เวิร์กหรือไม่เวิร์ก ขึ้นค่าแท็กซี่ในรอบ 8 ปีในภาวะฝืดเคือง

Photo by Tanawin Wichit on Unsplash

เปิดข้อเรียกร้อง-ฟังเสียงสะท้อนคนขับ กรณีปรับค่าแท็กซี่ในรอบ 8 ปี กับสภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง

เป็นเวลากว่า 8 ปีแล้วที่อัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่ ไม่มีการปรับราคาขึ้นมา แต่ด้วยสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทั้งค่าเชื้อเพลิง ค่าครองชีพ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้กลุ่มคนขับแท็กซี่ เสนอกรมการขนส่งทางบก ปรับราคาค่าโดยสารขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อให้รายได้ในการขับแท็กซี่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

ในทางกลับกัน กลุ่มผู้ขับแท็กซี่บางส่วนมีความกังวลว่า การขึ้นราคาครั้งนี้จะสร้างผลกระทบเชิงลบเกี่ยวกับรายได้ และอาจทำให้จำนวนผู้โดยสารที่ลดลง แล้วการขึ้นราคาค่าโดยสารรถแท็กซี่ครั้งนี้ จะช่วยผู้ขับรถได้จริงหรือไม่ และมีเรื่องอะไรที่น่ากังวล

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนมองภาพและสะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับราคาแท็กซี่ครั้งนี้พร้อมกัน

มองภาพราคาแท็กซี่ 30 ปีที่ผ่านมา

กระทรวงคมนาคม เริ่มกำหนดค่าโดยสารรถแท็กซี่ครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2535 โดยกำหนดอัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 35 บาท/2 กม.แรก ต่อไปเริ่มต้นกิโลเมตรละ 5 บาท และถูกลดหลั่นลงมา เมื่อระยะทางไกลขึ้น (กม.ที่ 7 ขึ้นไป ค่าโดยสาร 3.50 บาท/กม.)

จากนั้น ปี พ.ศ. 2539 มีการปรับอัตราค่าโดยสารเป็นการคิดแบบขั้นบันได ยิ่งเดินทางไกล อัตราค่าโดยสารต่อกิโลเมตรยิ่งสูงขึ้น และเป็นรูปแบบค่าโดยสารที่คิดมาจนถึงปัจจุบัน ขณะที่อัตราค่าโดยสารเริ่มต้น ยังคิดตามอัตราเดิมเมื่อปี 2535

กระทั่งปี พ.ศ. 2551 มีการปรับอัตราค่าโดยสารเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี เริ่มคิดค่าโดยสารเริ่มต้นเพียงกิโลเมตรแรกเท่านั้น แล้วคิดค่าโดยสารตามระยะทางตั้งแต่กิโลเมตรถัดไป พร้อมทั้งเริ่มคิดค่าบริการอื่น ๆ ทั้งค่าบริการสำหรับรถแท็กซี่จากสนามบิน/ท่าอากาศยาน และการคิดค่าบริการเรียกรถแท็กซี่ผ่านศูนย์วิทยุฯ และใช้อัตราค่าโดยสารลักษณะเดียวกัน มาจนถึงทุกวันนี้

ขณะที่อัตราค่าโดยสารกรณีรถติดหรือรถสามารถเคลื่อนตัวได้ไม่เกินที่กฎหมายกำหนด อยู่ในอัตราค่าบริการต่อนาทีที่ใกล้เคียงกันมาตลอด โดยตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ปรับขึ้นรวมกันเพียง 1 บาทเท่านั้น และยังใช้หลักเกณฑ์ความเร็วเดียวกันมาตลอด 30 ปี

ข้อเรียกร้องการปรับค่าโดยสารของกลุ่มสมาคมแท็กซี่

หลังจากการปรับราคาค่าโดยสารครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 หรือเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ผู้ขับแท็กซี่ นำโดยคณะกรรมการบริหารร่วม 4 สมาคม เสนอให้มีการปรับอัตราค่าโดยสารแท็กซี่เพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ และสภาวะราคาพลังงานในปัจจุบัน

ตัวเลขราคาค่าโดยสารที่นายศดิศ ใจเที่ยง นายกสมาคมแท็กซี่สาธารณะ เตรียมเสนอให้กระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางบกพิจารณานั้น มีการปรับเปลี่ยนในทุกมิติ ทั้งค่าโดยสารเริ่มต้นที่ปรับขึ้นเป็น 45-50 บาท (ตามขนาดเครื่องยนต์) จากราคาเดิม 35 บาทที่ใช้มายาวนานถึง 30 ปี ค่าโดยสารตามระยะทาง ที่เริ่มคิดหลักสิบบาทตั้งแต่กิโลเมตรที่ 2

