สิงคโปร์-ฟินแลนด์ ทำไมได้รับยอมรับเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาดี

การศึกษา

ทีดีอาร์ไอ ยกตัวอย่างสิงคโปร์-ฟินแลนด์ ทำไมถึงได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาดี แนะไทยเร่งปรับหลักสูตรให้ทันสมัย พัฒนาคุณภาพครูผู้สอน 

วันที่ 17 ธันวาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับ “ผลสอบ PISA สัญญาณเตือนวิกฤตการศึกษา แก้ปัญหาให้ถูกจุด” โดยได้เปิดงานวิจัยวิเคราะห์ถึงปัญหาระบบการศึกษาไทยว่ากำลังเผชิญปัญหาอะไรบ้าง หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจคือ ทีดีอาร์ไอได้ยกตัวอย่างระบบการศึกษาของสิงคโปร์และฟินแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับว่ามีระบบการศึกษาที่ดี 

โดยนายพงศ์ทัศ วนิชานันท์ นักวิจัยอาวุโสด้านการปฏิรูปการศึกษากล่าวว่า สิงคโปร์และฟินแลนด์เป็นประเทศที่ได้รับการยกย่องว่ามีระบบการศึกษาดี ซึ่งสิงคโปร์จะมีความโดดเด่นในด้านการผลิตครู และพัฒนาบุคลากร ในขณะที่ฟินแลนด์จะโดดเด่นด้านหลักสูตรการเรียนการสอน 

สิงคโปร์

หลักสูตรและการสอน

  • ปรับหลักสูตรและการสอนทุก 6 ปี 
  • เน้นสมรรถนะแห่งศตวรรษที่ 21 
  • จัดการเรียนรู้เฉพาะศาสตร์ แต่มีความพยายามบูรณาการมากขึ้น

ด้านการผลิตและพัฒนาครู

  • มีระบบการผลิตที่เชื่อมโยงกับความต้องการ
  • สนับสนุนคนที่จะมาเป็นครูพิเศษ
  • ตรวจสอบค่าตอบแทนสม่ำเสมอ เพื่อปรับให้แข่งขันกันสูง
  • ประเมินครูต่อเนื่อง เหมาะสมกับเส้นทางวิชาชีพและตำแหน่ง

ฟินแลนด์

หลักสูตรและการสอน

  • หลักสูตรและการสอนปรับทุก 10 ปี 
  • เน้นสมรรถนะผู้เรียน ครูเป็นผู้อำนวยการสอน
  • เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ บูรณาการข้ามศาสตร์ ผ่านการสอน “ใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน”
  • เน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติ เช่น ทักษะวิจัย แนวปฏิบัติทางวิศวกรรมศาสตร์/วิทยาศาสตร์

การผลิตและพัฒนาครู 

  • เป็นครูต้องจบ ป.โท
  • จัดสรรเวลาให้ครูพัฒนาวิชาชีพร่วมกัน 100 ชั่วโมงต่อปี 

นายพงศ์ทัศกล่าวต่อว่า ถึงแม้ 2 ประเทศจะมีความแตกต่างกัน แต่มีจุดร่วมกันคือ ณ ปัจจุบันหลักสูตรมีความทันสมัย มีความพยายามที่จะปรับอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้หลักสูตรมีการอัพเดตอยู่เสมอ ต่อมาคือ มีการออกแบบระบบการผลิตพัฒนาครู เพื่อให้มีความมั่นใจว่าครูสามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม เมื่อดูหลักสูตรไทย เราใช้หลักสูตรแกนกลางมากว่า 15 ปีแล้ว ถึงเวลาที่ควรปรับหลักสูตรให้ทันสมัย และให้ความสำคัญกับการพัฒนาครูผู้สอนมากขึ้น ทั้งการเพิ่มครูผู้สอนให้เพียงพอ และการพัฒนาศักยภาพครู ลดภาระงานต่าง ๆ ให้ครูมีเวลาสอนมากขึ้น เป็นต้น