บางจากฯกางแผน 8 ปี ปั๊ม EBITDA 1 แสนล้าน ซีอีโอย้ำจะไม่กลับไปยืนที่เดิม

บางจาก

กลุ่มบางจาก กางแผน 8 ปี ปั๊ม EBITDA 1 แสนล้านในปี 2030 ต่อยอดฐาน EBITDA 40,000 ล้านบาทปี’65 “ชัยวัฒน์” ย้ำ “ออกจากถ้ำแล้วเราจะไม่กลับไปยืนที่เดิม” เตรียมประเดิมงวดแรกปี’66 ลงทุน 4.5 หมื่นล้าน เพิ่มสัดส่วนธุรกิจแหล่งพลังงาน “แก๊สธรรมชาติ-ธุรกิจใหม่อีวี ไฟฟ้าพลังงานสะอาด น้ำมันเครื่องบิน SAF-ไบโอเบส” คาดการณ์ ข้อมูลโกลด์แมน แซกส์ ปี’66 แนวโน้มราคาน้ำมันพุ่ง 3 หลัก

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าบริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บางจากเตรียมดำเนินการแผน 8 ปี (ปี 2023-2030) หรือ ปี 2566-2573 เพื่อเพิ่มกำไร EBITDA เป็น 100,000 ล้านบาท จากปีฐานในปีนี้ที่ 40,000 ล้านบาท ตามแผน 10X (เท็นเอ็กซ์) ที่วางไว้ว่า EBITDA เติบโต 10 เท่าตัวจากปี จากระดับเฉลี่ยประมาณ 10,000 ล้านบาท ในช่วงปี พ.ศ. 2558-2563 (ค.ศ. 2015-2020)

โดยแผนนี้คาดว่าจะเริ่มใช้งบประมาณการลงทุนในปีแรก 2566 มูลค่า 45,000 ล้านบาท อาศัยแหล่งเงินจะมาจากการบริหารจัดการสภาพคล่องตัวเองจากกำไรสะสม และจากการ IPO บริษัทลูก ซึ่งจะ แบ่งเป็นการลงทุนใน บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ประมาณ 30,000 ล้านบาท บริษัท บีบีจีไอ 1,600 ล้านบาท OKEA 5,000 ล้านบาท โรงกลั่น 6,000 ล้านบาท และธุรกิจด้านการตลาด 2,000 ล้านบาท ทั้งนี้ แผนลงทุน 8 ปี จะใช้งบประมาณ รวม 2 แสนล้านบาท

บางจาก

 

พ้นถ้ำแล้ว-ไม่กลับไปจุดเดิม

“เราอยู่ในถ้ำมา 2-3 ปี เพิ่งออกมาแต่เรายังเข้มแข็ง ราคาน้ำมันผันผวนและมีวงจรชีวิตของมัน 5-6 ปี จะเคาน์เตอร์ลง EBITDA 7,000 ล้านบาท ตอนนี้ขยับมา 10,000 ล้านบาท ถ้าไม่นับปี 2020 ปีส่วน ปี 2021 EBITDA เติบโต 30,000 ล้าน มาปีนี้ 9 เดือนเกือบ 40,000 ล้านบาท (37,773 ล้านบาท) ไม่ใช่ฟลุกหรือดวงดี สิ่งที่บางจากจะทำจากนี้จะต่อยอด 40,000 ล้านบาทเป็นฐาน ที่จะสร้างและต่อยอด เราจะไม่กลับไปยืนที่เดิมแล้ว แต่เราจะเติบโตจากนี้ ไปอีกบริบทหนึ่ง”

สำหรับสัดส่วนกำไร EBITDA ปี 2030 ที่วางไว้ 1 แสนล้านนั้น ส่วนหลัก 50% ยังเป็นส่วนของทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติที่จัดเป็นพลังงานสะอาด และธุรกิจใหม่ รองลงมาคือ โรงกลั่นน้ำมัน 18% และธุรกิจไฟฟ้า 10%

ลุยแหล่งพลังงาน

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า บางจากเตรียม Strategy Going Forword ปี 2030 ใน 5 ธุรกิจหลัก ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจต้นน้ำ แหล่งพลังงานและธุรกิจใหม่ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันที่ผ่านมาบริษัทได้ไปลงทุนใน OKEA แหล่งปิโตรเลียม ในประเทศนอร์เวย์ ทำให้มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 17,000 ล้านบาร์เรล/วัน และมีเป้าหมายจะเพิ่มเป็น 1 แสนบาร์เรลต่อวันในปี 2030 และมีแผนจะแสวงหาการลงทุนในแหล่งใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน

ส่วนธุรกิจใหม่บริษัทก็ได้มีการสปินออฟสตาร์ตอัพซึ่งวันนี้มีทั้ง มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า (Winnonie) ปีนี้จะได้ 1,000 คัน ปีหน้าเพิ่มเป็น 5,500 คัน และมีเครือข่ายสถานบริการเปลี่ยนถ่ายแบตเตอรี่ ปีนี้ 100 สถานี เพิ่มเป็น 300 สถานีในปีหน้าอีกทั้งมีบริษัท BTSG ทำธุรกิจจำหน่าย LNG ทางท่อ ตลอดจน การแสวงหาโอกาสจากธุรกิจใหม่ ๆ ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน เช่น ไฮโดรเจน การกักเก็บคาร์บอน (CCS)

เพิ่มกำลังการกลั่นทะลุ 100% ไปแล้ว

กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน ปี 2030 บริษัทตั้งเป้าจากการขายน้ำมันเข้าสถานีบริการจะมีสัดส่วน 40% ส่วนอีก 60% จะเป็นรายได้อื่น ๆ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วน EBITDA ของกลุ่มธุรกิจเชื้อเพลิงนอกยานยนต์เป็นกว่า 60% ภายใน 2030 โดยได้มุ่งเน้นการผลิตผลิตภัณฑ์นอกเหนือจากน้ำมันยานยนต์และเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพตามความต้องการของตลาดหรือลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (Niche Products Refinery) เช่น Unconverted Oil และเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF)

“บริษัทมีการเพิ่มกำลังการกลั่นจากที่กลั่นสูงสุด 120 KBD เป็น 125 KBD แล้ว ผลจากปริมาณความต้องการที่ฟื้นตัวหลังโควิด ทำให้มียอดขายเพิ่มเป็น 140 KBD มากกว่ากำลังการผลิตแล้ว แล้วทำไมจะขยายไปถึง 200 KBD ไม่ได้”

ปั๊มสาขาอินทนิล 3 พันแห่ง

ขณะที่ธุรกิจด้านการตลาด ซึ่งบริษัทตั้งเป้าหมายเร่งตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ครบครัน เพื่อให้เป็นมากกว่าสถานที่เติมน้ำมัน โดยมุ่งมั่นเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางที่ตอบโจทย์คนทุกวัยภายใต้แนวคิด “YOUR” Greenovative Destination for Intergeneration ผ่านกลยุทธ์ 5 ด้านสร้างการเติบโตจากธุรกิจ Non-Oil อย่าง อาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งในอนาคตจะขยายพันธมิตรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยจะสร้างความแตกต่างให้กับลูกค้าที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วด้วยการ ร่วมกับพันธมิตรสตรีตฟู้ดและ Grab and go

ขณะเดียวกันยังได้จัดทำ EV Charger สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนความร่วมมือกับคู่ค้าและรายได้จากแฟรนไชส์ เพื่อขยายเครือข่ายสถานีบริการบางจากด้วยเป้าหมาย 1,900 แห่ง และร้านกาแฟอินทนิล 3,000 แห่งทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) พร้อมทั้งพัฒนา Greenovative Product ที่มีความแรงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานยูโร 5 ต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาบริการเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่สร้างประสบการณ์ด้านดิจิทัล เช่น การใช้ดิจิทัลเพย์เมนต์

ไฟฟ้าสู่ Electron value Chain

ส่วนกลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ภายใต้การดำเนินงานโดยบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) วางเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 6,800 GWh โดยมีสัดส่วนหลักจากการเติบโตในกลุ่มธุรกิจพลังงานสีเขียว ทั้งจากโครงการในประเทศอันเนื่องมาจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับใหม่ (PDP 2022 ระหว่างปี พ.ศ. 2565-2580 หรือ ค.ศ. 2022-2037) และการเติบโตในต่างประเทศตามการเปลี่ยนผ่านพลังงานของโลกสู่พลังงานสะอาด เสริมด้วยธุรกิจที่มีศักยภาพในอนาคต เช่น ธุรกิจแบตเตอรี่และการกักเก็บพลังงาน การให้บริการด้านเทคโนโลยีพลังงาน พลังงานรูปแบบใหม่และธุรกิจคาร์บอนต่ำอื่น ๆ

“ต่อไปธุรกิจไฟฟ้าจะเป็น Electron value Chain (อิเล็กตรอน แวลู่ เชน) ซึ่งหมายถึงใดใดก็ตามที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นพลังงานสะอาด เดิมเน้นโซลาร์ แต่ต่อไปจะปรับเปลี่ยนไปสู่พลังงานอื่น ๆ ด้วย อาทิ พลังงานไฮโดรเจน ตลอดจนจะมีการร่วมกับพันธมิตรในการร่วมทุนจัดตั้งโรงงานแบตเตอรี่ลิเทียม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือคาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วเร็วนี้”

ลุยไบโอเบส “มูลค่าสูง”

ธุรกิจไบโอเบส หรือผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ภายใต้การดำเนินงานโดยบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) กำหนดแนวทางและเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนธุรกิจหลักกว่า 70% ของ EBITDA ให้มาจากผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง (High value : HVP) โดยเน้นการรุกขยายธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic Biology หรือ SynBio) เพื่อนำมาออกแบบและสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติตรงตามที่ต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลสุขภาพและความงามของผู้บริโภคสอดรับกับเทรนด์ของโลก เช่น good health and well–being

