คอลัมน์ จัตุรัสนักลงทุน โดย ภาคภูมิ ศิริหงษ์ทอง
“เราจะประเมินผู้บริหารได้อย่างไร ?” เป็นคำถามที่ผมเจอบ่อยที่สุดคำถามหนึ่งเวลาไปบรรยายเรื่องการลงทุน แต่คำตอบที่ผมให้มักจะไม่ค่อยครอบคลุม เพราะปัจจัยเชิง “คุณภาพ” เป็นอะไรที่ไม่ตายตัว ต้องอาศัยประสบการณ์เพื่อหาข้อสรุป ผมโชคดีมากที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนหลายร้อยบริษัท ทั้งในไทยและต่างประเทศ ผมเห็นลักษณะคล้าย ๆ กันของผู้บริหารที่โดดเด่นเป็น “ขวัญใจ” ของนักลงทุน ซึ่งผู้บริหารเหล่านี้ก็มักจะทำให้บริษัท “โดดเด่น” และมีมูลค่าสูงกว่าบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน
1) เติบโตอย่างมีวิสัยทัศน์ บริษัทแต่ละบริษัทอาจอยู่ใน “วงจรการเติบโต” ที่แตกต่างกัน ถ้าบริษัทยังอยู่ในช่วงเติบโต หรือเลือกที่จะขยายธุรกิจในอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต คอยมองหา S-Curve ใหม่ ๆ อยู่ตลอด ก็จะทำให้ผลประกอบการมี “ลมหนุน” อย่างต่อเนื่อง ถ้าการแข่งขันไม่ได้รุนแรงมากก็ยังจะสามารถประคับประคองผลประกอบการให้เพิ่มขึ้นได้ แบบไม่เหนื่อยมาก
แต่สำหรับบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรม “ตะวันตกดิน” ก็จำเป็นต้อง “ดิ้น” ธุรกิจเดิมเจอทางตันก็พยายามจะเปลี่ยน แต่บางครั้งเป็นการดิ้นแบบไม่มีวิสัยทัศน์ เช่น ธุรกิจเดิมมีอัตรากำไรที่ดี มีความได้เปรียบในการแข่งขันอยู่แล้ว แต่กลับไปขยายธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิม ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญ เพื่อสร้าง “Story” ให้กับนักลงทุน อย่างกลุ่มธุรกิจพลังงานทางเลือกซึ่งหลายบริษัทก็ไม่ได้มีพื้นฐานหรือความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจมาก่อนเจอแบบนี้ นักลงทุนก็ควรจะระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะในที่สุดการขยายธุรกิจแบบนี้ จะเป็นการทำลายมูลค่าของธุรกิจในระยะยาว
2) รักษาสมดุลระหว่างกำไรระยะสั้นและแผนการเติบโตในระยะยาว
ผู้บริหารเก่ง ๆ ที่มีวิสัยทัศน์มักจะเตรียมแผนการเติบโตของบริษัทไว้ล่วงหน้า 5-10 ปี แต่บางครั้งการเติบโตระยะยาวต้องอาศัยเงินลงทุนจำนวนมาก ซึ่งอาจจะส่งผลเชิงลบต่อผลประกอบการในระยะสั้น เช่น การลงทุนในระบบไอที การสร้างโรงงานใหม่เพื่อรองรับการเติบโต การใช้เงินลงทุนไปกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ การขยายตลาดไปยังต่างประเทศ
อย่างไรก็ตามหลายบริษัทลงทุนแบบ “เกินตัว” เช่น บริษัทกำไรปีละ 30 ล้านบาท แต่ไปลงระบบไอทีมูลค่า 300 ล้านบาท ถ้าสมมุติว่าตัดค่าเสื่อม 10 ปี เท่ากับว่ากำไรของบริษัทจะหายไปไม่เหลือเลยจากการลงระบบไอทีเพียงครั้งเดียว ถึงอาจจะเป็นผลดีต่อบริษัทในระยะยาว แต่ก็อาจจะสุดโต่งเกินไป และมีผลต่อราคาหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ
แต่ในกรณีแบบนี้บางครั้งผู้บริหารแก้เกมโดยการเลือกที่จะรับผิดชอบต่อผลประกอบการในระยะสั้นด้วยตัวเองตัวอย่างเช่น บริษัทเครื่องดื่มแห่งหนึ่งมีแผนจะขยายไปประเทศจีน ซึ่งช่วงแรกต้องใช้งบฯในการโฆษณาและส่งเสริมการขายจำนวนมาก ทำให้บริษัทย่อยขาดทุนหนัก ผู้บริหารจึงตัดสินใจใช้เงินลงทุนส่วนตัวลงทุนก่อน และค่อยขายบริษัทคืนให้ในอนาคต ถ้าสุดท้ายแล้วราคาที่ขายคืนไม่ได้แพงเกินไป ก็ถือว่าเป็นดีลที่ดีมาก ๆ สำหรับผู้ถือหุ้นทุกท่าน
3) มองที่กำไรต่อหุ้น หลาย ๆ บริษัทมองแต่ยอดขาย อยากจะเติบโต อยากจะได้มาร์เก็ตแชร์ อยากจะเป็นเบอร์ 1 แต่ต้องแลกมากับการห้ำหั่นทางราคาที่สุดท้ายแล้วก็เสียผลประโยชน์กันทุกฝ่าย ผู้บริหารแบบนี้ไม่เข้าใจว่าราคาหุ้นจะสะท้อนตามกำไรต่อหุ้น (Earning Per Share) ไม่ใช่ยอดขาย ถึงแม้บางครั้งการแย่งมาร์เก็ตแชร์เพื่อให้ได้ Economy of Scale หรือเพื่อกำจัดคู่แข่งเป็นสิ่งจำเป็น แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ควรจะใช้ในการทำธุรกิจในระยะยาว
ในอีกมุมหนึ่ง หลายบริษัทอยากจะทำให้กำไรสุทธิเติบโต โดยการเข้าไปซื้อกิจการ ลงทุนขยายกำลังการผลิต โดยไม่พิจารณาผลตอบแทนของโครงการให้ดี ทำไปแล้วกำไรสุทธิเติบโต แต่ไม่คุ้มกับเงินลงทุน บางครั้งก็ต้องเพิ่มทุน จำนวนหุ้นก็เพิ่มขึ้นมาก ทำให้กำไรต่อหุ้นลดลง ในทางกลับกัน ผมจะชอบมาก ๆ เวลาผู้บริหารพูดว่า “ผมไม่สนใจยอดขาย ผมสนแค่กำไร (ต่อหุ้น)” ใจตรงกันแบบนี้ ชอบ !
อย่างไรก็ตามผู้บริหารที่จะเป็น “ขวัญใจ” ของนักลงทุนได้ นอกจากจะต้องมีกลยุทธ์การเติบโต ที่จะช่วยให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมั่นคงแล้ว ยังจำเป็นต้องมีทัศนคติ แนวคิด และการสื่อสารให้กับนักลงทุนอย่างตรงไปตรงมา ในบทความตอนหน้าผมจะเขียนถึงคุณสมบัติที่จำเป็นอีก 3 ข้อ ที่จะช่วยให้นักลงทุนสามารถเลือกผู้บริหารที่นักลงทุนสามารถฝากอนาคตไว้ได้ อย่าลืมติดตามกันครับ