กอนช. เตือนเหนือ-อีสาน เฝ้าระวังพายุโซนร้อนโนรู 27 ก.ย. ถึง 2 ต.ค.

กอนช. เตือนเฝ้าระวังพายุโซนร้อน “โนรู (NORU)” น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมแรงในช่วงวันที่ 27 ก.ย. ถึง 2 ต.ค.65

วันที่ 24 กันยายน 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ติดตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุดีเปรสชันบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกได้ทวีกำลังขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “โนรู (NORU)” คาดว่าพายุนี้จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 27 – 28 กันยายน 2565 ส่งผลทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมแรงในช่วงวันที่ 27 – 29 กันยายน 2565 และ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง

ทั้งนี้ กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ในช่วงวันที่ 27 กันยายน – 2 ตุลาคม 2565 ดังนี้

1. เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ดังนี้

ภาคเหนือ

  • จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภอฮอด จอมทอง ดอยหล่อ ดอยเต่า และแม่วาง)
  • จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อำเภอสบเมย และแม่สะเรียง)
  • จังหวัดลำปาง (อำเภอห้างฉัตร เกาะคา เสริมงาม เมืองลำปาง และสบปราบ)
  • จังหวัดลำพูน (อําเภอเวียงหนองล่อง ป่าซาง แม่ทา และป่าซาง)
  • จังหวัดกำแพงเพชร (อำเภอปางศิลาทอง และคลองลาน)
  • จังหวัดตาก (อำเภอพบพระ อุ้มผาง และแม่สอด)
  • จังหวัดแพร่ (อำเภอวังชิ้น ลอง และเด่นชัย)
  • จังหวัดอุตรดิตถ์ (อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ลับแล และทองแสนขัน)
  • จังหวัดพิษณุโลก (อำเภอนครไทย วัดโบสถ์ และชาติตระการ)
  • จังหวัดนครสวรรค์ (อำเภอแม่วงก์)
  • จังหวัดอุทัยธานี (อำเภอบ้านไร่)
  • จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอหล่มสัก เมืองเพชรบูรณ์ บึงสามพัน และวิเชียรบุรี)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

  • จังหวัดชัยภูมิ (อำเภอคอนสาร เกษตรสมบูรณ์ และหนองบัวแดง)
  • จังหวัดขอนแก่น (อำเภอภูผาม่าน และภูเวียง)
  • จังหวัดนครราชสีมา (อำเภอเสิงสาง ปักธงชัย ครบุรี วังน้ำเขียว โชคชัย ปากช่อง หนองบุญมาก สูงเนิน สีคิ้ว และเมืองนครราชสีมา)
  • จังหวัดบุรีรัมย์ (อำเภอบ้านกรวด ประโคนชัย ละหานทราย เฉลิมพระเกียรติ พลับพลาชัย โนนดินแดง ปะคำ นางรอง กระสัง โนนสุวรรณ หนองกี่ เมืองบุรีรัมย์ และชำนิ)
  • จังหวัดสุรินทร์ (อำเภอพนมดงรัก สังขะ บัวเชด พนมดงรัก ปราสาท กาบเชิง ลำดวน ศรีณรงค์ ศีขรภูมิ เขวาสินรินทร์ และเมืองสุรินทร์)
  • จังหวัดศรีสะเกษ (อำเภอขุขันธ์ ภูสิงห์ ไพรบึง ปรางค์กู่ ขุนหาญ วังหิน และกันทรลักษ์)

ภาคกลาง

  • จังหวัดสิงห์บุรี (อำเภอพรหมบุรี บางระจัน และท่าช้าง)
  • จังหวัดอ่างทอง (อำเภอเมืองอ่างทอง แสวงหา ไชโย วิเศษชัยชาญ และโพธิ์ทอง)
  • จังหวัดลพบุรี (อำเภอลำสนธิ และพัฒนานิคม)
  • จังหวัดสระบุรี (อำเภอเมือง แก่งคอย หนองแซง หนองแค พระพุทธบาท เสาไห้ และเฉลิมพระเกียรติ)
  • จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (อำเภอผักไห่ เสนา บางบาล บางปะหัน พระนครศรีอยุธยา นครหลวง ภาชี และท่าเรือ)
  • จังหวัดนครปฐม (อำเภอกำแพงแสน และบางเลน)
  • จังหวัดสุพรรณบุรี (อำเภอด่านช้าง และเดิมบางนางบวช)
  • จังหวัดกาญจนบุรี (อำเภอสังขละบุรี และหนองปรือ)
  • จังหวัดราชบุรี (อำเภอเมืองราชบุรี บ้านโป่ง ปากท่อ สวนผึ้ง และบ้านคา)
  • กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก

  • จังหวัดนครนายก (อำเภอปากพลี) จังหวัดสระแก้ว (อำเภอตาพระยา โคกสูง อรัญประเทศ วัฒนานคร และคลองหาด)
  • จังหวัดระยอง (อำเภอเมืองระยอง แกลง วังจันทร์ และบ้านค่าย)
  • จังหวัดจันทบุรี (อำเภอขลุง แหลมสิงห์ ท่าใหม่ เมืองจันทบุรี เขาคิชฌกูฏ โป่งน้ำร้อน และนายายอาม)
  • จังหวัดตราด (อำเภอเกาะกูด คลองใหญ่ เมืองตราด บ่อไร่ เกาะช้าง แหลมงอบ และเขาสมิง)

ภาคใต้

  • จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง กระบุรี ละอุ่น กะเปอร์ และสุขสำราญ)
  • จังหวัดพังงา (อำเภอเมืองพังงา กะปง ท้ายเหมือง ตะกั่วป่า และตะกั่วทุ่ง)
  • จังหวัดภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต และถลาง)
  • จังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ท่าศาลา และปากพนัง)
  • จังหวัดนราธิวาส (อำเภอศรีสาคร จะแนะ และสุคิริน)

2. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง

บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำ สายแม่น้ำกก แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย แม่น้ำเลย แม่น้ำชี ลำน้ำเชิญ ลำน้ำพรหม ลำน้ำพอง แม่น้ำมูล แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำตราด

3. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่

อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) 13 แห่ง ได้แก่

  • อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่
  • อ่างเก็บน้ำแม่มอก และกิ่วคอหมา จังหวัดลำปาง
  • อ่างเก็บน้ำทับเสลา จังหวัดอุทัยธานี อ่างเก็บน้ำกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี
  • อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น
  • อ่างเก็บน้ำลำตะคอง ลำพระเพลิง และมูลบน จังหวัดนครราชสีมา
  • อ่างเก็บน้ำขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก
  • อ่างเก็บน้ำคลองสียัด จังหวัดฉะเชิงเทรา
  • อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จังหวัดปราจีนบุรี และอ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี

รวมทั้งอ่างฯขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำทั่วประเทศ

ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

  1. ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ
  2. ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม โดยปรับแผนระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ เพื่อลดผลกระทบจากมวลน้ำที่จะไหลหลากมายังบริเวณพื้นที่เสี่ยง
  3. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที
  4. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์