ประยุทธ์ ยัน ไม่ได้เข้าข้างเมียนมา หวังลดการสู้รบ เพราะกระทบไทย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

บิ๊กตู่ ยืนยัน ไทยไม่ได้เอียงข้างเมียนมา หวังลดการสู้รบ เพราะกระทบเศรษฐกิจชายแดนไทย

วันที่ 20 มิถุนายน 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมให้สัมภาษณ์กรณีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ เชิญ รมว.ต่างประเทศของประเทศที่เป็นสมาชิกอาเซียนและนอกอาเซียน มาร่วมพบปะแบบสนทนาอย่างไม่เป็นทางการของกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งในประเทศเมียนมา เพื่อหาทางออกปัญหาสถานการณ์ในเมียนมา เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ว่า ก็รายงานแล้วไม่มีปัญหาอะไร เป็นการประชุมครั้งที่ 3 แล้ว

ซึ่งมีประเทศที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 9 ประเทศ ไม่ใช่ประเทศใด ประเทศหนึ่ง และบางประเทศเขาไม่มา ก็ไม่เป็นอะไร แต่ก็ต้องส่งให้ทราบกันอยู่แล้ว มันไม่ใช่เป็นการไปตกลงอะไรกับใคร แต่เป็นการเดินหน้าการแก้ปัญหาในกรอบอาเซียน ในฐานะที่เราเป็นเพื่อนบ้านติดกัน อาเซียนทุกประเทศก็คาดหวังว่าประเทศไทยจะสามารถแก้ไขปัญหาได้มากที่สุด

แต่อย่าลืมว่าประเทศเราก็มีปัญหาของเราเหมือนกัน ในเรื่องผลประโยชน์ของชาติ และประชาชน วันนี้ถ้าหากติดตามจะเห็นได้ว่าการสู้รบรุนแรงขึ้น เราก็ได้มีการหารือกันว่าจะลดความรุนแรงได้หรือไม่ ในเรื่องการรบตามแนวชายแดน วันนี้มีประชาชนหลายพันคน ที่อยู่ตามแนวชายแดน ที่เข้ามาอยู่ในฝั่งไทย เราก็ดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชน และส่งกลับไปตามความสมัครใจของเขา ซึ่งได้มีการดำเนินการตรงนี้ไปแล้ว

และเรื่องต่อไปที่ต้องดำเนินการ ลดการสู้รบและได้ส่งข้อเสนอ ว่าจะทำอย่างไรที่จะลดการสู้รบให้ได้มากที่สุด โดยขอให้เขาได้พิจารณา เรื่องข้อเสนอต่าง ๆ ที่จะไม่นำไปสู่ ความอลหม่านในอนาคต ซึ่งจำเป็นที่จะต้องพูดคุยกัน ครั้งนี้เป็นการพูดคุยกันเป็นครั้งที่ 3 และย้ำว่าไม่ได้มีการไปตกลงอะไรทั้งสิ้น เพียงแต่เป็นการเสนอแนะแนวปฏิบัติ ก็สุดแล้วแต่ว่าเขาจะนำไปปฏิบัติอย่างไร

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกต ประเทศไทยเอียงไปทางเมียนมา พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ยืนยันว่า ไม่มีการเอียง มันเอียงไม่ได้ เราปฏิบัติตามมติสหประชาชาติไปแล้ว รวมถึงมติของอาเซียน ซึ่งมันยังไม่ก้าวหน้าเราก็ต้องหาวิธีการพูดคุยอย่างอื่น เพิ่มเติมมาซึ่งจะต้องมีการนำเสนอในอาเซียนอยู่แล้ว ไม่ใช่ไปขัดแย้งอะไรกับใคร

เราต้องมองถึงผลประโยชน์ของประเทศด้วย ว่าความเสียหายจะเกิดผลกระทบอะไรกับเราบ้าง ต้องมอง 2 มิติด้วยกัน แต่ความคิดเห็นจากภายนอกเราก็รับฟัง อะไรที่ปฏิบัติได้เราก็ปฏิบัติไปจนครบแล้ว แต่หลังจากนี้จะมีแรงกดดันอะไรเพิ่มมากขึ้น ไปยังเมียนมา เราก็ต้องพยายามลดปัญหาตรงนี้ให้ได้ เพราะมีผลกระทบกับประเทศไทย ในเรื่องการค้าขายชายแดน การข้ามแดน แรงงานแรงงานผิดกฎหมาย

ก็จะทำให้เกิดปัญหาการค้ามนุษย์ตามมา รวมถึงปัญหาอื่น ๆ ที่จะตามมาหากยุติไม่ได้ ซึ่งทุกประเทศที่มาประชุมก็เห็นด้วยว่า ควรจะต้องหารือกัน ในฐานะที่เป็นประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน เพื่อแสวงหาทางออกและนำเข้าไปสู่ที่ประชุมอาเซียนในครั้งต่อไป ทุกรัฐบาลก็ทราบกันดีอยู่แล้ว ว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำ อย่างที่บอกเรารับแรงกดดันสูงมาก ในฐานะที่เรามีชายแดนติดกับประเทศเมียนมากว่า 3,000 กิโลเมตร