คุมโฆษณาแฝงเหล้าเบียร์…อย่าเหวี่ยงแห

บทบรรณาธิการ

ประเด็นปัญหาการโพสต์ภาพคู่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเหล่าเซเลบ คนดัง นักแสดง กลับมาเป็นเรื่องทอล์กออฟเดอะทาวน์รอบใหม่

หลัง พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา ที่ปรึกษา สบ 10 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กับ นพ.นิพนธ์ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค ติวเข้มเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวกับแนวทางป้องกันปราบปรามการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 ปลายสัปดาห์ก่อน

พล.ต.อ.วิระชัยระบุว่า ได้ดำเนินคดีกับดารานักแสดง และบุคคลมีชื่อเสียงที่โพสต์ภาพคู่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะโฆษณาเชิญชวนไปแล้วหลายราย และยังมีผู้กระทำการเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายอีกจำนวนมาก พร้อมแนะนำว่าหากใครคิดว่าภาพที่นำมาโพสต์มีความเสี่ยงก็ให้นำภาพออกจากสื่อสังคมออนไลน์โดยเร็ว

สตช.ให้เหตุผลที่ต้องดำเนินมาตรการคุมเข้มในเรื่องนี้ ว่า เป็นเพราะปัจจุบันมีการใช้ช่องทางสื่อโซเชียลมีเดียโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แอบแฝงมากขึ้น จึงให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเฝ้าระวังและเร่งกวดขันจับกุม

จุดกระแสให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาในวงกว้าง เพราะหลายฝ่ายค่อนข้างวิตกกังวลการตีความปัญหาข้อกฎหมาย โดยเฉพาะประเด็นมีเจตนาหรือไม่มีเจตนาในการโพสต์ภาพ

เพราะอาจเข้าข่ายฐานความผิดมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ที่ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดี่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม

ประกอบกับนโยบายรัฐมุ่งเน้นมาตรการเชิงป้องปราม โดยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบจับกุมเซเลบ ดารา รวมทั้งประชาชนทั่วไป ที่โพสต์ภาพเหล่าคนดังคู่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเข้าข่ายทำผิดกฎหมายไว้ก่อน จากนั้นค่อยให้พิสูจน์ตนเองว่ามีหรือไม่มีเจตนาภายหลัง

เพราะแม้มาตรการป้องปรามการฉวยโอกาสใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่แอบแฝงโฆษณาเหล้า เบียร์ จะเป็นเรื่องทีี่ดี แต่หากทำให้ประชาชนซึ่งไม่มีเจตนาที่จะกระทำผิด หรืออาจกระทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์สุ่มเสี่ยงต่อการถูกลงโทษ จากการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ บวกกับกฎกติกาที่ไม่ชัดเจน น่าจะเกิดผลในทางลบมากกว่า

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่รัฐต้องรับฟังเสียงสะท้อนและเร่งหาทางปรับแก้ ด้วยการชี้แจงทำความเข้าใจ ควบคู่กับบังคับใช้กฎหมายอย่างโปร่งใส เป็นธรรม ได้มาตรฐาน เสียงวิพากษ์วิจารณ์กับข้อครหาจะได้หมดไป ไม่เกิดปัญหาตามมาภายหลัง