จับตาคู่ชิงหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม ‘ซูนัค-ทรัส’ สู่ตำแหน่งนายกฯ อังกฤษ

ริชิ ซูนัค และ ลิซ ทรูส
ริชิ ซูนัค และ ลิซ ทรูส ภาพจากรอยเตอร์

ศึกชิงเก้าอี้ผู้นำคนใหม่พรรคอนุรักษนิยม อังกฤษ ‘ซูนัค-ทรัส’ ปะทะคารมเดือด ชูนโยบายลดภาษี ย้อนยุคเเทตเชอร์ ลุ้นประกาศผล 5 ก.ย. ฟาก บอริส จอห์นสัน กล่าวในสภาบอกนัยหวนคืนตำแหน่ง

วันที่ 22 กรกฎาคม 2565 บีบีซี รายงานว่า ศึกชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม สหราชอาณาจักร เปิดประลองวาทะต่อหน้าสมาชิกพรรคที่จะเป็นผู้ตัดสินเลือกผู้สืบทอดตำเเหน่งหัวหน้าพรรคและตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แทนนาย บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนปัจจุบัน

เมื่อ 2 ผู้ประกาศลงชิงชัย นายริชิ ซูนัค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เเละ นางลิซ ทรัส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คือ ผู้ได้รับคัดเลือกจากสมาชิกพรรคให้เป็นแคนดิเคตคู่สุดท้าย

บีบีซีรายงานอ้างอิงจากข้อความในหนังสือพิมพ์ เดลี่ เทเลกราฟ ของอังกฤษ ว่า ซูนัคเคยบอกไว้ว่า เขาจะนำเสนอ การปฏิรูปชุดใหญ่ที่สุดขั้ว เทียบเท่ากับนโยบายที่ขับเคลื่อนในสมัยของ นางมาร์กาเร็ต เเทตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ช่วงทศวรรษที่ 1980

ขณะที่เดลี่ เมล์ รายงานว่า นางทรัสให้คำมั่นถึง “การลดหย่อนภาษี การให้การสนับสนุนวิสาหกิจ และนโยบายของพรรคอนุรักษ์นิยมที่เป็นมิตรต่อธุรกิจ”

ทั้งนี้ ทั้งสองคนเป็นผู้สมัครสองคนสุดท้าย หลังจากที่ ทรัส พลิกโผเอาชนะคะเเนนเสียงที่มากกว่าเพียงน้อยนิดจากจากนางเพนนี มัรเเดนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า ที่เคยเป็นผู้สมัครตัวเต็งในช่วงเวลาหนึ่ง ด้วยคะเเนนสนับสนุนจาก ส.ส. ในพรรค 113 คะเเนน ซึ่งมากกว่ามัรเเดนท์ที่ได้ไปทั้งหมด 105 คะเเนน

ขณะที่ ซูนัค มีคะเเนนนำในหมู่ ส.ส. ได้รับคะเเนนสูงสุดที่ 137 คะเเนน

ลิซ ทรูส Liz Truss
ลิซ ทรูส รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ และแคนดิเดตหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม (ภาพ REUTERS/Toby Melville)

อย่างไรก็ตาม โพลส่วนมากชี้ว่าซูนัคยังคงได้รับความนิยมน้อยกว่าในกลุ่มสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมที่ต่างจะลงคะเเนนเลือกผู้สมัครที่ชื่นชอบในเดือนหน้า

หลังจากนี้ นโยบายของผู้สมัครทั้งสองจะนำเสนอนโยบายบนเวทีปราศรัย 12 แห่ง ที่จะจัดขึ้นทั่วสหราชอาณาจักร โดยการปราศัยรอบเเรกจะจัดขึ้นที่ ลีดส์ ในวันที่ 28 กรกฎาคม นี้

ขณะที่ครั้งสุดท้ายจะจัดขึ้นที่ ลอนดอน ในวันที่ 31 สิงหาคม รวมถึงจะมีการปราศัยถ่ายทอดสดผ่านทางโทรทัศน์ทั้งหมด 2 ครั้ง ซึ่งครั้งเเรกจะจัดขึ้นโดย บีบีซี ในวันที่ 25 กรกฎาคม เเละอีกครั้งจะจัดโดย สกาย นิวส์ ในวันที่ 4 สิงหาคม

ส่วนสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมประมาณ 160,000 คน จะลงคะเเนนเสียงผ่านช่องทางออนไลน์เเละทางไปรษณีย์ ซึ่งคาดว่าจะได้รับการลงคะเเนนภายในวันที่ 5 สิงหาคม พร้อมกับจะมีการประกาศผลขึ้นในวันที่ 5 กันยายน

โพลชี้ว่านางทรัส รัฐมนตรีต่างประเทศ ผู้ซึ่งวิพากษ์นายซูนัค ถึงการขึ้นภาษีระหว่างที่เขาดำรงตำเเหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้สมัครที่ได้รับการสนับสนุนในหมู่สมาชิกพรรค โดยเดลี่ เมล ระบุว่า นางทรัส กล่าวว่า “ประเด็นหลักในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ เเละเราได้ดำเนินการไปในทางที่ผิดเกี่ยวกับเรื่องภาษี”

