วิรไท สันติประภพ : เมื่อโลกเผชิญวิกฤตอาหาร ครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

ดร.วิรไท สันติประภพ
ดร.วิรไท สันติประภพ

โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการขาดแคลนอาหารและสารอาหาร ที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โลกยุคใหม่ และยังมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นอีกในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

นายวิรไท สันติประภพ ได้โพสต์บทความ ผ่านเฟซบุ๊ก Veerathai Santiprabhob เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 ตั้งประเด็นเรื่องโลกกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตการขาดแคลนอาหารและสารอาหาร เพราะมีหลายปัจจัยเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน โดยตั้งชื่อบทความว่า “A hungry world is an unstable world” โดยติด #เศรษฐศาสตร์พเนจร

บทความเริ่มต้นว่า “ในขณะที่เรากังวลว่าสถานการณ์โลกจะขาดเสถียรภาพจากปัญหา geo-politics ที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งของประเทศยักษ์ใหญ่ หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าสังคมโลกอาจจะขาดเสถียรภาพจากปัญหาที่เป็น basic ของชีวิตกว่าเรื่อง geo-politics มาก”

ในขณะนี้โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการขาดแคลนอาหารและสารอาหาร (food and nutrition crisis) ที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โลกยุคใหม่ และยังมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นอีกในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

United Nations World Food Programme (WFP) ประมาณการว่ามีคนเกือบ 830 ล้านคนทั่วโลก (หรือประมาณร้อยละ 10 ของคนทั้งหมดบนโลก) ที่ไม่ทราบว่าอาหารมื้อต่อไปจะมาจากที่ไหน

WFP คาดว่าจะเกิดสภาวะขาดอาหารใน 22 ประเทศ โดยจะมีคนที่อยู่ในสภาวะขาดอาหารถึง 345 ล้านคน เพิ่มขึ้นมากกว่า 200 ล้านคนก่อนที่จะเกิดสถานการณ์โรคระบาด COVID-19

อาจเป็นกราฟิกรูป แผนที่ และ ข้อความพูดว่า "Canada United States America Russian Federation costs oaverage just c change forever. Kazakhstan Mongolia China Japan India Brazil Bolivia hilippines While foodi chnight. achieve timos Hung 200 pledged ' Development step. Australia WFP Hunger Map 2013 Proportion total population undernourished, 2011-13 World Food Programme wfp.org ZERO HUNGER New Zealand 15-24,9%"

วิกฤตรอบนี้ไม่ได้เป็นปัญหาของพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเท่านั้น คนที่ขาดอาหารกระจายอยู่ทุกทวีป อยู่ทั้งในพื้นที่เมืองและชนบท

สาเหตุของวิกฤตมาจากหลายปัจจัยที่เกิดขึ้นพร้อมกัน ตั้งแต่ปัญหาสงครามและความขัดแย้งในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในยูเครนซึ่งเป็นผู้ผลิตธัญพืชและปุ๋ยรายใหญ่ของโลก

สภาวะโลกรวนและการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศรุนแรง ทำให้หลายพื้นที่ในโลกไม่สามารถทำการเกษตรได้เหมือนเดิม และมีแนวโน้มที่จะแปรปรวนมากขึ้นเรื่อย ๆ

เศรษฐกิจมหภาคของหลายประเทศขาดเสถียรภาพ โดยเฉพาะค่าเงินอ่อนค่าลง ส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อสูงมาก โดยเฉพาะราคาอาหาร

ตลอดจนผลกระทบต่อเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ที่ทำให้คนจำนวนมากตกงาน ขาดรายได้ ฐานะทางการเงินติดลบ หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงขึ้นแรง ในหลายประเทศคนติดกับดักหนี้แบบไม่มีทางออก

นอกจากนี้ ฐานะการคลังของรัฐบาลหลายประเทศก็เสื่อมถอยลง รัฐบาลไม่สามารถจัดสวัสดิการดูแลประชาชนได้มากเหมือนที่ผ่านมา

