5 จังหวัด นำร่องจับปลาหมอสีคางดำ ลดการแพร่ระบาด ฟื้นสัตว์น้ำพื้นถิ่น

Blackchin tilapia
Blackchin tilapia

5 จังหวัด “สมุทรสาคร-สมุทรสงคราม-สมุทรปราการ-เพชรบุรี-กทม. นำร่องจับปลาหมอสีคางดำ ลดการแพร่ระบาด ฟื้นสัตว์น้ำพื้นถิ่น

วันที่ 20 มีนาคม 2567 จังหวัดสมุทรสงครามและประมงจังหวัด นำร่องเปิดกิจกรรม “ลงแขก ลงคลอง” เดินหน้าจริงจัง ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผนึกกำลังทุกภาคส่วนเริ่มโครงการพิชิตปลาหมอสีคางดำ ในแม่น้ำลำคลองของจังหวัด เพื่อลดการแพร่ระบาดและสนับสนุนการนำไปเพิ่มมูลค่าอย่างเหมาะสม ช่วยฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพทั้งสัตว์น้ำพื้นถิ่นและสมดุลระบบนิเวศ

นายบัณฑิต กุลละวณิชย์ ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม เปิดเผยว่า การเปิดตัวกิจกรรม “ลงแขก ลงคลอง” ในวันนี้ เป็นการเดินหน้าตามโครงการ “ปฏิบัติการล่า ปลาหมอสีคางดำ” ซึ่ง Kick Off ไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 พร้อมกัน 5 จังหวัดนำร่อง คือ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ เพชรบุรี และกรุงเทพมหานคร โดยร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศเป้าหมายในการกำจัดปลาหมอสีคางดำ อย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับกิจกรรมจับปลาของจังหวัดสมุทรสงครามครั้งนี้ เป็นหนึ่งในปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อปกป้องผลผลิตสัตว์น้ำของเกษตรกรและทรัพยากรประมงของประเทศ ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้ เป็นความร่วมมือของหลายภาคส่วน ประกอบด้วย ชาวประมง เกษตรกร ชุมชน และข้าราชการ ในการฟื้นฟูสมดุลสิ่งแวดล้อมในแหล่งน้ำ และเป็นแหล่งอาหารของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน

กิจกรรมในวันนี้ ประกอบด้วยการลากอวนจับปลาหมอสีคางดำในบ่อพักน้ำ บริเวณสระน้ำด้านข้างศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม โดยประมงจังหวัดสมุทรสงคราม มีเป้าหมายในการจัดกิจกรรมนี้เดือนละ 1 ครั้ง ตลอดปี 2567 ควบคู่กับการจัดแสดงนิทรรศการชีววิทยาของปลาหมอสีคางดำ และการชิมอาหารจากการแปรรูปปลาหมอสีคางดำ

“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงวางแผนและกำหนดมาตรการในการควบคุม ป้องกันและแก้ปัญหา การแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำมาอย่างต่อเนื่อง ร่วมถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับสังคมและชุมชน ผ่านกิจกรรมหลายรูปแบบ เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาและลดจำนวนปลาหมอสีคางดำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด” นายบัณฑิตกล่าว

สำหรับแนวทางหลักในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาปลาหมอสีคางดำ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วย 1. การจับปลาด้วยเครื่องมือที่เหมาะสมกับพื้นที่ ทั้งอวนล้อม อวนลาก และทอดแห 2. การปล่อยปลานักล่า เช่น ปลากะพง 3. สนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่า 4. นำไปทำปลาป่น เป็นอาหารสัตว์

ที่ผ่านมา ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม มีการจัดกิจกรรมหลายรูปแบบ เพื่อฟื้นฟูแหล่งน้ำและช่วยเหลือเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อ เช่น การปล่อยปลากะพงขาว ปลาอีกง และมอบกากชา เพื่อกำจัดปลาหมอสีคางดำ ตลอดจนมีการแนะนำให้ใช้เครื่องมือประมงอย่างเหมาะสมในการจับปลาแต่ละพื้นที่ทั้งทอดแหและลากอวน โดยดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561-ปัจจุบัน

นายบัณฑิต กล่าวว่า กรมประมงยังได้หาแนวทางในการนำปลาหมอสีคางดำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ปลาแดดเดียว น้ำปลา ผงคลุกข้าวแบบญี่ปุ่น ปุ๋ยน้ำ และเมนูอาหารหลายชนิด รวมถึงอาหารทานเล่น อาทิ ไส้อั่ว ปั้นขลิบ ข้าวเกรียบ ปลาแผ่นบด เป็นต้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นรายได้ให้กับเกษตรกรและคนในชุมชน รวมถึงประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ สร้างความเข้าใจแก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องในการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ตามเป้าหมายการกำจัดปริมาณปลาหมอสีคางดำ