เทรนด์ลด Emission ปูนซีเมนต์โลก และนัยต่ออุตสาหกรรมของไทย

ปูนซีเมนต์ Emission
คอลัมน์ : มองข้ามชอต
ผู้เขียน : กีรติญา ครองแก้ว 
EIC : ธนาคารไทยพาณิชย์

การผลิตปูนซีเมนต์ถือเป็นอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นอันดับต้น ๆ โดยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) คิดเป็นสัดส่วน 6-7% ของการปล่อย CO2 ในภาพรวมของโลก

ทั้งนี้หลายประเทศทั่วโลกได้กำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5-2 องศาเซลเซียสภายในปี 2050 โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึงการผลิตปูนซีเมนต์ ขณะที่ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

McKinsey คาดการณ์ปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์จะเพิ่มขึ้นราว 1.1 เท่า จาก 3.8 พันล้านตันในปี 2020 เป็น 4.3 พันล้านตันในปี 2050 โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ใช้ปูนซีเมนต์ปริมาณมากในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จึงเป็นความท้าทายของผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ควบคู่ไปกับการเพิ่มการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการในอนาคต

ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ผลิตปูนซีเมนต์ต่างประเทศได้ปรับกลยุทธ์ ทั้งการปรับปรุงเทคโนโลยี การใช้พลังงานทางเลือก ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนี้

1) การปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตและใช้พลังงานในโรงงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น ultratech ผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ของอินเดีย ที่ติดตั้งระบบการแปลงความร้อนจากการเผาวัตถุดิบเพื่อผลิตปูนเม็ด (clinker) ไปเป็นพลังงานไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในโรงงาน (waste heat recovery system : WHRS) และ CEMEX ที่ได้นำระบบประมวลผลอัจฉริยะ (AI) มาใช้กับระบบบริหารจัดการพลังงานในโรงงานที่เม็กซิโก

ซึ่งช่วยลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 20% ทั้งนี้ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ไทยได้เริ่มใช้เทคโนโลยี WHRS แล้ว

2) การใช้พลังงานทางเลือกทดแทนถ่านหินในสัดส่วนที่มากขึ้น เช่น พลังงานขยะ พลังงานชีวมวล พลังงานแสงอาทิตย์ อาทิ CEMEX ผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ของโลก ซึ่งมีการใช้พลังงานทางเลือกในบางพื้นที่ของยุโรปในสัดส่วนที่สูงถึง 60%

ทั้งนี้สัดส่วนการใช้งานพลังงานทางเลือกในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทยในปี 2021 อยู่ที่ 5-10% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปตามเป้าหมายของผู้ประกอบการ เช่น ปูนซีเมนต์นครหลวง มีแผนเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทางเลือกให้ได้อย่างน้อย 20% ภายในปี 2030

3) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์รักษ์โลก (low carbon cement : LC2) ด้วยการลดสัดส่วนปูนเม็ด และใช้วัสดุอื่นทดแทน เช่น หินปูน แคลเซียมคาร์บอเนต ฝุ่นจากเตาเผาปูนเม็ด เป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยให้การผลิตปูนซีเมนต์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เนื่องจากขั้นตอนการผลิตปูนเม็ด ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของปูนซีเมนต์มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 60% ของการผลิตทั้งหมด

ทั้งนี้สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย และผู้ประกอบการก็ได้ร่วมกันพัฒนาปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ที่ลดสัดส่วนปูนเม็ดลงจาก 93% เป็น 83% อย่างไรก็ดีสัดส่วนปูนเม็ดดังกล่าวยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยของผู้ผลิตปูนซีเมนต์ทั่วโลก ซึ่งตามรายงานของ Goldman Sachs Research อยู่ที่ 77% ในปี 2021 และคาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ราว 60% ในปี 2030 จึงถือเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการไทยที่จะต้องเร่งลดสัดส่วนปูนเม็ดลงให้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของโลกมากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ทางเลือกใหม่ ๆ อาทิ limestone calcined clay cement (LC3) ที่มีสัดส่วนปูนเม็ดเพียง 50% โดยมีวัสดุทดแทนเป็นหินปูน และดินเผา ที่พบได้มากในอินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงไทยด้วย และยังได้มีการพัฒนาปูนซีเมนต์ที่ปราศจากส่วนผสมของปูนเม็ด (Hoffmann Green Cement) โดยใช้วัสดุเหลือใช้ทดแทน 100% เช่น ตะกรันเหล็ก ดินจากการขุดเจาะอุโมงค์ สะท้อนความก้าวหน้าในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ที่มีความรักษ์โลก และเป็นความท้าทายให้ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัวด้วยเช่นกัน

EIC มองว่า ในอนาคตมีโอกาสที่จะเห็นอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์รักษ์โลกที่หลากหลาย ซึ่งนอกจากจะช่วยให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เข้าถึงเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังช่วยลดผลกระทบต่อการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ที่มีแนวโน้มประกาศใช้มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (carbon border adjustment mechanism : CBAM) กับผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ในปี 2024

รวมถึงเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศที่สนับสนุนการใช้งานวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ขณะที่การใช้พลังงานทางเลือกนั้น ผู้ประกอบการไทยยังคงมีความท้าทายในการหา feedstock ที่มีความเหมาะสมในต้นทุนที่ไม่สูงมากนัก ทั้งพลังงานขยะ และชีวมวล อีกทั้ง ผู้ประกอบการรายย่อยยังมีข้อจำกัดในการลงทุน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความรักษ์โลกมากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ EIC มองว่า ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอาจกระตุ้นการใช้งานปูนซีเมนต์รักษ์โลก โดยหน่วยงานภาครัฐได้กำหนดมาตรฐานการก่อสร้างให้ปรับเปลี่ยนมาใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ทดแทนการใช้งานปูนซีเมนต์พอร์ตแลนด์ทั่วไปแล้ว แต่อาจต้องส่งเสริมให้เกิดการใช้งานในภาคเอกชน และผู้บริโภครายย่อยควบคู่กันไป ผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น การนำค่าใช้จ่ายปูนไฮดรอลิกมาลดหย่อนภาษีสำหรับนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา ซึ่งการใช้วัสดุก่อสร้างที่มีความรักษ์โลกมากขึ้นจะช่วยส่งเสริมให้ภาคก่อสร้างมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นตามไปด้วย