“การต่อสู้หลัก ๆ จะเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ว่าเราจะเลือกให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเเละลดภาษี หรือเราจะดำเนินนโยบายธุรกิจตามปกติเเละขึ้นภาษีแบบเดิมต่อไป” เธอกล่าว

“ดิฉันจะเป็นผู้สมัครที่ลดหย่อนภาษี เพื่อช่วยเหลือครอบครัวที่ถูกบีบคั้นด้วยการยกเลิกนโยบายการขึ้นค่าสวัสดิการประกันภัยเเห่งชาติที่ออกเมื่อเดือนเมษายนเเละระงับมาตรการการจัดเก็บภาษีสิ่งเเวดล้อมจากการใช้จ่ายพลังงาน”

เธอยังเรียกร้องให้มีการนำเอางบประมาณฉุกเฉินมาใช้เพื่อการเปลี่ยนเเปลงโดยรวดเร็วเเละประกาศให้มีการทบทวนแผนรายจ่ายของรัฐ เพื่อให้งบประมาณการใช้จ่ายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ริชี ซูนัค Rishi Sunak
ริชี ซูนัค รัฐมนตรีการคลัง อังกฤษ และแคนดิเดตผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยม อังกฤษ (ภาพจาก REUTERS/John Sibley)

ขณะที่ใน เดลี่ เทเลกราฟ ระบุว่า นายซูนัคให้สัมภาษณ์ว่าเขาเชื่อใน “ความขยัน ครอบครัว เเละความซื่อสัตย์สุจริต” โดยเสริมว่า ผมจะต่อสู้ในฐานะเเทตเชอไรต์ (ผู้นิยมสนับสนุนนโยบายเสรีนิยมของนาง มาร์กาเร็ต เเทตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ) คนหนึ่ง เเละจะปกครองประเทศในฐานะเเทตเชอร์ไรต์คนหนึ่งเช่นเดียวกัน”

“วิถีทางที่ดีที่สุดในการบรรลุการเติบโตทางเศรษฐกิจ คือการลดหย่อนภาษีและระบบราชการ และการเสริมสร้างนวัตกรรมเเละการลงทุนในภาคเอกชน” เขากล่าว

นายซูนัค ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่าภาระทางภาษีนั้นจำเป็นที่จะต้องถูกลดหย่อนลง แต่ไม่ใช่ในทันทีทันใด โดยอ้างว่ามันจะต้องเกิดขึ้นอย่างเเน่นอน แต่ต้องรอเวลา นอกจากนี้เขายังเชื่อว่าตนจะเป็นผู้สมัครที่เหมาะสมที่สุด ที่ควรถูกเลือกเพื่อเอาชนะพรรคเเรงงาน ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า

นายไซมอน ฮาร์ต สมาชิกสภาผู้เเทนจากพรรคอนุรักษ์นิยม ผู้สนับสนุนนายซูนัค กล่าวในข่าวภาคค่ำของบีบีซีว่า “คนบางคนนั้นอาจมีความพิเศษและมีความสามารถขึ้นมามากกว่าระดับปกติ” และผมคิดว่า ด้วยการนำของ ริชิ ซูนัค นับตั้งเเต่เเรกที่เขาได้เข้ามายังรัฐสภา มันชัดเจนว่าเขาคือบุคคลที่มีภาพลักษณ์ที่น่าประทับใจเป็นอย่างมาก

รูธ เดวิดสัน อดีตหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมของสกอตเเลนด์ยังได้กล่าวเสริมด้วยว่า ซูนัคคือ “บุคคลที่ดีที่สุดที่จะนำเราผ่านพ้นคลื่นเศรษฐกิจที่ผันผวนนี้ไปได้”

วิคกี้ ฟอร์ด ผู้สนับสนุนของนางทรูส กล่าวกับข่าวภาคค่ำว่ารัฐมนตรีต่างประเทศผู้นี้ “มีความรอบคอบเป็นอย่างสูง มีเป้าหมายหลักที่เป็นลำดับชัดเจน เเละทำสิ่งต่าง ๆให้สำเร็จลุล่วงได้”

โคลอี้ สมิท ส.ส อีกรายหนึ่งที่สนับสนุน ทรัส กล่าวว่าเธอเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาและ “มีความน่าเกรงขามและตั้งใจเป็นอย่างยิ่งเมื่อเธอตัดสินใจว่าอะไรที่จำเป็นต้องถูกจัดการ”

เอพี ยังได้รายงานว่า นางทรัส กำลังเปรียบเปรยตัวเองให้เป็นเหมือน มาร์กาเร็ต เเทตเชอร์ หญิงเหล็กแห่งอังกฤษ ผ่านการเเต่งกายเลียนเเบบและเเสดงความเคารพอดีตนายกรัฐมนตรีอย่างออกหน้าออกตา นอกจากนี้ เธอยังเป็นที่นิยมชมชอบของปีกขวาจัดในพรรคอนุรักษ์นิยม และสนับสนุนสงครามยูเครนเเละการคว่ำบาตรรัสเซียอย่างหนักเเน่น

