ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น หลังแถลงเฟดมั่นใจขึ้นดอกเบี้ยเดือน ก.ย.

ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/8) ที่ระดับ 32.77/79 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (22/8) ที่ระดับ 32.71/72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้น หลังจากเมื่อคืนที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้มีการเปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 31 กรกฎาคม-1 ส.ค.ที่ 2561 โดยในรายงานการประชุมได้ระบุว่าคณะกรรมการเฟดหลายท่านได้ส่งสัญญาณว่าเฟดมีความพร้อมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายนหรือในการประชุมที่จะถึงนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐยังคงขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง แต่ทั้งนี้เฟดได้ระบุเพิ่มเติมว่า สำหรับเป้าหมายในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเฟดนั้น เฟดจะต้องพิจารณาถึงสภาพเศรษฐกิจเป็นหลัก เช่น การพิจารณาถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างยั่งยืน, ภาวะตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งขึ้น และอัตราเงินเฟ้อที่เคลื่อนตัวเข้าสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% และสำหรับข้อพิพาทการค้าที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น เฟดก็ได้แสดงความเห็นว่าในข้อพิพาทดังกล่าวอาจจะส่งผลให้เฟดต้องทบทวนถึงแผนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต เนื่องจากหากข้อพิพาทดังกล่าวยังคงยืดเยื้อต่อไป ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในภาคธุรกิจ, การใช้จ่ายด้านการลงทุนและการจ้างงาน อีกทั้งมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าอาจจะส่งผลให้อำนาจซื้อของภาคครัวเรือนสหรัฐลดน้อยลงและจะทำให้ผลกระทบนี้ลุกลามไปยังภาคส่วนอื่น ๆ รวมถึงประสิทธิภาพด้านการผลิตและห่วงโซ่อุปทานอีกด้วย แต่ทั้งนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงถูกกดดันจากปัญหาการเมืองของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หลังจากที่ทนายของนายไมเคิล โคเฮน อดีตทนายความของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ยอมสารภาพผิดในคดีอาญาทั้ง 8 คดี ซึ่งรวมถึงคดีฉ้อโกงเงิน, การหนีภาษีและคดีโกงเงินธนาคาร รวมถึงมีข้อมูลที่บ่งชี้ว่านายโคเฮนได้มีการจ่ายเงินให้กับสตรอมี เดเนียลส์ เพื่อเป้นค่าปิดปากเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับประธานาธิบดีทรัมป์

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ได้เปิดเผยเมื่อคืนที่ผ่านมาสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) ได้เปิดเผย ตัวเลขยอดขายบ้านมือสอง ประจำเดือนกรกฎาคม ลดลง 0.7% สู่ระดับ 5.34 ล้านยูนิต โดยลดลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันและเป็นการปรับตัวลงของยอดขายบ้านที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 2556 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.76-32.83 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.79/81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (23/8) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1570/72 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (22/8) ที่ระดับ 1.1587/89 เนื่องจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้น พร้อมทั้งวันนี้ได้มีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมของยุโรป ประจำเดือนสิงหาคม อยู่ที่ระดับ 54.6 ลดลงจากระดับ 55.1 ในเดือนกรกฎาคม และสำหรับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ อยู่ที่ระดับ 54.4 เช่นเดียวกับเดือนกรกฎาคม ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1540-1.1599 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1554/56 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (23/8) เปิดตลาดที่ระดับ 110.75/77 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (22/8) ที่ระดับ 110.27/28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมทั้งวันนี้ได้มีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม ประจำเดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 52.5 จากระดับ 52.4 ในเดือนกรกฎาคม ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.50-110.92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.85/87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (23/8) ยอดขายบ้านใหม่เดือนกรกฎาคม (23/8) ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนกรกฎาคม (24/8) ดัชนีผู้จัดการฝ่า่ยจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นเดือนสิงหาคมจากมาร์กิต (23/8) แถลงการณ์ของพาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (24/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.70/-2.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดืิอนต่างประเทศอยู่ที่ -6.20/-5.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