ฟิทช์ คงเครดิต “เมืองไทยประกันชีวิต” A- สะท้อนการเงินแกร่ง-แนวโน้มเสถียรภาพ

ฟิทช์ เรทติ้งส์” คงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน “เมืองไทยประกันชีวิต”ที่ A- แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

วันที่ 9 เมษายน 2564 ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศปรับแนวโน้มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากล (Insurer Financial Strength Rating: IFS Rating) ของบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ MTL เป็นแนวโน้มมีเสถียรภาพจากแนวโน้มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเป็นลบ และประกาศคงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากลที่ A- (หรืออยู่ในระดับ “แข็งแกร่ง”)

พร้อมกันนี้ ฟิทช์ปรับแนวโน้มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศ (National IFS Rating) เป็นแนวโน้มมีเสถียรภาพจากแนวโน้มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเป็นลบ และคงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศที่ AAA(tha)

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิตคือ การปรับแนวโน้มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเป็นมีเสถียรภาพนั้น สะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ที่ MTL จะสามารถรักษาผลประกอบการให้มีเสถียรภาพและรักษาความแข็งแกร่งของระดับเงินกองทุน เนื่องจากบริษัทให้ความสำคัญกับอัตรากำไรและนโยบายการลงทุนที่อยู่ในเกณฑ์ดี

โดยฟิทช์คาดว่า MTL จะมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าผลการประมาณการจากแบบจำลองภายใต้สมมติฐานของฟิทช์ ในกรณีผลกระทบรุนแรงจากการแพร่ระบาดโควิดในปี 2563 ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานหลักในการปรับแนวโน้มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเป็นลบในช่วงปีก่อน ทั้งนี้ฟิทช์คาดว่า ความสามารถในการทำกำไรและระดับเงินกองทุนของ MTL นั้น จะยังคงอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินในปัจจุบัน

การคงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากลและอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศของ MTL สะท้อนถึงโครงสร้างธุรกิจประกันชีวิตและระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง รวมถึงผลประกอบการที่ดี ถึงแม้ว่าจะมีความเสี่ยงด้านการลงทุนที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย และมีการเติบโตของเบี้ยประกันที่ชะลอตัวลง

ฟิทช์มีความเห็นว่า โครงสร้างธุรกิจประกันชีวิตของ MTL อยู่ในระดับแข็งแรงเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรม MTL มีเครือข่ายทางธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดขนาดใหญ่ และได้รับการสนับสนุนด้านการดำเนินงานและด้านเทคนิคจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือ ธนาคารกสิกรไทย (อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว(Long term Issuer Default Rating): BBB/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) และ Ageas Insurance International N.V. (อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว: A/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ)

ทั้งนี้ MTL มีการกระจายตัวของโครงสร้างธุรกิจที่ดี ทั้งในด้านผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ครอบคลุม และฐานลูกค้าภายในประเทศ รวมถึงช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลาย

ฟิทช์เชื่อว่า MTL จะสามารถดำรงระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่งซึ่งจะช่วยเป็นกันชนและรองรับผลกระทบจากความเสี่ยงด้านลบ โดยบริษัทมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฏหมายที่ 309% (สิ้นไตรมาส 3/63) ซึ่งฟิทช์คาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนที่มีนัยสำคัญ อีกทั้งยังมีสัดส่วนหนี้สินจากการสัญญาประกันภัยต่อส่วนทุน (Operating Leverage) อยู่ในเกณฑ์ทรงตัวที่ 7 เท่า ซึ่งดีกว่าระดับคาดการณ์ของฟิทช์สำหรับบริษัทประกันชีวิตที่มีอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากลที่ระดับ ‘A’

ทั้งนี้ระดับเงินกองทุนของบริษัทตามแบบจำลอง Prism Model ของฟิทช์ ซึ่งประเมินจากข้อมูลทางการเงิน ณ สิ้นไตรมาส 3/63 ยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่ง (Strong) ถึงแม้จะมีสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มมากขึ้น

ฟิทช์คาดว่า MTL จะยังคงมีนโยบายลงทุนอย่างระมัดระวังและมีการควบคุมการลงทุนที่ดีอย่างต่อเนื่อง ความเสี่ยงด้านการลงทุนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนและ และตราสารหนี้ภาคเอกชน เพื่อรักษาผลตอบแทนโดยรวม แต่โครงสร้างเงินลงทุนโดยรวมยังคงอยู่ในระดับดี โดยการลงทุนในตราสารหนี้อยู่ที่ระดับ 80% ของเงินลงทุนรวม (สิ้นไตรมาส 3/63) ฟิทช์คาดว่าโครงสร้างความเสี่ยงจากการลงทุนของบริษัทจะไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในระยะกลาง

ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ คาดว่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่อ่อนแอ่ลงในปี 62 จากอัตราการกำไรของผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นจากกลยุทธ์ปรับราคาในช่วงเวลาที่เหมาะสม และโครงสร้างผลิตภัณฑ์รวมที่ดีขึ้น แต่จะถูกลดทอนด้วยการเติบโตของธุรกิจเบี้ยประกันใหม่ที่อยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตามอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เฉลี่ยในช่วงปี 59-62 ของบริษัททรงตัวที่ประมาณ 2.1% ซึ่งสะท้อนถึงความสามารถในการทำกำไรที่อยู่ในเกณฑ์ดี และสูงกว่าระดับคาดการณ์ของฟิทช์สำหรับบริษัทประกันชีวิตที่มีอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากลที่ระดับ A

อย่างไรก็ดี สำหรับปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต คือ ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากล/ (IFS Rating)/อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศ (National IFS Rating)

– การปรับตัวลดลงของสัดส่วนเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (RBC) มาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 280% และการปรับตัวแย่ลงของระดับเงินกองทุนของบริษัทซึ่งวัดจากแบบจำลอง Prism Model ของฟิทช์ เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง

– การปรับตัวลดลงของความสามารถในการทำกำไร ซึ่งสะท้อนจากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์ที่ต่ำกว่า 1% เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากล (IFS Rating)

– การปรับตัวเพิ่มขึ้นของระดับเงินกองทุนของ MTL ซึ่งวัดจากแบบจำลอง Prism Model ของฟิทช์ ให้อยู่ในระดับแข็งแกร่ง (Strong) ได้อย่างต่อเนื่อง และ

– บริษัทมีขนาดของธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นและมีการกระจายความเสี่ยงของธุรกิจ (business diversification) ที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในด้านผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมหลากหลายประเภทธุรกิจมากขึ้น ด้านการกระจายตัวเชิงภูมิศาสตร์ที่ดีขึ้น และช่องทางการขายมีความหลากหลาย

อัตราความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศ (National IFS Rating)

– อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศของ MTL ไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้อีก เนื่องจากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศที่อยู่ในอันดับเครดิตที่สูงที่สุดแล้ว

การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)

ระดับคะแนนที่สูงที่สุดสำหรับความสัมพันธ์ของ ESG ต่ออันดับเครดิต (หากมีการเปิดเผย) แสดงว่าระดับคะแนนจะอยู่ที่ระดับ 3 ซึ่งหมายความว่าปัจจัยด้าน ESG จะไม่ส่งผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบในระดับที่น้อยมากต่ออันดับเครดิตของธนาคาร ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยจากลักษณะของธุรกิจหรือจากการบริหารจัดการของธนาคารก็ตามสาหรับรายละเอียดเพิ่มเติมหาได้จาก www.fitchratings.com/esg