พระสันตะปาปาห่วงผู้อพยพ วอนทุกประเทศแก้ปัญหาที่ผลักให้ประชาชนต้องอพยพลี้ภัย

Pope Francis and his cousin Sister Ana Rosa Sivori arrive at Government House in Bangkok, Thailand, November 21, 2019. REUTERS/Jorge Silva

พระนาม “ฟรังซิส” ของนักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซีผู้ก่อตั้งคณะนักบวชฟรังซิสกัน ผู้ถือความสมถะ สนใจและเอาใจใส่ผู้ด้อยโอกาส ส่งเสริมสันติภาพ และรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่พระคาร์ดินัลฮอร์เก้เลือกให้พระองค์เองเมื่อจะขึ้นรับตำแหน่ง “พระสันตะปาปา” เมื่อปี ค.ศ. 2013 นั้น บ่งบอกมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า สมเด็จพระสันตะปาปาลำดับที่ 266 แห่งศาสนจักรโรมันคาทอลิกพระองค์นี้ทรงเล็งเห็นความสำคัญของเพื่อนมนุษย์ คนด้อยโอกาส และส่งเสริมสันติภาพ

ในระหว่างที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสเสด็จเยือนประเทศไทย และทรงมีพระดำรัสกับคณะบุคคลต่าง ๆ ประเด็นหนึ่งที่พระองค์ทรงเน้นย้ำให้ความสำคัญคือประเด็น “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ซึ่งมีประเด็นย่อย ๆ อีกหลายประเด็น

ประเด็นย่อยประเด็นหนึ่งที่ทรงมีพระดำรัสยาวที่สุด เมื่อประทานพระดำรัสแก่นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี คณะทูตานุทูต ผู้นำบริหารบ้านเมือง ผู้นำศาสนา และแขกผู้มีเกียรติในทำเนียบรัฐบาลไทย เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คือ ประเด็นเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย ซึ่งมีความตอนหนึ่งในพระดำรัสว่า

“…ผืนแผ่นดินของท่านได้ชื่อว่าเป็นแผ่นดินไทย คือแผ่นดินแห่งอิสรภาพ เราทราบกันดีแล้วว่า อิสรภาพจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถที่จะเติมเต็มความรับผิดชอบที่เรามีต่อกันและกัน เพื่อเอาชนะความไม่เท่าเทียมทุกรูปแบบ เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องพยายามให้ประชาชนทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา อาชีพการงาน และความช่วยเหลือด้านสุขภาพ เพื่อที่จะสามารถบรรลุถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่สมบูรณ์และยั่งยืน

ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ข้าพเจ้าขอกล่าวสั้น ๆ เกี่ยวกับเรื่องของผู้อพยพ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ในปัจจุบัน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การอพยพย้ายถิ่นฐาน แต่อยู่ที่สถานการณ์อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการอพยพย้ายถิ่น ซึ่งเป็นปัญหาด้านจริยธรรมที่สำคัญยิ่งในยุคสมัยของเรา เราไม่สามารถปฏิเสธวิกฤตการณ์ปัญหาผู้อพยพ วิกฤตการณ์นี้ไม่สามารถมองข้ามได้ ประเทศไทยเองเคยเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงว่าเป็นประเทศที่ต้อนรับผู้อพยพ โดยเฉพาะบรรดาผู้ต้องหลบหนีอย่างน่าเศร้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ข้าพเจ้าขอวิงวอนให้ประชาคมระหว่างประเทศดำเนินการด้วยความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาที่ผลักดันให้ประชาชนต้องหลบหนีออกจากประเทศของตน และส่งเสริมให้มีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย มีการจัดการและมีการควบคุม

ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกประเทศจะจัดตั้งกลไกที่มีประสิทธิภาพในการปกป้องสิทธิและศักดิ์ศรีของบรรดาผู้ย้ายถิ่นและผู้อพยพ ผู้ซึ่งต้องเผชิญภยันตราย ความไม่แน่นอน และการถูกเอารัดเอาเปรียบในการที่เขาแสวงหาเสรีภาพและชีวิตที่มีศักดิ์ศรีสำหรับครอบครัวตัวของตน พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงผู้อพยพ หากแต่ยังสะท้อนภาพลักษณ์ของสังคมของเราทุกคนด้วย เรื่องนี้ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงบรรดาสตรีและเด็กในยุคของเราที่ต้องเผชิญกับความรุนแรง การถูกเอารัดเอาเปรียบ และการถูกบังคับให้ทำงานเยี่ยงทาสในหลากหลายรูปแบบ

ข้าพเจ้าขอชื่นชมรัฐบาลไทย รวมทั้งบุคคลและองค์กรที่ได้ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อแก้ไขปัญหาอันน่าเศร้าใจ และเปิดหนทางแห่งการดำเนินชีวิตที่มีศักดิ์ศรีแก่บุคคลเหล่านี้…”