร่ อยู่ในตำบลท่าตอน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการร้อยใจรักษ์ โดยส่วนมากเป็นชนเผ่ากะเหรี่ยงปกาเกอะญอ ที่เป็นกลุ่มหลักในการปลูกข้าวอิโตในพื้นที่ ด้วยวิถีชีวิตที่มีความพิถีพิถันในข้าวของตนเอง ชนเผ่าปกาเกอะญอ นิยมที่จะทำพันธุ์ข้าวของตนเอง บ้านใครบ้านมัน จึงทำให้ข้าวพันธุ์อิโตมีคุณภาพที่ดีในทุก ๆ รอบการปลูก เป็นของดีที่คนเมืองไม่เคยได้ลิ้มลอง

นายสมพร กุนา เกษตรกร อายุ 35 ปี ในบ้านเมืองงามใต้ เป็นหนึ่งในเกษตรกรหัวไวใจสู้ในพื้นที่ ตกผลึกจากประสบการณ์ที่ปลูกข้าวมาทั้งชีวิต ว่าความผันผวนของราคาข้าวเปลือกเป็นอุปสรรคในการตั้งตัวของเพื่อน ๆ เกษตรกรผู้ปลูกข้าว แต่เมื่อมองไปที่ราคาสินค้าปลายน้ำ หรือข้าวสาร เขากลับเห็นว่าข้าวสารราคาคงที่ตลอดปี “สมพร” ต้องการหาคำตอบว่า ราคาข้าวเปลือกต้องผันผวน ตลอดไป หรือจะทำอย่างไรให้ราคาปลายน้ำสมเหตุสมผลกับคนปลูกมากขึ้น

นายสมพรได้รับการสนับสนุนจากโครงการร้อยใจรักษ์ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาในพื้นที่ ในเรื่องการลงทุนสร้างโรงสีชุมชน และเป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้ด้านความรู้ธุรกิจ ร่วมสำรวจความต้องการบริโภคข้าวสารในพื้นที่ เพื่อให้การปลูกและความต้องการซื้อข้าวในชุมชนมีความสมดุลกัน ร่วมทำความฝันในการสร้างอนาคตที่มั่นคงให้แก่เพื่อน ๆ เกษตรกรในพื้นที่

นายสมพรเริ่มการประกาศรับซื้อข้าวเปลือกที่มีคุณภาพจากผู้คนในหมู่บ้าน ด้วยการการันตีราคาที่ 12 บาท ซึ่งราคาโดยปกติของข้าวเปลือกจะอยู่ประมาณ 7-10 บาท และนำมาสีเพื่อขายต่อให้แก่ร้านขายของชำในหมู่บ้านข้างเคียง ซึ่งสามารถสร้างกำไรให้นายสมพรได้ แต่ก็ไม่ได้มากมายอะไร เนื่องจากราคารับซื้อที่สูง

ชื่อเสียงของ “ข้าวแบรนด์ร้อยใจรักษ์” เป็นที่รู้จักข้ามจังหวัดไปไกลถึง อ.ฝาง และอ.ไชยปราการ กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในอำเภอข้างเคียงเริ่มติดต่อเข้ามาเพื่อขอซื้อ “ข้าวอิโต ร้อยใจรักษ์” เพราะกรรมวิธีการปลูกข้าวของกลุ่มเกษตรกรปกาเกอะญอมีความละเอียดอ่อน ไม่เหมือนใคร ส่งผลให้สินค้าข้าวสารที่ออกมาจากโรงสีนายสมพรมีคุณภาพเหนือข้าวสารทั่วไปในท้องตลาด โรงสีชุมชนเริ่มขายข้าวไปทีละคันรถ ยอดขายค่อย ๆ เติบโต

เมื่อถามถึงอนาคตของโรงสี นายสมพร บอกว่าความสำเร็จนี้ไม่ได้มาจากเขาเพียงคนเดียว แต่เป็นความสำเร็จที่มาจากวัฒนธรรมและความประนีตของชนเผ่าปกาเกอะญอในการปลูกข้าว คิดว่าภายปี 2566 ตั้งใจที่จะเปลี่ยนโรงสีข้าวนี้ให้กลายเป็นวิสาหกิจชุมชน ให้โรงสีนี้เป็นสมบัติของหมู่บ้านเมืองงามใต้ เพื่อแบ่งปันกำไรระหว่างเพื่อน ๆ เกษตรกรของเขา

ข้าวพันธุ์อิโตที่มาจากเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่กับนายสมพร เข้าสู่กระบวนการแพ็กแบบสุญญากาศขนาด 1 กิโลกรัม จำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อขยายตลาดให้คนนอกพื้นที่ได้ลิ้มลอง

ร่วมกับสนับสนุนข้าวที่ปลูกด้วยใจกับใจ ในพื้นที่ร้อยใจรักษ์ สามารถติดต่อซื้อผ่านออนไลน์ได้แล้ว โดยติดต่อผ่านเพจขายของ ร้อยใจรักษ์: https://www.facebook.com/RoiJaiRakMarket หรือค้นหาว่า “กาดหลวง ร้อยใจรักษ์ Roi Jai Rak Market,Chiang Mai”