โอมิครอน สายพันธุ์ BA.5 แพร่เร็ว ติดซ้ำได้ สหรัฐฯพบมากกว่า 80%

โควิด โอมิครอน สายพันธุ์
REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

องค์การอนามัยโลกเตือนโลกกำลัง ‘เล่นกับไฟ’ ชี้ BA.5 ไวรัสสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน แพร่กระจายเร็ว แนะเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นลดเสี่ยง สหรัฐฯ ประเมินติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่แล้วมากกว่า 80% 

วันที่ 18  กรกฎาคม 2565 รอยเตอร์เผยแพร่รายงานพิเศษเรื่องทำความเข้าใจไวรัสโอมิครอน สายพันธุ์ BA.5 ตัวการทำให้เกิดการติดเชื้อโควิดระลอกใหม่ทั่วโลก โดยระบุว่า สายพันธุ์ BA.5 เป็นส่วนหนึ่งของโอมิครอน ซึ่งเป็นไวรัสกลายพันธุ์ตัวล่าสุดที่ทำให้เกิดการติดเชื้อครั้งใหม่ ทั่วโลก

โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ตั้งแต่เดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ BA.5 แล้ว 52% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากอัตราระดับ 37% ที่พบไวรัสสายพันธุ์นี้ในสัปดาห์แรก และคาดว่า ในสหรัฐอเมริกาจะมีการติดเชื้อด้วยไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้แล้วประมาณ 65%

อย่างไรก็ดี โอมิครอน สายพันธุ์ BA.5 ไม่ใช่สิ่งใหม่ เนื่องจากมีการค้นพบไวรัสตัวนี้มาตั้งแต่เดือน ม.ค. ที่ผ่านมา และองค์การอนามัยโลกได้ติดตามพัฒนาการของไวรัสมาตั้งแต่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา

หลังจากพบว่า BA.5 เป็นสายพันธุ์พี่น้องกับไวรัสโอมิครอนที่แพร่กระจายไปทั่วโลก ตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค. 2564 ส่งผลให้มีอัตราการติดเชื้อทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง แม้กระทั่งในประเทศที่ลดการตรวจหาเชื้อลง ทั้งในแอฟริกาที่พบไวรัสนี้เป็นแห่งแรก รวมถึงในสหราชอาณาจักร และบางส่วนของยุโรป และออสเตรเลีย

ข้อมูลจากองค์กรอนามัยโลกยังได้ระบุว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสทั่วโลกได้เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 4 สัปดาห์เเล้ว

เช่นเดียวกับสายพันธุ์ใกล้เคียง อย่าง BA.4 องค์การอนามัยโลก พบว่า สายพันธุ์ BA.5 สามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นจากวัคซีนหรือการติดเชื้อก่อนหน้าได้ดีเป็นพิเศษ

มาเรีย ฟาน เคอร์โคฟ หัวหน้าฝ่ายเทคนิกโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก กล่าวในเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า BA.5 มีความได้เปรียบในการเติบโตเหนือสายพันธุ์ย่อยอื่น ๆ ที่ยังคงวนเวียนปัจจุบัน

สำหรับผู้คนจำนวนมาก นี่หมายถึงพวกเขากำลังจะต้องติดเชื้อซ้ำ ถึงแม้จะเป็นระยะเวลาสั้น ๆ หลังจากที่ได้ติดเชื้อไปแล้ว และทำให้องค์การอนามัยโลกต้องวิเคราะห์ประเมินรายงานการติดเชื้อซ้ำอยู่ในขณะนี้

“เรามีหลักฐานเพียงพอว่าผู้ที่ได้ติดเชื้อโอมิครอนไปแล้วนั้นกำลังติดเชื้อ BA.5 ซ้ำอีกอย่างไม่ต้องสงสัย” เกรโกรี โปแลน นักไวรัสวิทยาและนักวิจัยวัคซีนประจำคลินิคมาโย เมืองโรเชสเตอร์ รัฐมินนิโซตา กล่าว

“ถ้านั่นกำลังดูปกติในตอนนี้ มันอาจเป็นเพราะผู้คนมากมายได้ติดเชื้อโอมิครอนแล้ว” นักวิจัยหลายคนชี้

ในขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นได้ส่งผลให้มีการเข้ารักษาในสถานพยาบาลเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ อัตราการเสียชีวิตนั้นไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นมากนัก

สาเหตุส่วนใหญ่เป็นเพราะแม้อาจไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ แต่วัคซีนยังคงป้องกันอาการเจ็บป่วยรุนเเรงและการเสียชีวิต ซึ่งทั้งผู้ผลิตและหน่วยงานที่กำกับดูเเลกำลังมองหาวัคซีนเฉพาะ ที่ปรับเเต่งขึ้นเพื่อให้โจมตีโอมิครอนสายพันธุ์ใหม่เหล่านี้ได้โดยตรง