นอกจากนี้ บริษัทมีแผนต่อยอดการเติบโตในกลุ่มธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อเพลิงอากาศชีวภาพแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel – SAF) สำหรับอุตสาหกรรมการบิน โดยจะเริ่มก่อสร้างโรงงานในปีหน้าด้วยงบฯลงทุน 1 หมื่นล้าน มีแผนจะเริ่มทำตลาดในปี 2567

และในเดือนหน้าบริษัทเตรียมที่จะเปิดตลาดสินค้ากรีนดีเซล (UCOME) ซึ่งได้รับการรับรองเรื่องของคาร์บอนเครดิตออกสู่ตลาดยุโรปลอตแรกทำให้สามารถจำหน่ายได้ในราคาสูงเพราะประเทศที่มีเป้าหมายในเรื่องของการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นสูงจำเป็นจะต้องใช้สินค้านี้จึงมีศักยภาพ

“การวางแผนเติบโตอย่างครอบคลุมในทุกธุรกิจตามแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว จะทำให้ EBITDA ในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) เติบโตถึง 10 เท่า จากระดับเฉลี่ยประมาณ 10,000 ล้านบาท ในช่วงปี พ.ศ. 2558-2563 (ค.ศ. 2015-2020) ในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลระหว่างความมั่นคงทางพลังงานและความยั่งยืนของโลก และแนวทางการพัฒนานวัตกรรมธุรกิจอย่างยั่งยืนไปกับสิ่งแวดล้อมและสังคมที่บางจากฯ ให้ความสำคัญมาตลอด 38 ปี”

บางจาก

ปรับวิสัยทัศน์

พร้อมกันนี้ บางจากฯได้ปรับวิสัยทัศน์ และอัตลักษณ์องค์กรใหม่ใหม่ “รังสรรค์โลกยั่งยืนด้วยนวัตกรรมสีเขียว” หรือ Crafting a sustainable world with Evolving Greenovation เป็นครั้งที่ 4 นับจากที่ปรับมา 1986, 1989, 1994 และ 2017 เพื่อร่วมขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำ มุ่งสร้างสมดุลระหว่างความมั่นคงทางพลังงานควบคู่กับการสร้างความยั่งยืนของโลก

โดยกลุ่มบริษัทบางจากกำลังมุ่งสู่ช่วงเวลาสำคัญครั้งใหม่ที่ท้าทาย ภายใต้เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) โดยมีเป้าหมายแรกคือความ
เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030)

“หลังจากวิกฤตโควิด-19 ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อต้นปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) กลุ่มบริษัทบางจากได้ปรับองค์กรเพื่อความยั่งยืนผ่านแนวคิด 3Rs – Refocus : เร่งสร้างความมั่นคงด้านพลังงานควบคู่กันกับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด Restructure : การปรับองค์กรเพื่อสร้างช่องทางในการเข้าถึงตลาดและลูกค้า และ Reimagine : การใช้โอกาสและเครื่องมือในการลงทุนที่เหมาะสมเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท ส่งผลให้บริษัทมีผลการดำเนินงานที่ดีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 (ค.ศ. 2021)”

“บางจากฯได้มีการปรับเปลี่ยนโลโก้ใหม่ เปรียบเสมือนไบไม้ใหม่ที่เติบโตไม่หยุดนิ่ง แต่บางจากยังคงมีจุดยืนเดิม มีจิตใจดี และมีดีเอ็นเอเดิม”

น้ำมันยังแพง 3 หลัก

อย่างไรก็ตาม ซีอีโอบางจากมองแนวโน้มราคาน้ำมันในปีหน้า โดยอาศัยจากข้อมูลของโกลด์แมน แซกส์ว่าราคาน้ำมันยังมีความผันผวน มีโอกาสที่ราคาน้ำมันจะไป 3 หลัก ผลจาก 3 ปัจจัยคือ สต๊อกน้ำมันเพื่อความมั่นคงลดลง จะเร่งให้มีดีมานด์มากขึ้น ความยืดเยื้อสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้มีการแซงก์ชั่นห้ามซื้อน้ำมันรัสเซีย และผลจากการแพร่ระบาดของโควิดแม้จะทำให้จีนปิดประเทศแต่ก็มีโอกาสที่จะเริ่มกลับมาเปิดประเทศ ทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้น

ส่วนประเด็นที่เศรษฐกิจถดถอยนั้น เรายังมองว่าคู่ค้ายังมีกำลังซื้อ การทำตลาดสินค้าที่มีส่วนช่วยในการมุ่งหน้าสู่เป้า Net Zero ซึ่งเป็นผลิตพรีเมี่ยมราคาสูง จะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะจะไปช่วยลดภาระต้นทุนด้านอื่น ที่ประเทศคู่ค้ามุ่งสู่การลดก๊าซเรือนกระจก

บางจาก