2050 เป็นกลางทางคาร์บอน ดึงลงทุนนำไทยสู่อุตสาหกรรมใหม่

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

ในงานสัมมนาหัวข้อ “พลังงาน : วาระโลก-วาระประเทศไทย 2023” จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษมีสาระสำคัญว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับภาวะ “วิกฤตซ้อนวิกฤต” จากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้การผลิต การใช้ และราคาพลังงานลดลง

กระทั่งถึงปลายปี 2564 สถานการณ์เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นหลังจากได้รับวัคซีน ขณะเดียวกันความต้องการใช้พลังงานก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่การเพิ่ม “ซัพพลายพลังงาน” ยังไม่สามารถฟื้นขึ้นมาได้ทัน

ต่อมาก็เกิดภาวะวิกฤตความขัดแย้งในรัสเซียและยูเครนในช่วงต้นปี 2565 ซ้อนกันขึ้นมา เกิดการแซงก์ชั่นมีการขาดแคลนพลังงานในยุโรป ซ้ำเติมกับสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว ทำให้ราคาพลังงานทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น สถานการณ์นี้ยังมีแนวโน้มยืดเยื้อต่อไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไทยในฐานะประเทศที่ต้องนำเข้าพลังงานมากกว่า 80% โดยเฉพาะการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้ามากถึง 30%

ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำก็คือ การหาพลังงานทดแทนโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเพื่อลดการนำเข้า และรัฐบาลยังคงดูแลราคาน้ำมันดีเซลเพื่อไม่ให้กระทบต่อภาวะเงินเฟ้อ ขณะเดียวกันก็มีการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า

“รัฐบาลนี้ได้ทำอย่างเต็มที่ โดยสิ่งที่รัฐบาลจะขอให้พวกคุณทำก็คือ การประหยัดพลังงาน ดีใจที่มีหลายบริษัทเข้าใจถึงปัญหานี้ หากไทยมีการลดใช้ไฟฟ้าและน้ำมัน 20% จะทำให้ประเทศไทยมีเงินเหลือนับ 100,000 ล้านบาท”

วาระโลกฝ่า 2 ขั้ว 2 แนวคิด

ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เกิดปัญหา 2 ขั้วมหาอำนาจเลือกวิธีการเดินที่แตกต่างกัน โดยขั้วแรกมองว่า เศรษฐกิจร้อนแรงจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 75 สตางค์ ถึง 4 ครั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วงหลาย 10 ปี ขณะที่อีกขั้วกลับมองว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันจะลดลงจึงได้มีการตัดสินใจร่วมกันที่จะลดกำลังการผลิตน้ำมันลงถึง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน

“ท่ามกลางเรื่อง 2 ขั้ว 2 แนวคิด แต่ทว่าก็เกิดประเด็นเรื่องสภาวะโลกร้อน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นวาระของโลก เป็นเรื่องที่ทั่วโลกเห็นว่าควรต้องทำ โดยไม่มีเรื่องขั้วทางการเมืองและไม่มีความแตกแยก” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะหลายประเทศประสบปัญหาความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยตัวเอง เช่น สหรัฐประสบปัญหาโพลาร์วอร์เทกซ์ สหภาพยุโรปเกิดปัญหาน้ำท่วม เกาหลีเกิดปัญหาน้ำท่วม สะท้อนว่าปัญหานี้เริ่มใกล้ตัว จึงถูกนำมาหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในการประชุม COP26 หลังจากที่ห่างหายกันไปตั้งแต่เมื่อมีเกียวโตโปรโตคอล

และจะเห็นว่า การประชุม COP26 ทั่วโลกเห็นพ้องกันว่า จะต้องควบคุมไม่ให้การปรับอุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสในปี 2100 ซึ่งรัฐบาลจากกลุ่มประเทศ G7 ได้เตรียมเม็ดเงินเพื่อที่จะมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน เช่นเดียวกับจีนและรัสเซียที่ต่างก็ประกาศเรื่องนี้ เป้าหมายสู่การเป็นประเทศที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 สูงและเป็นประเทศที่ zero emission ในปี 2065

“ไทย” นับเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่กล้าประกาศจุดยืนเดียวกันนั้น ใน COP26 โดยไทยมีทิศทางในการทำงานที่ชัดเจนเรื่องที่จะมีการลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล การเพิ่มการผลิตพลังงานหมุนเวียน การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า EV โดยมีเป้าหมายว่า รถยนต์ที่ผลิตได้ในประเทศ 30% จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2030