องค์กรระหว่างประเทศที่ช่วยเหลือเรื่องมนุษยธรรมก็ถูกลดงบประมาณลงมาก ไม่สามารถดูแลคนที่หิวโหยได้มากเหมือนเดิม

มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มชะลอตัว ซึ่งหมายถึงโอกาสในการหารายได้ของคนจำนวนมากจะลดลง ในขณะที่ราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้นมาก

ที่สำคัญ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการขาดแคลนอาหารรอบนี้กระแทกประเทศและครัวเรือนยากจน รุนแรงกว่าประเทศและครัวเรือนร่ำรวยหลายเท่านัก

ที่ซ้ำเติมไปกว่านั้นคือ พฤติกรรมของประเทศและครัวเรือนร่ำรวยยังเบียดบังอาหารและวัตถุดิบจำนวนมากไปเพื่อประโยชน์ของตัวเองด้วย เพราะกลัวว่าการขาดแคลนจะรุนแรงขึ้นในอนาคต ส่งผลให้ประเทศและครัวเรือนยากจนเข้าถึงอาหารได้ยากขึ้นไปอีก ปัญหาที่เกิดขึ้นรอบนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงปัญหา food price inflation แต่เป็นปัญหา access to food ด้วย

วิกฤตขาดแคลนอาหารยังส่งผลต่อผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย gender gap in food insecurity ถ่างขึ้นมาก เพราะในหลายสังคม โอกาสของผู้หญิงในการหารายได้และหาอาหารถูกจำกัดด้วยปัจจัยทั้งทางโครงสร้างอาชีพ การศึกษา และวัฒนธรรม

ปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกรอบนี้ เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีผลโดยตรงต่อความหิวโหย ซึ่งหมายถึงการประทังชีวิตของคนจำนวนมาก ไม่ใช่เป็นเพียงเพราะคนรวยรวยเร็วขึ้นกว่าคนจน

จึงไม่น่าแปลกใจที่เราเห็นความขัดแย้งรุนแรงเกิดขึ้นในหลายประเทศ (ทั้งประเทศยากจนและร่ำรวย) เกิดการจลาจลในหลายพื้นที่ คนจำนวนมากทำทุกอย่างที่จะอพยพย้ายถิ่นออกจากประเทศเดิมของตัวเองเพื่อความอยู่รอด

mass migration ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ไม่ใช่เป็นเพราะคนเหล่านั้นต้องการย้ายถิ่นเพื่อหาโอกาสสร้างฐานะการเงินให้ดีขึ้น เร็วขึ้น แต่เป็นเพราะว่าจะไม่มีอะไรกิน ถ้ายังอยู่ต่อในพื้นที่เดิม

ผลที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการขาดแคลนอาหารรอบนี้จะคงอยู่ต่อไปอีกนาน ส่งผลข้ามชั่วอายุคน เพราะมีเด็กอายุน้อยกว่า 5 ขวบกว่า 45 ล้านคนทั่วโลกที่เข้าข่ายขาดแคลนสารอาหารรุนแรง การขาดแคลนสารอาหารของแม่และผู้หญิงวัยรุ่นที่จะเป็นแม่คนต่อไป ก็จะส่งผลต่อพัฒนาการของสมองและร่างกายของเด็กในอนาคตด้วย

คงเป็นเพราะเราโชคดีที่อยู่ในประเทศที่ยังมีน้ำท่าบริบูรณ์ ในน้ำยังพอมีปลา ในนายังพอมีข้าว อยู่ในสังคมที่ยังเอื้ออาทรกัน และเศรษฐกิจมหภาคยังมีเสถียรภาพ จนทำให้เราอาจจะ (ชะล่าใจ) ลืมนึกไปว่า “โลกที่เต็มไปด้วยความหิวโหย จะเป็นโลกที่ขาดเสถียรภาพ”