พันธะโค้งสุดท้าย คสช. เร่งคลอดกฎหมายปราบโกง

พันธะข้อหนึ่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เข้าควบคุมอำนาจเมื่อ 3 ปีที่แล้ว คือ เซตซีโร่กติกา-เขียนโครงสร้างการ “จับ” ทุจริตขึ้นใหม่

เป็นพันธะที่ผูกโยงมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 35 ที่ให้หากลไกป้องกันการทุจริต

เป็นพันธะต่อเนื่องถึงการเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 ที่จะต้องเขียนรัฐธรรมนูญให้มีกลไกป้องกันการทุจริต

เป็นพันธะต่อฝ่ายนิติบัญญัติที่จะต้องออกกฎหมายที่ป้องกันการทุจริตในอนาคต

วาระทุจริต กลายเป็นวาระ “ธง” ของ คสช. ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา สนช.ออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการทุจริตมากมาย เช่น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 มีเนื้อหาสำคัญ อาทิ กำหนดฐานความผิดเฉพาะนิติบุคคลที่ให้สินบนเจ้าหน้าที่ กำหนดหลักการริบทรัพย์ให้มีประสิทธิภาพ กำหนดอายุความโดยมิให้นับอายุความ หากมีการหลบหนีในคดีทุจริต พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ 2559

ยกระดับแผนกคดีทุจริตในศาลอาญา ให้เป็นศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ มีนักการเมืองระดับชาติที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษแล้ว 1 คน  คือ “ยงยุทธ วิชัยดิษฐ” อดีตรองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย จากกรณีสนามกอล์ฟอัลไพน์

พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558 สาระสำคัญ คือ กำหนดมาตรการควบคุมและตรวจสอบ เกี่ยวกับการนำเงินตราออกไปนอกหรือเข้ามาในประเทศ, กำหนดให้ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการควบคุมแลกเปลี่ยนเงินตรา ซึ่งมิใช่สถาบันการเงิน มีหน้าที่รายงานธุรกรรมต่อสำนักงาน ปปง.

พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 สาระสำคัญ ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่หรือเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการจัดซื้อจัด จ้าง โดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายต้องโทษจำคุก 1-10 ปี

ส่วนกฎหมายที่ยังเป็นเพียง “ร่าง” ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เช่น ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการทำผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วน บุคคลกับผลประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. ….  มีชื่อเล่นว่า “กฎหมาย 4 ชั่วโคตร” มีเป้าหมายป้องกันทุจริต ปมนโยบาย ข้อมูลภายในรัฐ อนุมัติโครงการ เอื้อเครือญาติ

ยังไม่นับร่างกฎหมายที่เพิ่งจะผ่านคณะรัฐมนตรี ไปสด ๆ ร้อน ๆ คือ ร่างพระราชบัญญัติการส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านการทุจริตและ ประพฤติมิชอบ พ.ศ. …. สาระสำคัญ คือ จะต้องมีคณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ มีหน้าที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการต่อต้านทุจริต และร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฉบับที่ พ.ศ. …. ที่ยังอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

แน่นอนว่าในปลายปี 2560 ต่อปี 2561 แม่น้ำ คสช.ทั้งองคาพยพจะเร่งผลิตกฎหมายปราบโกง ก่อนถึงมือนักการเมือง