ภูเก็ต ตึก2ชั้นบนเนินเขาถล่ม คาดเหตุจากดินสไลด์ลงมาจากฝนตก

ภูเก็ต ตึก 2 ชั้นบนเนินเขาถล่ม คาดเหตุจากดินบนภูเขาสไลด์ลงมา จากฝนตกต่อเนื่องหลายวัน เผยเจ้าของตึกพบรอยร้าว สั่งอพยพผู้เช่าออกหมดก่อนตึกพัง ไร้คนเจ็บ

วันที่ 21 ตุลาคม 2565 เมื่อเวลา 23.30 น.คืนวานนี้ (20 ต.ค. 65) ที่อาคารห้องเช่าไม่มีชื่อสูง 2 ชั้นจำนวน 32 ห้อง ตั้งอยู่ภายในซอยประยูร 2 ถ.เยาวราช ต.ตลาดใหญ่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ได้เกิดการทรุดตัวและถล่มลงมา เบื้องต้นไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เนื่องจากเจ้าของได้ให้ผู้เช่าทั้งหมดอพยพออกจากห้องพักตั้งแต่ช่วงสายวันที่ 20 ต.ค. 65 หลังพบรอยร้าวของอาคาร เนื่องจากอาคารมีการทรุดตัวจนมีรอยร้าว สืบเนื่องจากฝนตกหนักและต่อเนื่องหลายวัน ทำให้ดินชุ่มน้ำและพื้นที่บางส่วนเกิดดินสไลด์ไหลมาทับตัวอาคาร

ผู้เช่าหอพักรายหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เมื่อคืนวันที่ 19 ต.ค.มีเสียงดังตูมเกิดขึ้น ต่อมาในช่วงเวลาประมาณ 03.00 น.มีเสียงดังขึ้น เป็นเสียงคล้าย ๆ ปูนแตก แต่ไม่ได้เอะใจว่าเสียงปูนแตก และรุ่งเช้าวันที่ 20 ต.ค.เมื่อตื่นขึ้นมา พบว่าฝ้าเพดานในห้องพักของตนมีรอยแตก และในห้องพักห้องแรกของอาคารมีปูนแตกและกะเทาะขึ้นมา ซึ่งทุกคนคิดว่าไม่น่าจะปลอดภัย

ทางผู้ดูห้องเช่าจึงได้ให้ทุกคนที่เช่าห้องอยู่ในขณะนี้ ซึ่งมีประมาณ 8 ห้องขนสิ่งของต่าง ๆ ออกจากหอพักตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 20 ต.ค. จนช่วงเที่ยงทุกคนก็ออกจากอาคารทั้งหมด จึงทำให้ไม่มีผู้ที่อยู่ภายในอาคารในช่วงที่อาคารถล่มลงมา

ภูเก็ตดินถล่ม

ทั้งนี้หลังเกิดเหตุ นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมนายอำนวย พิณสุวรรณ นายอานุภาพ รอดขวัญ ยอดระบำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายธรรมฤทธิ์ ฤทธิภักดี วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองภูเก็ต ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยลงพื้นที่ติดตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมสั่งปิดพื้นที่และตัดกระแสไฟฟ้าตรงจุดเกิดเหตุ โดยในวันนี้ (21 ต.ค. 65) ทางสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ต พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้มีการตรวจสอบหาสาเหตุอย่างละเอียด

ด้านนายธรรมฤทธิ์ ฤทธิภักดี วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ต กล่าวภายหลังตรวจสอบอาคารห้องเช่าที่ถล่มว่า จากการตรวจสอบอาคารดังกล่าวพบว่าเกิดจากสภาวะถล่มจากอาคารด้านหลัง คือ คานของอาคารขาด แต่ตอม่อไม่ขาด ทำให้อาคารไม่สามารถรักษาเสถียรภาพไว้ได้ อาคารจึงเอนมาทับอาคารที่อยู่ด้านหน้า ขณะเดียวกันน้ำหนักที่อาคารด้านหลังเอนมาทับอาคารด้านหน้า ส่งผลให้ตอม่อของอาคารหน้าขาด

ต่อมาน้ำได้ไหลเพิ่มมากขึ้น ซึ่งต้องมีการเฝ้าระวังอาคารทั้งหมดไว้ ทั้งนี้อาคารทั้งหมดไม่อยู่ในสภาพที่จะใช้งานได้อีกต่อไป เนื่องจากไม่ปลอดภัย ซึ่งจะต้องดูในรายละเอียดของอาคารอีกครั้งว่าจะมีการรื้อถอนหรือซ่อมแซมอย่างไร ส่วนสาเหตุเบื้องต้นคาดว่าเกิดจากการสไลด์ของดินจากบนภูเขาที่อยู่ด้านหลังของอาคารเคลื่อนลงมา ทำให้ตัวอาคารเกิดการสไลด์ตามดินลงมา ทำให้ตอม่อขาดและถล่มในเวลาต่อมา

ภูเก็ต ดินถล่ม