แต่นักวิพากษ์ได้ชี้ให้เห็นภูมิหลังของเธอที่ค่อนข้างมีจุดยืนที่ไม่เเน่นอน ซึ่งเธอได้เติบโตมาจากครอบครัวที่เดินประท้วงต่อต้านเเทตเชอร์ เคยร่วมกับพรรคเสรีประชาธิปไตยของอังกฤษเเละเรียกร้องให้มีการยกเลิกระบอบกษัตริย์ในสมัยเรียนมหาวิทยาลัย รวมไปสนับสนุนให้สหราชอาณาจักรอยู่ต่อในสหภาพยุโรปช่วงการลงประชามติในปี 2559 แต่ไม่นานก็กลับเข้าร่วมเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาลของจอห์นสัน

ริซ ทรูซ
Reuters/Peter Nicholls

อีกทั้ง หากเธอได้รับชัยชนะในศึกครั้งนี้ เธอจะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่สามของอังกฤษ

ในขณะที่ นายริชี ซูนัค ผู้ซึ่งมีภูมิหลังในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ เคยทำงานในบริษัท โกลด์เเมน เเซค บนวอลล์สตรีท เองก็ได้ถูกกล่าวหาจากพรรคเเรงงานว่าอาจมีประวัติหลบเลี่ยงภาษี โดยหากเขาได้รับเลือก เขาจะเป็นชาวอังกฤษเชื้อสายอินเดียคนเเรกที่ได้ดำรงตำเเหน่งนายกรัฐมนตรีเเห่งสหราชอาณาจักร

ขณะเดียวกันเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (20 ก.ค.) นายบอริส จอห์นสันได้ปรากฏตัวเป็นครั้งสุดท้ายในฐานะนายกรัฐมนตรี ผ่านญัตติการตอบคำถามในสภา และกล่าวว่าช่วงเวลาการดำรงตำเเหน่งของเขานั้น “ได้สำเร็จลุล่วงอย่างใหญ่หลวงเเล้ว ณ ตอนนี้”

นอกจากนี้ เขายังได้กล่าวเเนะนำผู้ที่จะมาดำรงตำเเหน่งนายกรัฐมนตรีคนถัดไปให้ “มุ่งตรงไปยังเส้นทางข้างหน้า แต่ก็อย่าลืมหมั่นตรวจสอบรอบตัวเเละข้างหลัง เเละเหนือสิ่งอื่นใด จงจำไว้ว่ามันไม่ใช่ความเห็นออนไลน์ทางทวิตเตอร์ที่เป็นสิ่งสำคัญ แต่คือเสียงของประชาชนที่ได้ส่งเรามา ณ ที่นี้”

นายจอห์นสันยังได้กล่าวขอบคุณสมาชิกรัฐสภา เพื่อนพ้อง เเละเหล่าผู้ร่วมงาน ก่อนสรุปด้วยประโยคสุดท้ายว่า “ฮัสต้า ลา วิสต้า เบบี้” คำพูดโด่งดังในภาพยนตร์ไซไฟ เรื่อง คนเหล็ก 2029 เดอะ เทอร์มิเนเตอร์ ซึ่งเปรียบเปรยได้กับคำพูดว่า “เเล้วพบกันใหม่”

นักวิจารณ์หลายสำนักต่างพากันตั้งคำถามว่านี่อาจเป็นนัยยะบ่งบอกถึงเจตนารมย์ของเขาในอนาคต สืบเนื่องจากคำพูดอันโด่งดังอีกหนึ่งท่อนของตัวละครที่กล่าวว่า “เเล้วผมจะกลับมา”

บอริส จอห์นสัน สภาอังกฤษ
AFP PHOTO / Andy Bailey /UK Parliament”

เคียร์ สตาร์เมอร์ หัวหน้าพรรคเเรงงานเเละผู้นำฝ่ายค้านของสหราชอาณาจักร ยังได้พุ่งเป้าการโจมตีระหว่างญัตติถามตอบกับนายกรัฐมนตรีไปที่กลุ่มผู้สมัครที่กำลังประชันกันเพื่อเเทนที่ จอห์นสัน ในฐานะผู้นำ โดยกล่าวว่าพวกเขาเป็นผู้ทำให้เราต้องตกอยู่ท่ามกลางความชุลมุนวุ่นวายนี้และไร้ซึ่งหนทางที่จะพาพวกเราออกไป

เดอะ การ์เดียน และ บีบีซี ยังได้เผยภาพของ นางเทเรซา เมย์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่ได้ยืนนิ่งไม่เเสดงท่าทีใด ๆ เเละปฏิเสธที่จะปรบมือหลังจากญัตติการกล่าวสุนทรพจน์สุดท้ายของนาย บอริส จอห์นสัน