WTO ชี้ “วัคซีน-มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ” หนุนการค้าโลกปี’64 ฟื้นตัว 8%

เงินบาท-เศรษฐกิจไทย

WTO ชี้ ‘วัคซีน-มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วโลก ’ หนุนคาดการณ์การค้าโลกปี 2564 ฟื้นตัว 8% ส่วนภาคบริการยังน่าห่วง เสี่ยงหดตัว 63% จับตา ‘หนี้สาธารณะ-ขาดดุลงบ’ ปัยจัยเสี่ยงระยะกลาง พร้อมคาดการณ์ส่งออกไทยฟื้น อานิสงส์พาณิชย์ลุยเปิด mini-FTA

นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก กล่าวว่า องค์การการค้าโลกหรือ WTO ได้แถลงผลการคาดการณ์การค้าโลกล่าสุดว่า การค้าสินค้าโลกจะขยายตัวที่ 8% ในปี 2564 แต่จะขยายตัวที่ 4%ในปี 2565 ซึ่งเป็นการฟื้นตัวต่อเนื่องจากกลางปี 2563 ที่รวมทั้งปีแล้วหดตัว 5.3%

โดยปัจจัยที่สำคัญของปี 2564 นี้มาจาก ผลกระทบจากโรคโควิด-19 การฟื้นตัวในแต่ละภูมิภาคที่ไม่เท่ากัน ภาคบริการที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก และการฉีดวัคซีนในประเทศต่าง ๆ ที่ไม่พร้อมกัน

นอกจากนี้แล้ว WTO ยังคาดการณ์ว่า GDP โลกจะขยายตัวที่ 5.1% ในปี 2564 และ 3.8% ในปี 2565 ราคาน้ำมันที่หดตัวทำให้การค้าสินค้าพลังงานหดตัวถึง 35%ในปี 2564 และการค้าบริการหดตัว 63% ในปี 2564 เช่นกันโดยยังไม่มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวเร็วเนื่องจากโรคโควิด (ภาคบริการใหญ่ที่สุดคือ การท่องเที่ยว การขนส่ง ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรง)

สำหรับปัจจัยสำคัญในระยะสั้นคือ การเข้าถึงวัคซีนของประเทศต่าง ๆ การผลิตและการกระจายวัคซีน และการระบาดระลอกใหม่หรือการมีไวรัสสายพันธุ์ใหม่แพร่กระจาย

ส่วนปัจจัยที่น่ากังวลในระยะกลางและระยะยาวคือ หนี้สาธารณะ และนโยบายงบประมาณขาดดุลของหลายประเทศ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของการค้าโลกในช่วงต่อไปได้ หากมีการผลิตวัคซีนที่เพียงพอและประเทศต่าง ๆ เข้าถึงวัคซีนได้เร็วก็จะเพิ่มการเติบโตของ GDP โลกได้ถึง 1 % และการค้าสินค้าโลกขยายตัวเพิ่มได้ถึง 2.5 % และอาจทำให้ปริมาณการค้าโลกกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิดได้ในช่วงปลายปี 2564 แต่หากวัคซีนไม่มีพอก็คงจะยังไม่ฟื้นตัวได้ดี”

นางพิมพ์ชนกกล่าวเพิ่มเติมว่า ในภาพรวมของปี 2563 การค้าสินค้าโลกหดตัว 5.3 % ซึ่งน้อยกว่าที่ WTO คาดการณ์ไว้เมื่อตุลาคม 2563 โดยเป็นผลจากการฟื้นตัวที่ดีขึ้นในปลายปีจากความสำเร็จของการผลิตวัคซีนที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อภาคธุรกิจและผู้บริโภค ประกอบกับรัฐบาลประเทศต่าง ๆ มีนโยบายแทรกแซงและพยุงตลาด/เศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง มาตรการเหล่านี้ช่วยเพิ่มรายได้ครัวเรือนและสนับสนุนการใช้จ่ายและการนำเข้าสินค้าจากประเทศต่าง ๆ

