“ตลาดคาร์บอน” ไม่ง่าย TDRI ลุ้นรัฐเซตระบบ “ซื้อ-ขาย”

คาร์บอน

ปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมาเป็นแรงกดดันสำคัญที่ทำให้ทุกภาคส่วนหันมาให้ความสนใจ “การดูแลรักษ์โลก ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก” ซึ่งไทยถือเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ได้ประกาศจุดยืนในการประชุม COP26 ว่าจะก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Cabon neutrality) ในปี 2050 แล้วจึงค่อยก้าวสู่ “การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์” หรือ Zero Emission ในปี 2065

ภัยธรรมชาติ-คู่ค้า กดดันไทย

ไม่ใช่เพียงเพราะภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างมากมาย ทั้งโพลาร์วอเท็กซ์ในสหรัฐ ภาวะน้ำท่วมสหภาพยุโรป เกาหลี และไทย เท่านั้น ที่ทำให้เรื่องนี้ถูกพูดคุยอย่างกว้างขวาง แต่ล่าสุดขณะนี้ประเทศคู่ค้า ต่างขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเข้มข้น

อาทิ สหภาพยุโรป กำลังจะบังคับใช้มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ใน 8 สินค้าคือ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า ไฮโดรเจน เคมีภัณฑ์ และพลาสติก อย่างเต็มรูปแบบในปี 2570

เช่นเดียวกับตลาดสหรัฐเตรียมร่างกฎหมาย Clean Competition Act (CCA) ตั้งเป้าเก็บภาษีคาร์บอนกับสินค้าที่กระบวนการผลิตมีการปล่อยคาร์บอนปริมาณสูง โดยเสนอให้ผู้ผลิตสหรัฐและผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ

จะต้องเสียภาษีคาร์บอน 55 เหรียญสหรัฐ ต่อการปล่อยคาร์บอน 1 ตัน หากมีการปล่อยคาร์บอนเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด เช่นกัน ซึ่งเฉพาะ 2 ตลาดนี้ก็มีสัดส่วน 20% ของมูลค่าการส่งออกไทย ฉะนั้น เอกชนไทยต้องเตรียมรับมือ

ใครปล่อยคาร์บอนสูงสุด

“ประชาชาติธุรกิจ” ประมวลภาพรวมประเด็นร้อนเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในหลาย ๆ เวทีมาสรุปได้ว่า

รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุในงานสัมมนา “ตลาดคาร์บอนกับบทบาทภาคเกษตรไทย” ที่จัดโดยสถาบันคลังสมองของชาติ ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และเคหการเกษตร เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ปัจจุบันไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 354,357.61 gg co2eq

โดยภาคพลังงาน ปล่อยสูงสุด 253,895.61 gg co2eq คิดเป็น 70% ของการปล่อยทั้งหมด รองลงมาคือภาคเกษตร 52,158.70 gg co2eq คิดเป็น 14.72% ภาคอุตสาหกรรมการผลิต 31,531.41 gg co2eq หรือ 8.90% และขยะ 16,771.89 gg co2eq หรือ 4.73%

ตลาด-ราคาคาร์บอน

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่าคาร์บอนเป็น “สินค้าสาธารณะเลวระดับโลก” ในทางเศรษฐศาสตร์คือไม่มีใครอยากได้ แต่ทุกคนปล่อยคาร์บอน ดังนั้น จึงต้องสร้าง “ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ” ขึ้นมา ซึ่งต้องรู้ว่าใครเป็นผู้ผลิต ผู้ขาย และผู้ซื้อก่อน เช่น ภาคเกษตรถือเป็นแหล่งผลิตและกักเก็บคาร์บอนขนาดใหญ่ สามารถสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตได้

“การตั้งราคาคาร์บอนไม่ใช่มองแค่มูลค่าเท่าไรแต่ต้องมองถึงต้นทุนที่เกิดจากผลกระทบภาพกว้างที่คาร์บอนมีต่อโลก อีกทั้งจะเป็นแรงจูงใจในการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียว มีผู้คาดการณ์ว่าราคาคาร์บอนจะไปถึง 200 เหรียญสหรัฐต่อตันคาร์บอนในอนาคต จากปัจจุบันซื้อขายที่ 1-137 เหรียญสหรัฐ จากราคาเฉลี่ยโลกที่ 40 เหรียญสหรัฐ”

2 วิธีซื้อขายคาร์บอน

ส่วนรูปแบบการซื้อขายคาร์บอน มี 2 วิธีการคือ 1.ETS (Emission trading system) หรือ cap & trade ใช้ 35 ประเทศทั่วโลก มีความแน่นอนสูง เรื่องปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ทำให้เกิดการขับเคลื่อนการลงทุน นวัตกรรมสีเขียว เป็นนโยบายที่พึงประสงค์เมื่อรัฐบาลมีเป้าหมายการลดที่เจาะจง แต่วิธีนี้ทำให้ราคาคาร์บอนต่ำ และค่าใช้จ่ายในการใช้บังคับสูง ทั้งยังอาจเกิด “การวิ่งเต้น” เพื่อขอโควตา

