ค่ายเกมยักษ์ใหญ่เปิดศึก แอปเปิล-กูเกิล ต่อรอง “ลดค่าต๋ง”

This illustration picture shows a person logging into Epic Games' Fortnite on their smartphone in Los Angeles on August 14, 2020. - Apple and Google on August 13, 2020 pulled video game sensation Fortnite from their mobile app shops after its maker Epic Games released an update that dodges revenue sharing with the tech giants. (Photo by Chris DELMAS / AFP)

การผูกขาดตลาดระบบปฏิบัติการบนสมาร์ทโฟนของ “แอปเปิล” และ “กูเกิล” ส่งผลให้ผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นทั้งหมดต้องพึ่งพา “แอปสโตร์” และ “กูเกิลเพลย์” เพื่อเป็นตัวกลางในการเข้าถึงผู้ใช้งาน ทำให้ “แอปเปิล” และ “กูเกิล” สามารถเก็บค่าต๋งจากผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นได้มาก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอำนาจต่อรองของผู้พัฒนาแอปก็เริ่มเพิ่มขึ้น จนเริ่มท้าทายโครงสร้างการผูกขาดดังกล่าว

“อินเตอร์แนชันแนล ดาต้า คอร์เปอร์เรชั่น” (ไอดีซี) บริษัทวิจัยประเมินว่า ระบบปฏิบัติการ “แอนดรอยด์” ของกูเกิล มีส่วนแบ่งตลาดราว 86%

ขณะที่ “ไอโอเอส” ของแอปเปิล มีส่วนแบ่งประมาณ 14% ซึ่งการผูกขาดตลาดระบบปฏิบัติการทำให้ “แอปสโตร์” และ “กูเกิลเพลย์” ผูกขาดแพลตฟอร์มซึ่งเป็นตัวกลางการกระจายแอปพลิเคชั่นจากหลายผู้พัฒนาสู่ผู้บริโภคไปโดยปริยาย ส่งผลให้ผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นจะต้องจ่าย “ค่าต๋ง” ที่สูงลิ่วจากรายได้ที่ผู้บริโภคใช้จ่ายสำหรับสินค้าและบริการบนแอปพลิเคชั่นสัดส่วนถึง 30% ให้กับเจ้าของระบบปฏิบัติการ

“เซนเซอร์ ทาวเวอร์” ผู้ให้บริการข้อมูลธุรกิจเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตระบุว่า ในปี 2019 ค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคบนแอปพลิเคชั่นมีมูลค่ามากกว่า 83,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นยอดใช้จ่ายผ่าน “แอปสโตร์” สูงถึง 61,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และใช้จ่ายผ่าน “กูเกิลเพลย์” ราว 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแอปเปิลและกูเกิลเป็นเสือนอนกินส่วนแบ่งจากเจ้าของแอป 30% จากเงินเหล่านี้

และเมื่อ 13 ส.ค. 2020 “เอปิก เกมส์” (Epic Games) บริษัทผู้พัฒนาเกมยอดนิยมบนสมาร์ทโฟนอย่าง “ฟอร์ตไนต์” ได้ท้าทายโครงสร้างผูกขาดดังกล่าว ด้วยการเปิดช่องทางให้ผู้ใช้เล่นเกม “ฟอร์ตไนต์” สามารถชำระเงินซื้อตัวละครและไอเทมโดยไม่ต้องผ่าน “แอปสโตร์” และ “กูเกิลเพลย์” ส่งผลให้ “เอปิก เกมส์” สามารถเก็บรายได้จากผู้เล่น ไม่ต้องเสียค่าต๋ง ขณะที่ “แอปเปิล” และ “กูเกิล” ก็ตอบโต้กลับ โดยการลบ “ฟอร์ตไนต์” ออกจากแอปสโตร์และกูเกิลเพลย์

“ซีเอ็นเอ็น” ชี้ว่าการกระทำของ “เอปิก เกมส์” เป็นการเปิดสงครามกับ “แอปเปิล” และ “กูเกิล” ซึ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อโครงสร้างตลาดและท้าทายการผูกขาดการเป็นตัวกลางระหว่างผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นกับผู้บริโภค ไม่เพียงเท่านี้ “เอปิก เกมส์” ยังได้ฟ้องร้อง “แอปเปิล” และ “กูเกิล” ในข้อหาการละเมิดกฎหมายการห้ามการผูกขาดของสหรัฐอีกด้วย ซึ่งจากการเปิดสงครามที่นำไปสู่การฟ้องร้องครั้งนี้ มีแนวโน้มสูงที่ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีทั้ง 2 ราย จะต้องเปลี่ยนโมเดลธุรกิจเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นมากขึ้น