นอกจากนี้ ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนก็มีวิธีเรียนรู้ปรับตัวรองรับมาตรการด้านสุขภาพที่ออกมา และการบริหารจัดการโรคระบาดที่หลายประเทศโดยเฉพาะจีนและประเทศในเอเชียทำได้ดี มีส่วนทำให้การนำเข้าของประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ผลกระทบจากโรคโควิด-19 ทำให้การค้าสินค้าของภูมิภาคต่าง ๆ ลดลงอย่างมาก ยกเว้นในเอเชียที่การส่งออกขยายตัว 0.3% และการนำเข้าติดลบเพียง 1.3%

ส่วนภูมิภาคที่พึ่งพาการส่งออกทรัพยากรธรรมชาติและน้ำมันต้องประสบปัญหาการนำเข้าหดตัวอย่างมาก เช่นอาฟริกา (-8.8%) อเมริกาใต้ (-9.3%) และตะวันออกกลาง (-11.3%) เนื่องจากรายได้จากการส่งออกน้ำมันที่ลดลง ทำให้มีความต้องการนำเข้าสินค้าในประเทศลดลง

ในปี 2564 นี้ คาดว่าการค้าโลกจะมีส่วนขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ที่น่าจะสร้างอุปสงค์การนำเข้า 11.4% ของโลก ยุโรปและอเมริการใต้น่าจะมีการนำเข้าเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ส่วนประเทศที่น่าจะส่งออกได้ดีจะเป็นประเทศในเอเชีย โดยคาดว่าการส่งออกของประเทศกลุ่มนี้จะขยายตัวที่ 8.4% ส่วนการส่งออกของยุโรป และอเมริกาเหนือจะขยายตัวที่ 8.3% และ 7.7% ตามลำดับ

สำหรับประเทศแอฟริกาและตะวันออกกลางการส่งออกจะอิงอยู่ที่การขยายตัวของการท่องเที่ยวโลกและการผลิตต่าง ๆ ที่จะทำให้อุปสงค์การบริโภคน้ำมันและแร่ธาตุเพิ่มขึ้น

จากข้อมูลของ WTO พบว่า ในไตรมาส 2 ของปี 2563 การส่งออกโลกในหลายภูมิภาคหดตัวอย่างมาก เช่น อเมริกาเหนือ (-25.8%) และยุโรป (-20.4%) แต่เอเชียติดลบที่ -7.2% เท่านั้น และในไตรมาสที่ 4 สามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้ที่ 7.7% จากเหตุผลที่ประเทศในเอเชียได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อยกว่าภูมิภาคอื่นและเป็นกลุ่มประเทศที่ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่โลกต้องการ รวมทั้งสินค้ากลุ่มสุขภาพ เวชภัณฑ์ทั้งหลายอีกด้วย

ในด้านกลุ่มสินค้า การค้าโลกในสินค้าเหล็กหดตัว 17 % ในไตรมาส 3 ของปี 2563 และหดตัวน้อยลงที่ 2% ในไตรมาส 4 ซึ่งไปสะท้อนในการผลิตรถยนต์และวัสดุก่อสร้างด้วย สินค้ากลุ่มสิ่งทอเสื้อผ้าฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4 เช่นกัน

สำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รวมทั้งคอมพิวเตอร์ขยายตัว12% ในครึ่งหลังปี 2563 และจะขยายตัวดีขึ้นในปี 2564 นี้ ตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ยังคงต้องทำงานจากที่บ้าน (Work from Home)

ในด้านภาคบริการ การท่องเที่ยวและขนส่งหดตัวที่ 63% และ 19 % ตามลำดับในปี 2563 แต่ภาคการเงินและบริการอื่น ๆ หดตัวเพียง 2% ส่วนบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตสินค้าหดตัว 13%