นอกจากนี้ ไทยยังมุ่งส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ทั้งการประหยัดพลังงาน การผลิตพลังงานสะอาด เช่น ไฮโดรเจน การแยกคาร์บอนไดออกไซด์ไปเก็บไว้ใต้พิภพ (CCS) หากไทยดำเนินการได้เร็วก็จะทำให้ไทยก้าวสู่การเป็นประเทศที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนเร็วกว่าเป้าหมายในปี 2050 ก็จะทำให้ประเทศที่มีนโยบายเรื่องนี้มุ่งหันมาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น

ต่อยอดสร้างโอกาสดึงลงทุน

นายสุพัฒนพงษ์เน้นย้ำว่า ประโยชน์ของการก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนนั้น ไม่ใช่เพียงแค่การช่วยลดโลกร้อน แต่ยังเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศในระยะยาว เพราะไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานทดแทน ลดการพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติและพลังงานอื่น ๆ จะเป็นการแก้ไขปัญหาวิกฤตพลังงานและสร้างโอกาสทางธุรกิจ เพิ่มความสามารถแข่งขันให้กับประเทศไทย

เพราะนี่จะเป็นการต่อยอดนำไปสู่ “โอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ” ในอุตสาหกรรมอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการเป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า จากเดิมที่ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์สันดาปที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน และเป็นอันดับ 10 ของโลก เราจะสามารถต่อยอดขยายไปสู่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า

เช่น การดึงดูดการลงทุนโรงงานแบตเตอรี่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือหรือโอกาสในการต่อยอดธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะหากเทียบกันแล้วในขณะนี้ยอดขายยานยนต์ไฟฟ้าของไทยสูงที่สุดในเอเชีย เทียบกับญี่ปุ่นที่มียอดขาย 300-500 คันต่อปี อินโดนีเซียที่เป็นคู่แข่งก็ขายเพียง 300 คัน

ขณะที่ยอดขายของไทยในช่วง 9 เดือนแรกเพิ่มถึง 10,000 คัน เติบโต 275% นอกจากนี้ ไทยยังมีความพร้อมในเรื่องของระบบ ecosystem โดยหลังจากที่ส่งเสริมก็มีการตั้ง “สถานีอัดประจุไฟฟ้า” เพิ่มขึ้นเป็น 869 สถานี 2,572 หัวจ่าย

อีกด้านหนึ่งหากไทยไม่ดำเนินการในเรื่องนี้จะทำให้ไทยมีต้นทุนในเรื่องของ “คาร์บอนเครดิต” ซึ่งหากคำนวณจากปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ คิดเป็น 350 ล้านตันต่อปี ตามราคาคาร์บอนเครดิตโลก 3,000-4,000 บาท/ตัน เท่ากับว่าในหนึ่งปีไทยจะมีต้นทุนที่ต้องแบกไว้ 1 ล้านล้านบาท

วัฒนพงษ์ คุโรวาท
วัฒนพงษ์ คุโรวาท

Road Map แผนพลังงานชาติ

การบรรยายพิเศษ “Road Map พลังงานไทย” นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การจัดทำ “แผนพลังงานแห่งชาติ” หลังจากที่ประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสหประชาชาติ สมัยที่ 26 (COP26) กำหนดกรอบแนวทางการจัดทำแผน 4 แนวทาง พร้อมวาง Road Maps และกำหนดแบ็กโบน ปักหมุดสู่การเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 ประกอบด้วย

1) เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน โดยในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) ฉบับใหม่ ที่กำลังดำเนินการต่อจาก PDP 2018 (Rev.1) ได้ปรับเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนที่ 20% เป็น 30% ในปี 2030 หลังจากนั้นจะเพิ่มเป็นมากกว่า 50%

2) ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) กำหนดว่า จะเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดรถอีวีให้เป็น 30% ในปี 2030 โดยเริ่มจากรถยนต์นั่ง รถบัสขนส่งขนาดใหญ่ และต้องมีสถานีชาร์จสาธารณะ 12,000 สถานี โดยมองว่าในปี 2040 รถอีวีจะสามารถทดแทนรถจากเครื่องยนต์สันดาป หรือ ICE ได้ 100%

3) ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้และการผลิตพลังงาน เดิมกำหนดไว้ที่ 20% เพิ่มขึ้นเป็น 30%, 35% และในระยะยาว 40% โดยจะต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ

และ 4) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การลงทุนทำเรื่องสมาร์ทมิเตอร์ โดยในปี 2025 มีเป้าหมายว่า กลุ่มอุตสาหกรรมจะเปลี่ยนมาใช้สมาร์ทมิเตอร์ทั้งหมด จากนั้นจะกระจายสู่กลุ่มบ้านที่อยู่อาศัยต่อไป