นักลงทุนจับตาดูการประชุมของธนาคารกลางต่าง ๆ

การลงทุน นักลงทุน

นักลงทุนจับตาดูการประชุมของธนาคารกลางต่าง ๆ

วันที่ 22 มกราคม 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 22 มกราคม 2567

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/01) ที่ระดับ 34.48/49 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (19/01) ที่ระดับ 35.52/53 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับในสัปดาห์ก่อนหน้า เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาในสัปดาห์ก่อนนั้นสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง

ส่งผลให้กรรมการเฟดสาขาต่าง ๆ ปรับลดการคาดการณ์การลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมลง โดยสนับสนุนให้มีการตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับสูงนานกว่าที่คาด จนกว่าจะมั่นใจว่าเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 2%

ทั้งนี้จากข้อมูลของ CME FED Watch Tool พบว่านักลงทุนให้น้ำหนักเพียง 48% ว่าเฟดจะมีการลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนมีนาคม ซึ่งจากเดิมเคยให้น้ำหนักไว้ที่ 76.9% นอกจากนี้ในคืนวันศุกร์ (19/1) ทางมหาวิทยาลัยมิชิแกนได้เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐในเดือนมกราคม ออกมาสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 โดยอยู่ที่ระดับ 78.8 จาก 69.7 ในเดือนธันวาคม

ทั้งนี้ ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจที่สะท้อนความตึงตัวของตลาดแรงงาน รวมถึงตัวเลขยอดค้าปลีกของสหรัฐที่ออกมาดีกว่าที่คาด นอกจากนี้ยังมีตัวเลขยอดขายบ้านมือสองในเดือนธันวาคมออกมาอยู่ที่ 3.78 ล้าน ลดลงจากในเดือนมกราคมที่อยู่ที่ 3.82 ล้าน และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 3.83 ล้าน

ทั้งนี้ ในสัปดาห์นี้เป็นช่วง Blackout Period ที่กรรมการเฟดสาขาต่าง ๆ จะงดออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงิน เนื่องจากในสัปดาห์หน้าวันที่ 31 มกราคมจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน สำหรับปัจจัยในประเทศ ในระหว่างวันค่าเงินบาทกลับมาปรับตัวอย่างอ่อนค่า แตะระดับ 35.67

โดยทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้กล่าวว่าพร้อมที่จะปรับจุดยืนของนโยบายการเงิน หากสถานการณ์เศรษฐกิจไม่เป็นไปตามที่ได้ประเมินไว้ ทั้งนี้ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่าการที่อัตราเงินเฟ้อของไทยติดลบนั้น เป็นเพียงแค่ปัจจัยระยะสั้น

ส่วนทางนักลงทุนคาดการณ์ว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งถัดไป (7/02) ทาง ธปท.จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 2.5% ทั้งนี้ในระหว่างวันบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 35.475/67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.66/67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/01) ที่ระดับ 1.09020/03 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (19/01) ที่ระดับ 1.0882/83 ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ทางด้านนักลงทุนคาดการณ์ว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (25/01) ECB น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม

แต่ทั้งนี้ตลาดจะรอฟังถ้อยแถลงของนางลาการ์ด ประธาน ECB เพื่อรอดูท่าทีการดำเนินนโยบายการเงิน ทั้งนี้ในระหว่างวันยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.0940-1.0968 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0895/96 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/01) ที่ระดับ 147.88/89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (19/01) ที่ระดับ 148.01/09 ตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยในระหว่างวันค่าเงินเยนได้กลับขึ้นไปอ่อนค่าแตะระดับ 148.1 ซึ่งนับเป็นการอ่อนค่ามากที่สุดในรอบเกือบ 2 เดือน เนื่องจากนักลงทุนจับตาดูการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันอังคาร (23/01) นี้

และได้มีการคาดการณ์ว่าทาง BOJ อาจจะยังไม่ปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินจากนโยบายผ่อนคลายแบบพิเศษไปเป็นนโยบายการเงินแบบหดตัว โดยจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ -0.1% ทั้งนี้ทาง BOJ ต้องการให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับมากกว่า 2% อย่างยั่งยืน โดยทาง BOJ ยังคงต้องพิจารณาถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา รวมถึงการเจรจาค่าจ้างประจำปีของญี่ปุ่นที่จะนำไปสู่การขึ้นค่าจ้างราว 4%

ซึ่งหากขึ้นค่าจ้างได้ถึง 4% จริง จะนับว่าเป็นการปรับขึ้นค่าจ้างในอัตราสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2565 โดยทางนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า BOJ จะรอดูข้อมูลการเจรจาค่าจ้างรายปีจนถึงเดือนเมษายน ก่อนที่จะเริ่มอัตราดอกเบี้ย โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 144.94-145.76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 148.10/11 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อจาก S&P (24/01), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายผลิตจาก S&P (24/01), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของสหรัฐ ไตรมาส 4/66 (25/01), ดัชนีราคาใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือน ธ.ค. (25/01), ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน ธ.ค. (25/01), ยอดขายบ้านใหม่เดือน ธ.ค. (25/01)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.5/-9.1 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -5.0/-3.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