มาเรีย ฟาน เคอร์โคฟ เน้นย้ำด้วยว่านอกจากยังไม่มีหลักฐานว่า BA.5 มีอันตรายสูงกว่าเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์สายพันธุ์อื่น ๆ อย่างไร แม้ว่าการติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นจะทำให้ระบบสาธารณสุขต้องตกอยู่ภายใต้ภาวะกดดันเเละทำให้ผู้คนจำนวนมากเสี่ยงที่จะได้รับภาวะลองโควิด

องค์กรอนามัยโลกเเละผู้เชี่ยวชาญอื่น ๆ ยังกล่าวด้วยว่าวิกฤตโรคระบาดที่กำลังดำเนินอยู่นี้ ถูกยื้อจากความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงวัคซีนเเละความต้องการในหลายประเทศที่จะก้าวข้ามเหตุการณ์โควิด-19 ซึ่งมีแต่จะนำไปสู่การเกิดขึ้นของสายพันธุ์ย่อยใหม่ ๆ ที่ยากจะคาดเดา มากขึ้นอีก

นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังมุ่งความสนใจไปที่ไวรัสสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 ที่ถูกพบครั้งเเรกในอินเดีย ซึ่งยังมีการกลายพันธุ์เป็นจำนวนมากและได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว

องค์กรอนามัยโลกระบุไว้เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า วิกฤตการระบาดนั้นยังคงถือเป็นภัยฉุกเฉินทางสาธารณสุขของโลก และประเทศต่าง ๆ ควรพิจารณามาตรการทางสาธารณสุขเช่นการสวมหน้ากากเเละเว้นระยะห่างเมื่อมีการติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น ควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีน

“สิ่งที่ผู้คนไม่เข้าใจเป็นหลัก คือเมื่อมีระดับการเเพร่กระจายของเชื้อที่สูงในแหล่งชุมชน ไวรัสจะกลายพันธุ์” เกรโกรี โปแลน กล่าวและว่า “ใครจะรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป เรากำลังเล่นกับไฟ”

ปัจจุบันผู้ติดเชื้อมากกว่า 80% คือ BA.4 และ BA.5

ขณะที่ รายงานข่าวจาก เอ็นบีซี นิวส์ ระบุว่า ขณะนี้เชื้อไวรัสสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.4 และ BA.5 เป็นเชื้อหลักกว่า 80% ที่ได้เเพร่กระจายในปัจจุบัน

กระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐฯ ก็กำลังเร่งให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น รวมถึงได้มีการเร่งผลิตวัคซีนรูปแบบใหม่ เพื่อใช้ป้องกันสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ให้สามารถใช้ได้ภายในฤดูใบไม้ร่วงปีนี้

พร้อมกับเร่งให้ประชาชนเข้ารับการฉีควัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันโดยเร็วที่สุด เพราะยังเหลือเวลาอีกกว่า 4 เดือน โดยเเนะนำให้ผู้ใหญ่ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นจำนวน 2 เข็ม เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงจากภาวะเเทรกซ้อน และเเนะนำให้ใช้วัคซีนในตระกูล mRNA

ขณะที่คนในอายุวัย 18-49 ปี ควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นหนึ่งเข็ม หลังจากการฉีดเข็มปกติเป็นระยะเวลา 5 เดือน ส่วนเด็กและวัยรุ่นในช่วงอายุ 5-17 ปี ควรได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เฉพาะในกรณีที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ครบเเล้วทั้ง 2 เข็ม

แต่หากได้ฉีดวัคซีน mRNA แล้วยังไม่มีความจำเป็นต้องรับวัคซีนเข็มกระตุ้น รวมถึงผู้ที่เคยได้รับเชื้อมาเเล้วก็ควรเข้ารับการฉีดเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กวัยเรียนที่กำลังจะต้องกลับเข้าสู่โรงเรียนในช่วงเปิดเทอม

โดยศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐฯ หรือ CDC ระบุว่า วัคซีนที่ฉีดในปัจจุบันถูกพัฒนาขึ้นเพื่อต่อสู้กับไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์เดิม แต่เมื่อไวรัสกลายพันธุ์ มันก็พัฒนาตัวเองมากขึ้นมากขึ้นเพื่อข้ามกำแพงภูมิคุ้มกันที่เราสร้างขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อก่อนหน้า หรือ จากการรับการฉีดวัคซีน หรือจากทั้ง 2 อย่าง

เมื่อสถานการณ์ปัจจุบันมีคนในสหรัฐฯ มากกว่า 80% ติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 และการฉีดวัคซีนในปัจจุบันไม่ได้ป้องกันสายพันธุ์ใหม่นี้ ซึ่งก็พบรายงานการติดเชื้อเพิ่มขึ้นและการติดเชื้อซ้ำอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญจึงย้ำว่า การฉีดวัคซีนสำคัญ ในแง่จะช่วยลดความเสี่ยงที่ผู้ติดเชื้อจะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากไวรัสได้