วัคซีนเศรษฐกิจช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ต้านไม่ให้คนจนพุ่งขึ้นเป็น 11 ล้านคน

คอลัมน์ : เช้านี้ที่ซอยอารีย์ 

พงศ์นคร โภชากรณ์ ([email protected])

 

รายงานความยากจนและความเหลื่อมล้ำปี 2563 ที่เพิ่งออกมาสด ๆ ร้อน ๆ ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ฯ ระบุว่า จำนวนคนจนในปี 2563 อยู่ที่ 4.75 ล้านคน เพิ่มจาก
ปี 2562 ที่อยู่ที่ 4.33 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นราว ๆ 4.3 แสนคน ทำให้สัดส่วนคนจนต่อประชากรขยับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.2 เป็นร้อยละ 6.8 ซึ่งเป็นผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 อย่างไม่ต้องสงสัย

เมื่อแยกเป็นกลุ่มจนมาก (ระดับรายจ่ายต่ำกว่าเส้นความยากจนเกินกว่าร้อยละ 20) และกลุ่มจนน้อย (ระดับรายจ่ายต่ำกว่าเส้นความยากจนไม่เกินร้อยละ 20) พบว่า กลุ่มจนมากมีจำนวนเพิ่มขึ้น 3.3 แสนคน หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงร้อยละ 25.8

ขณะที่กลุ่มจนน้อยมีจำนวนเพิ่มขึ้น 0.9 แสนคน หรือเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3.0 เท่านั้น แปลว่า ยิ่งจนมาก ยิ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มาก และเมื่อแยกเป็นพื้นที่ จะพบว่า คนจนส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน ภาคใต้ และภาคเหนือ เป็นสำคัญ

ในช่วงปี 2563 ประเทศไทยเผชิญวิกฤติโควิด-19 ยาวนานถึง 11 เดือน มีการออกมาตรการและโครงการต่าง ๆ มากมายเพื่อเยียวยาผลกระทบ บรรเทาภาระค่าครองชีพ และเพิ่มกำลังซื้อ เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกัน (กระทรวงการคลัง 15.3 ล้านคน) โครงการเยียวยาเกษตรกร (กระทรวงเกษตรฯ 7.6 ล้านคน) โครงการเยียวยากลุ่มเปราะบาง (กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ 6.7 ล้านคน) โครงการเยียวยาผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือของ 3 กระทรวงข้างต้น (1 ล้านคน) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (กระทรวงการคลัง 13.6 ล้านคน) เป็นต้น

ทำให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐเฉลี่ย 13,473 บาทต่อคนต่อปี หรือเฉลี่ยเดือนละ 1,123 บาทต่อคนต่อเดือน หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 40 ของเส้นความยากจนในปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 2,762 บาทต่อคนต่อเดือน

หากไม่มีมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวคาดการณ์ว่า จำนวนคนจนในปี 2563 จะกระโดดไปอยู่ที่ 11 ล้านคน หรือเพิ่มจากปี 2562 กว่า 6 ล้านคน สูงกว่าจำนวนคนจนที่เพิ่มหลังวิกฤติต้มยำกุ้งผ่านพ้นไปในปี 2543 เมื่อเทียบกับก่อนวิกฤติที่เพิ่มขึ้นประมาณ 5.5 ล้านคน

ดังนั้น โครงการเยียวยาและเพิ่มกำลังซื้อต่าง ๆ นี่เอง เปรียบเสมือน “วัคซีนเศรษฐกิจ” สร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้จำนวนคนจนพุ่งสูงขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จของรัฐบาลในเรื่องการดูแลคนจน และสอดคล้องกับรายงานของธนาคารโลกที่ออกมาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564

อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอดูตัวเลขจำนวนคนจนของปี 2564 ด้วยจึงจะเห็นภาพผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งหมด

(บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด)