ค่าเงินบาทแข็งค่า ตลาดจับตาเจรจาประเด็นการค้าจีน-สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวสะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/8) ที่ 33.19/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/8) ที่ 33.26/27 บาท/ดอลลาร์ โดยค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าจากความคาดหวังว่าสถานการณ์ตึงเครียดทางการค้าของสหรัฐ-จีนจะผ่อนคลายลงเนื่องจากเจ้าหน้าที่จีนกับสหรัฐจะมีการหารือประเด็นการค้ากันที่กรุงวอชิงตันสัปดาห์นี้ จึงทำให้ความต้องการดอลลาร์ของนักลงทุนลดลง โดยตลาดคาดว่าการหารือครั้งนี้อาจจะปูทางไปสู่การประชุมสุดยอดระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนในเดือน พ.ย. นอกจากนี้นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และผู้นำธนาคารกลางคนอื่น ๆ จะประชุมกันที่อุทยานแห่งชาติแกรนด์ เทตัน ในเขตแจ็กสันโฮล
ในรัฐไวโอมิงในสัปดาห์นี้ โดยนายพาวเวลล์วางแผนจะหารือเรื่องต้นเหตุของภาวะอัตราเงินเฟ้อต่ำเป็นเวลายาวนาน, การที่ค่าแรงปรับขึ้นอย่างเชื่องช้า และประสิทธิภาพการผลิตที่ขยับขึ้นอย่างเฉื่อยชา โดยปัจจัยเหล่านี้ถ่วงการเติบโตทางเศรษฐกิจในสหรัฐและประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศมานานหลายปี ซึ่งการประชุมครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในการประชุมทางเศรษฐกิจที่ได้รับความสนใจจากตลาดเป็นอย่างมาก โดยวันศุกร์ที่ผ่านมาเฟดสาขาแคนซัส ซิตี้ได้เปิดเผยหัวข้อที่จะหารือกัน หัวข้อดังกล่าวรวมถึงประเด็นที่ว่า การที่ตลาดกระจุกตัวกันมากยิ่งขึ้นในอุตสาหกรรมหลายประเภท อาจจะส่งผลให้ประสิทธิภาพการผลิตและค่าแรงชะลอการเติบโตลง นอกจากนี้นายพาวเวลล์จะกล่าวถึงนโยบายเศรษฐกิจในช่วงเช้าวันศุกร์ที่ 24 ส.ค. ในส่วนของปัจจัยในประเทศ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์รายงานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ในไตรมาส 2/61 ขยายตัว 4.6% จากตลาดคาดเติบโต 4.4% ส่งผลให้ครึ่งปีแรก GDP ขยายตัวที่ 4.8% เนื่องจากการบริโภคเอกชนและการลงทุนรวมขยายตัวเร่งขึ้น รวมทั้งการส่งออกขยายตัวในเกณฑ์สูง การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง ด้านการผลิต ภาคเกษตร ขายส่งขายปลีกขยายตัวในเกณฑ์สูงและเร่งตัวขึ้น ขณะที่สภาพัฒน์ยังคงตัวเลขคาดการณ์ GDP ทั้งปีไว้ที่ 4.2-4.7% แต่ได้มีการปรับตัวเลขคาดการณ์การส่งออกเป็นขยายตัว 10% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 8.9% ส่วนนำเข้าคาดเติบโตได้ 15.4% จากเดิมคาด 12.7% แต่ปรับลดคาดการณ์การใช้จ่ายภาครัฐลงทั้งการบริโภคและการลงทุน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.03-33.21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.05/06 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (20/8) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1433/34 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/8) ที่ 1.1379/78 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรได้รับแรงกดดันจากความกังวลว่าวิกฤตตุรกีอาจจะสร้างความเสียหายต่อธนาคารยุโรป และสหรัฐอาจจะดำเนินมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมต่อตุรกี นอกจากนี้ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เปิดเผยว่า ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของ
ยูโรโซนยังคงไม่เปลี่ยนแปลงที่ระดับ 2.4 หมื่นล้านยูโรในเดือน มิ.ย. ขณะที่ยอดเกินดุลสินค้า และบริการไม่เปลี่ยนแปลงจากข้อมูลในเดือน พ.ค. ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของยูโรโซนในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.6% ของจีพีดี จาก 3.2% ในรอบ 12 เดือนจนถึงเดือน มิ.ย.ปีที่แล้ว ขณะที่อีซีบีคาดว่ายอดเกินดุลการค้าจะลดลง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1412-1.1441 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1405/08 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนวันนี้ (20/8) เปิดตลาดที่ระดับ 110.46/47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (17/8) ที่ระดับ 110.52/53 เยน/ดอลลาร์ หลังจากที่การร่วงลงของค่าเงินลีราของตุรกีได้เพิ่มแรงซื้อเยน ในวันนี้ความเชื่อมั่นต่อสินทรัพย์เสี่ยงฟื้นตัวขึ้นหลังข่าวที่ว่าจีนและสหรัฐจะจัดการเจรจาการค้าระดับล่างในสัปดาห์นี้ ซึ่งทำให้มีความหวังว่าสถานการณ์ทางการค้าจะลดความตึงเครียดลง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.42-111.68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.64/66 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (23/8), ยอดขายบ้านใหม่เดือน ก.ค. (23/8), ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน ก.ค. (24/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.60/-2.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3.20/-2.70 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