เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องหลังผลประชุม กนง.ในขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมเฟดในสัปดาห์หน้า

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/9) ที่ระดับ 32.33/35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (19/9) ที่ระดับ 32.43/45 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าเมื่อวานนี้ (19/9) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านในเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้น 9.2% มาอยู่ที่ระดับ 1.282 ล้านยูนิตในเดือนสิงหาคม จากระดับ 1.174 ล้านยูนิตในเดือนกรกฎาคม มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.235 ล้านยูนิตในเดือนสิงหาคม

เงินบาทปรับตัวแข็งค่าต่อเนื่องหลังมติคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 5: 2 ที่ให้คงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5% โดยนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมองเป็นการส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ยังคงมีประเด็นเรื่องสงครามการค้าที่ต้องจับตาหลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนวงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์ โดยเรียกเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มอีก 10% เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายนนี้ และจะเพิ่มเป็น 25% ในช่วงต้นปี 2562 ในขณะที่รัฐบาลจีน ตอบโต้ด้วยการประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐในอัตราภาษี 5-10% คิดเป็นวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 กันยายนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม นักลงทุนจับตาประเด็นความคืบหน้าเกี่ยวกับสถานการณ์ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน รวมถึงการประชุมเฟดในวันที่ 25-26 กันยายนนี้ ในขณะที่ตลาดการเงินคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมครั้งนี้ ก่อนที่จะปรับขึ้นอีกครั้งในการประชุมเดือนธันวาคม หลังจากที่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมและมิถุนายน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.34-32.40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.39/41 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (20/9) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1682/84 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (19/9) ที่ระดับ 1.1698/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร นายโดนัลด์ ทัสค์ ประธานคณะมนตรียุโรปเปิดเผยว่า จะจัดประชุมสุดยอดเพื่อหารือในประเด็นที่อังกฤษถอนตัวจากสหรัฐยุโรป (Brexit) ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้สหภาพยุโรป (EU) สามารถบรรลุข้อตกลงในประเด็นต่าง ๆ กับอังกฤษ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1675-1.708 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1701/04 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (20/9) เปิดตลาดที่ระดับ 112.28/30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (19/9) ที่ระดับ 112.31/33 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่นเมื่อวานนี้ (19/9) ว่า “นโยบายกีดกันการค้าไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อประเทศต่าง ๆ ที่ทำสงครามการค้าต่อกันและกันเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ผ่านทางห่วงโซ่อุปทาน เราจึงจับตาดูสถานการณ์ดังกล่าวด้วยความกังวล” ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 112.08-112.28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 112.22/25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (20/9) ยอดขายบ้านมือสอง เดือนสิงหาคม (20/9) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการของฝรั่งเศส เยอรมนี และยุโรป (21/9) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการขั้นต้นเดือนกันยายนจากมาร์กิต (21/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -3.20/-3.1 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -5.85/-5.15 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