2) การเก็บภาษีคาร์บอน สำหรับกิจกรรมและสาขาการผลิต-บริการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งวิธีนี้มีใช้ 27 ประเทศทั่วโลก กำหนดภาษี (ราคา) คาร์บอน 1-137 เหรียญสหรัฐ/ตันคาร์บอน ข้อดีวิธีนี้ราคามีความแน่นอน สะดวกรวดเร็วในการบังคับใช้

และสร้างแรงจูงใจในการพัฒนานวัตกรรม แต่ข้อเสียคือ ปริมาณการลดคาร์บอนต่ำ ระบบการเมืองไม่ผ่านร่างกฎหมายการเก็บภาษี เพราะจะกระทบต่อความนิยม และการเก็บภาษีอัตราสูงจะกระทบต้นทุนการผลิตสินค้า กระทบด้านเศรษฐกิจ

บางจาก ลุ้นภาษีคาร์บอน

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท บางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การที่ภาคพลังงานต้องเผชิญ 3 วิกฤต (Energy Trilemma)

แต่สุดท้ายเราหนีไม่พ้นต้องใช้ฟอสซิลฟิลด์ วิธีเดียวที่จะอยู่กับเราอย่างยั่งยืน คือ ต้องมีคาร์บอนแคปเจอร์ คือ การดึงคาร์บอนเข้ามาเก็บ ปัจจุบัน ต้นทุนกักเก็บสูงถึง 100-500 เหรียญสหรัฐต่อตัน ดังนั้น รัฐต้องวางแนวทางสนับสนุน เช่นเดียวกับที่จีนส่งเสริมอีวีจนกลายเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก

“วิธีหนึ่งที่จะสนับสนุนได้เลยคือ คาร์บอนแท็กซ์ น่าจะลองดู เพราะวันนี้คาร์บอนเครดิตบ้านเราซื้อขายกัน 1 เหรียญสหรัฐ ส่วนสหภาพยุโรปซื้อขายที่ 40-50 เหรียญสหรัฐต่อตันคาร์บอน”

การเซตตลาดคาร์บอนมีความสำคัญมาก และมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการใช้ทรัพยากรของโลก ดังนั้น ภาครัฐจึงต้องเร่งวางกติกาและโรดแมปอีก 2 ปีข้างหน้า

ปตท.สผ.ลุย CCS กักเก็บคาร์บอน

ในช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมพลังงานที่ขึ้นชื่อเป็นอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนสูงสุด “ตื่นตัว” เรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก บริษัทพลังงานชั้นนำของไทยได้ประกาศเป้าหมายและการดำเนินการเพื่อก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

และ Net Zero ซึ่งหนึ่งในแนวทางที่สำคัญของการลดการปล่อยคาร์บอนคือ การแยกคาร์บอนไดออกไซด์ไปเก็บไว้ใต้พิภพ (Carbon capture storage : CCS)

หากย้อนไปจะพบว่า บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.ดำเนินการตามแนวคิด EP Net Zero ในปี 2050 (2093) โดยได้เริ่มศึกษาการทำ CCS ที่โครงการอาทิตย์ในอ่าวไทย เมื่อปี 2564 เป็นครั้งแรกของประเทศไทย

หลังจากที่ได้ศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility study) สำเร็จ ครอบคลุมด้านการตรวจสอบและประเมินความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนของชั้นหิน ใต้ดิน เบื้องต้นด้านการออกแบบ กระบวนการดักจับและกักเก็บ ด้านแผนการเจาะหลุม สำหรับกับเก็บ เป็นต้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาทางด้านวิศวกรรมเบื้องต้น (Pre Feed Study) และคาดว่าจะเริ่มใช้ได้ในปี 2569

“นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การแยกคาร์บอนไดออกไซด์ไปเก็บไว้ใต้พิภพ (CCS) ซึ่งขณะนี้ไทยได้สำรวจพบแหล่งที่จะใช้กักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ขนาด 7,000 ล้านตัน ใน 2 พื้นที่คือ

พื้นที่ใต้ทะเลอ่าวไทยและบนบก คือแม่เมาะ โดยการศึกษาเบื้องต้นเมื่อสำรวจแล้วเป็นโพรงน้ำเกลือ จึงให้มีการศึกษาด้านธรณีวิทยาต่อ ซึ่งทาง ปตท.สผ.อยู่ระหว่างศึกษา คาดว่าจะสรุปภายใน 90 วัน

“หากไทยไม่ดำเนินการเรื่อง Net Zero นี้ เท่ากับว่าในหนึ่งปีไทยจะมีต้นทุน ที่ต้องแบกไว้ 1 ล้านล้านบาท หากคำนวณจากปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไทย คิดเป็น 350 ล้านตันต่อปี ตามราคาคาร์บอนเครดิตโลก 3,000-4,000 บาท/ตัน”

กระทรวงพลังงานจึงได้ดำเนินการ 4 แนวทาง ทั้งการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน จาก 20% เป็น 30% ในปี 2030 การเพิ่มการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เป้าหมายให้มีรถอีวี 30% ในปี 2030 เพิ่มสถานีชาร์จ รวมถึงแพลตฟอร์มอำนวยความสะดวก พร้อมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน จาก 20% ให้มากขึ้นเรื่อย ๆ จากการพัฒนาเทคโนโลยีอุปกรณ์ต่าง ๆ และลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการใช้พลังงานสะอาดในอนาคต