นางพิมพ์ชนกกล่าวถึงอันดับของประเทศไทยในหมู่ประเทศส่งออกและนำเข้าว่า ปี 2563 ไทยเป็นผู้ส่งออกลำดับที่ 25 ของโลก มีสัดส่วนการส่งออกที่ 1.3% คิดเป็นมูลค่า 231 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยการส่งออกหดตัว 6% และเป็นผู้นำเข้าอันดับที่ 25 ของโลกเช่นกัน มีสัดส่วนการนำเข้าที่ 1.2% คิดเป็นมูลค่า 207 พันล้านเหรียญฯ โดยการนำเข้าหดตัว 12%

สำหรับประเทศผู้ส่งออกอันดับ 1-3 ของโลก ได้แก่ จีน (สัดส่วน 14.7% 2,591 พันล้านเหรียญฯ) สหรัฐฯ (8.1% 1,432 พันล้านเหรียญฯ) และเยอรมนี (7.8% 1,380 พันล้านเหรียญฯ) ผู้ส่งออกในกลุ่มอาเซียนที่สำคัญ ได้แก่ สิงคโปร์ (ลำดับที่ 14 สัดส่วน 2.1%) เวียดนาม (ลำดับที่ 20 สัดส่วน 1.6%) มาเลเซีย (ลำดับที่ 24 สัดส่วน 1.3%) และไทย (ลำดับที่ 25 สัดส่วน 1.3%)

ในด้านภาคบริการ ปี 2563 ไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 30 มีสัดส่วนการส่งออกบริการที่ 0.6% คิดเป็นมูลค่า 31 พันล้านเหรียญฯ และเป็นผู้นำเข้าอันดับที่ 24 มีสัดส่วนการนำเข้าที่ 0.9% คิดเป็นมูลค่า 44 พันล้านเหรียญฯ

โดยประเทศผู้ส่งออกภาคบริการอันดับ 1-3 ในโลก ได้แก่ สหรัฐฯ (สัดส่วน 13.6% 669 พันล้านเหรียญฯ) สหราชอาณาจักร (สัดส่วน 6.7% 330 พันล้านเหรียญฯ) และเยอรมนี (สัดส่วน 6.2% 305 พันล้านเหรียญฯ) ส่วนผู้นำเข้าบริการอันดับ 1-3 ของโลก ได้แก่ สหรัฐฯ (สัดส่วน 9.3% 434 พันล้านเหรียญฯ) จีน (สัดส่วน 8.1% 378 พันล้านเหรียญฯ) และไอร์แลนด์ (สัดส่วน 6.6% 309 พันล้านเหรียญฯ)

นางพิมพ์ชนกกล่าวสรุปว่า การค้าโลกและการส่งออกในปี 2564 นี้น่าจะฟื้นตัวได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะหากมีวัคซีนกระจายให้ประเทศต่าง ๆ ฉีดให้ประชาชนได้อย่างทั่วถึงรวดเร็ว ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวด้วย

ทั้งนี้ ประเทศในเอเชียที่บริหารจัดการโควิด-19 ได้ดี อยู่ในกลุ่มที่จะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างมากเพราะสามารถผลิตสินค้าที่เป็นที่ต้องการของประเทศต่าง ๆ ได้ รวมทั้งมีเครื่องจักรเศรษฐกิจใหญ่เช่นจีนที่มีการนำเข้าและการผลิตมาช่วยหมุนการค้าในภูมิภาคด้วย

ส่วนตลาดส่งออกสำคัญก็ยังน่าจะเป็นตลาดอเมริกาเหนือและตลาดเอเชียด้วยกัน ดังนั้น นโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่มุ่งเน้นการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศสมาชิก RCEP และการจัดทำ Mini-FTA กับมณฑลไห่หนานของจีน และจะเพิ่มเติมกับแคว้น/จังหวัดในเกาหลีและอินเดียต่อไป

ถือว่าเป็นนโยบายที่จะรองรับการฟื้นตัวของการค้าและการส่งออกโลกได้อย่างตรงเป้าหมายในปี 2564 นี้