แม้ว่าการถอดแอป “ฟอร์ตไนต์” จะมีสาเหตุจากการผิดกฎการชำระเงินบนแอปสโตร์ของ “เอปิกฯ” แต่ “จอห์น เบิร์กเมเยอร์” ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของ “พับลิก โนว์เลดจ์” องค์กรเอ็นจีโอด้านสิทธิผู้บริโภคจากวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าวว่า ในการพิจารณาคดีต่อต้านการผูกขาดนั้น ศาลจะพิจารณาประเด็น “การแข่งขัน” เป็นองค์ประกอบหลัก ซึ่งการเก็บค่าต๋งที่สูงถึง 30% อาจถูกตีความว่าเป็นการปิดกั้นการแข่งขันก็เป็นได้

เช่น กรณีของ “สปอติฟาย” ซึ่ง “ดาเนียล แอ็ก” ซีอีโอแอปพลิเคชั่นฟังเพลงรายใหญ่ชี้ว่า การถูกเก็บค่าต๋ง 30% ส่งผลให้บริษัทไม่สามารถแข่งขันกับ “แอปเปิลมิวสิก” ได้ ซึ่งนับว่าเป็นการปิดกั้นการแข่งขัน จนทำให้คณะกรรมาธิการยุโรปต้องเปิดการไต่สวนต่อกรณีนี้เมื่อปีที่ผ่านมา

“สันดีป วาฮีซัน” ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของ “โอเพ่น มาร์เก็ต อินสติตูต” (Open Market Institute) ชี้ว่า หาก “เอปิก เกมส์” ได้รับชัยชนะครั้งนี้ ทางศาลก็อาจจะออกคำสั่งให้แอปพลิเคชั่นต่าง ๆ สามารถพัฒนาช่องทางการชำระเงินของตนได้เอง ซึ่งส่งผลให้ผู้พัฒนาเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องแบ่งรายได้จากการให้บริการให้กับ “แอปเปิล” และ “กูเกิล” ขณะที่ “เจฟฟรีย์ บลูมฟิลด์” จาก “Lowenstein Sandler” บริษัทที่ปรึกษากฎหมายชื่อดังจากนิวยอร์ก มองว่า การเก็บค่าบริการเป็นสิทธิของเจ้าของแพลตฟอร์ม ดังนั้นการเก็บค่าบริการ 30% จากรายได้ของแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ โดย “แอปเปิล” และ “กูเกิล” จึงไม่เป็นความผิด

อย่างไรก็ตาม “ซีเอ็นบีซี” รายงานว่า ถึงแม้ศาลอาจจะตัดสินให้ “แอปเปิล” และ “กูเกิล” ได้รับชัยชนะ แต่ก็อาจจะทำให้แอปพลิเคชั่นทั้งหลายมีอำนาจต่อรองจากฐานผู้ใช้งานจำนวนมาก ซึ่งในส่วนของ “ฟอร์ตไนต์” ซึ่งมีผู้เล่นกว่า 350 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งภายหลังเกมถูกลบออกจากแอปสโตร์ ทาง “เอปิกฯ” ก็ได้เปิดสงครามแย่งชิงมวลชน โดยการกล่าวหาว่า “แอปเปิล” เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ใช้งานไอโฟนไม่สามารถเล่นเกมดังกล่าวได้ ซึ่งหากแฟนคลับของ “ฟอร์ตไนต์” เลิกใช้ “ไอโฟน” ก็จะส่งผลกระทบกับแอปเปิล

ทว่าเกมแย่งชิงมวลชนเป็นสิ่งอันตรายที่อาจหวนกลับมาทำลาย “เอปิกฯ” เองได้ ซึ่งจากข้อมูลของ “เซนเซอร์ ทาวเวอร์” ระบุว่า ปกติผู้เล่น “ฟอร์ตไนต์” จะซื้อไอเทมและตัวละครในเกมผ่าน “แอปสโตร์” ราว 43 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน แต่ซื้อผ่าน “กูเกิลเพลย์สโตร์” เพียง 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ดังนั้นดูเหมือนว่าผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นรายนี้จะมุ่งเปิดศึกการแย่งมวลชนกับแอปเปิลเป็นหลัก

นอกจากนี้ ผู้พัฒนาอีกหลายเจ้าอย่าง “สปอติฟาย” รวมถึงบริษัทอย่าง “แมตช์ กรุ๊ปส์” เจ้าของแอปพลิเคชั่นนัดเดตอย่าง “ทินเดอร์” ก็ออกประกาศสนับสนุน “เอปิก เกมส์” เช่นกัน ซึ่งหากผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นยอดนิยมที่มีผู้ใช้งานจำนวนมหาศาลรวมตัวกันก็จะยิ่งเพิ่มอำนาจต่อรองมากขึ้น ก็จะเป็นแรงกดดันให้ “แอปเปิล” และ “กูเกิล” อาจถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลงบางอย่าง