อีกหนึ่งค่าใช้จ่ายที่น่าสนใจ คือ ค่าบริการกรณีรถติด เสนอให้ปรับขึ้นจากเดิม 2 บาท เป็น 5 บาท และเสนอให้ปรับเกณฑ์ความเร็วเป็นไม่เกิน 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง แทนเกณฑ์ความเร็วเดิม คือ 6 กม./ชม. ที่บังคับใช้มานานนับสิบปี

คนขับแท็กซี่มอง มีคนได้ประโยชน์ และมีคนจะลำบาก

แม้การปรับขึ้นค่าโดยสารรถแท็กซี่ในครั้งนี้ จะทำให้ผู้ขับรถแท็กซี่พอใจ และช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงสถานการณ์เศรษฐกิจที่ค่าครองชีพสูงขึ้น ต้นทุนการขับรถแท็กซี่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้ขับแท็กซี่บางรายกลับไม่เห็นด้วยในอัตราค่าโดยสารที่ตัวแทนกลุ่มผู้ขับแท็กซี่เสนอ

ผู้ขับรถแท็กซี่ แสดงความคิดเห็นภายในกลุ่มเฟซบุ๊ก “รวมพลคนขับแท็กซี่ (แห่งประเทศไทย)” ถึงการปรับขึ้นค่าโดยสารว่า การปรับขึ้นค่าโดยสารครั้งนี้ อาจเป็นผลดีกับรถแท็กซี่ที่มีคิวรถ เช่น สนามบิน สถานีขนส่ง โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ส่วนคนขับที่ขับไปเรื่อย ๆ ตามตรอกซอกซอยต่าง ๆ แล้วรอผู้โดยสารเรียกข้างทาง อาจจะเจอผู้โดยสารเรียกน้อยลง

ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ขับแท็กซี่ มีการแชร์ข้อมูลว่า ลูกค้ายอมเรียกรถแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชั่นมากขึ้น เพราะมีข้อมูลคนขับ ระบุต้นทาง-ปลายทางที่ต้องการไปได้ และสามารถจัดการชีวิตได้ดีขึ้น เพราะไม่ต้องยืนรอเรียกรถเอง

คณะทำงานคาดอีกไม่นาน สรุปผลการศึกษาได้

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ทำการศึกษาแล้วพบว่า ประชาชนเดินทางด้วยระยะทางที่สั้นลง เที่ยววิ่งในการให้บริการเดินรถน้อยลง ส่งผลให้ต้นทุนการเดินรถสูงขึ้น รายได้ของผู้ขับรถแท็กซี่จึงลดน้อยลง เป็นผลให้จำนวนผู้ให้บริการรถแท็กซี่ลดน้อยลง โดยมีรถแท็กซี่ที่ให้บริการจริงประมาณ 60,000 คัน/วัน จากจำนวนรถทั้งสิ้น 80,000 คัน หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ของรถแท็กซี่ทั้งหมด

ขณะที่รายได้ของผู้ขับรถแท็กซี่ TDRI พบว่า มีทิศทางสวนทางกับค่าครองชีพในปัจจุบัน โดยเมื่อเปรียบเทียบค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นระหว่างปี 2557-2565 พบว่ามีอัตราเพิ่มสูงขึ้นประมาณร้อยละ 7

ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ TDRI หนึ่งในคณะทำงานด้านอัตราค่าโดยสาร เปิดเผยกับประชาชาติธุรกิจว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมและพิจารณาผลการศึกษา เนื่องจากมีรายละเอียดที่เยอะ และต้องเปรียบเทียบผล ข้อเสนอ ศึกษาข้อดี-ข้อเสีย และความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวด้วย โดยข้อเสนอจากกลุ่มผู้ขับแท็กซี่ เป็นเพียงหนึ่งในข้อเสนอที่ต้องศึกษาเท่านั้น

โดย TDRI จะเปิดเผยผลการศึกษาทั้งหมดและรับฟังความเห็นเพิ่มเติม ภายในช่วงสัปดาห์หน้า และคาดว่าจะใช้เวลาอีกไม่นาน จนได้ข้อสรุปการศึกษาอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่ เพื่อเสนอให้กรมการขนส่งทางบกพิจารณาบังคับใช้ต่อไป

จากนี้ ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ผลการศึกษาเรื่องอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่จะเป็นอย่างไร และผลดังกล่าวจะสร้างความพึงพอใจให้กับกลุ่มผู้ขับแท็กซี่ และผู้ใช้บริการทุกคนที่อยู่ในสภาวะเศรษฐกิจตึงมือได้หรือไม่