สหรัฐหลุดจาก CPTPP ร่างอวตารของ TPP หรือยัง?

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย รัชดา เจียสกุล โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย)

ผู้ที่ติดตามความคืบหน้าการจัดทำความตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ คงคุ้นเคยกับข้อตกลง TPP (Transpacific Pacific Partnership) หรือ ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นข่าวร้อนที่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศที่ Davos ว่าอาจสนใจกลับเข้า TPP อีกครั้ง แต่ก่อนที่คุณทรัมป์จะบอกว่าสนใจจะกลับเข้า TPP เพื่อน ๆ

11 ประเทศ ที่เคยจะอยู่ใน TPP กับสหรัฐ เพิ่งออกมาประกาศว่า 11 ประเทศพร้อมที่จะลงนามในข้อตกลงใหม่ที่ไม่มีสหรัฐ ที่เรียกว่า CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) ในวันที่ 8 มีนาคมนี้ สรุปว่า “สหรัฐยังจะกลับเข้า TPP ได้หรือไม่ ?”

ดิฉันติดตามความเคลื่อนไหวของข้อตกลงนี้มาเกือบ 10 ปี ตั้งแต่ท่านประธานาธิบดีบุช ประกาศตัดสินใจเข้าร่วม TPP จากเดิมที่มีสมาชิกอยู่แค่กลุ่มประเทศ P4 ประกอบด้วย ชิลี นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ บรูไน แล้วจากนั้นสหรัฐซึ่งเป็นหัวหอกการเจรจาได้ชักชวน ออสเตรเลีย กับ เปรู เข้าร่วมในปี 2008 ตามด้วย มาเลเซีย และ เวียดนาม ปี 2010 และปี 2012 แคนาดา และเม็กซิโก ซึ่งเป็นสมาชิก NAFTA หรือเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ และสุดท้ายคือ ญี่ปุ่น ในเดือนกรกฎาคม 2013

และทั้ง 12 ประเทศประกาศสรุปผลการเจรจาอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 2015 สมาชิกได้ลงนามใน Full Text Agreement เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2016 ณ ประเทศนิวซีแลนด์ จนล่าสุดหลังเลือกตั้งสหรัฐ ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศถอนตัวอย่างเป็นทางการจาก TPP เมื่อต้นปี 2017 แล้วสหรัฐก็ประกาศอยากกลับเข้าร่วม TPP อีกทีต้อนรับปีใหม่ 2018

หากดูจาก timeline น่าจะพูดได้ว่า “เข้าได้ ก็ออกได้ ออกได้ ก็เข้าได้” แต่หากติดตามอย่างใกล้ชิด จะพบว่าการเข้าออกก่อนมี “Full Text Agreement” นั้น ง่ายกว่าการเข้าออกหลังการมี “Full Text Agreement” เนื่องจากใน “Full Text Agreement” ที่มีทั้งหมด 8,771 ของ TPP version ล่าสุด ณ วันที่ 17 พฤษภาคม 2016 มีบทบัญญัติว่าด้วยการมีผลบังคับใช้ (entry into force) และ บทบัญญัติว่าด้วยการเข้าร่วมความตกลงของสมาชิกใหม่ (accession) ที่ทำให้การเข้าใหม่นั้นไม่ง่ายเลย เป็นที่น่าจับตาว่า หลังลงนามร่วมกันในวันที่ 8 มีนาคมนี้ของ 11 ประเทศ CPTPP “Full Text Agreement” ใหม่จะออกมาหน้าตาอย่างไร หากยังไม่ง่ายเหมือนเดิม ก็น่าจะพูดได้ว่า กว่าสหรัฐจะได้เข้าไปใหม่ก็น่าจะเลยไปเกือบปี 2020 แล้ว แต่ถ้า “Full Text Agreement” ของ CPTPP ออกมาแบบเตรียมแบะท่าให้สหรัฐเข้าใหม่ได้เต็มที่ ก็คงพอเห็นทรงว่า CPTPP อาจคืนร่างกลับเป็น TPP ได้ดังเดิม น่าตื่นเต้นและต้องคอยจับตาดูค่ะ

ทีนี้ถามว่าเหล่าประเทศ TPP-11 นั้น อยากได้สหรัฐกลับคืนมาหรือไม่ ? ผลการศึกษาล่าสุดจากศูนย์วิจัยในสิงคโปร์ พบว่าทั้ง 11 ประเทศจะยังได้ผลประโยชน์จากการมี CPTPP อยู่ แต่จะได้น้อยกว่ากรณีที่มีสหรัฐอยู่มากเหมือนกันค่ะ กรณีของเวียดนาม ผลของ

TPP แบบมีสหรัฐจะทำให้ GDP ของเวียดนามเพิ่มขึ้นถึง 10% แต่ผลของ CPTPP แบบไม่มีสหรัฐ จะทำให้ GDP ของเวียดนามเพิ่มขึ้นเพียง 1.5% สำหรับมาเลเซีย ผลของ CPTPP ที่ไม่มีสหรัฐ มีเพียง 2% ลดจาก 8% ของ GDP ของผลจาก TPP ที่มีสหรัฐ

แล้วไทยอยู่ตรงไหนในเรื่องนี้ ?

เราควรเข้าร่วม CPTPP กับเขาหรือไม่ ?

ทำไมเราไม่ได้เข้าไปร่วมใน TPP ?

หากจะตอบ 3 คำถามนี้คงยาว ขอตอบคำถามสุดท้ายก่อนว่า ต้องยอมรับว่าในปี 2010 สมัยรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ และในปี 2012 สมัยรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ เรามี window of opportunity เล็ก ๆ ที่จะเข้าร่วม TPP ได้ แต่ยากมาก เพราะในขณะนั้นที่ไทยยังไม่เห็น “Full Text Agreement” เนื่องจากการเจรจา TPP ช่วงนั้นมีเงื่อนไขสำคัญ คือการรักษาข้อมูลเจรจาไว้เป็นความลับ เป็นสิ่งที่ประเทศไทยในขณะนั้นไม่มีทางที่จะสามารถเผชิญแรงกดดันจากภาค ประชาชน ในประเด็นที่มีความกังวลอ่อนไหวอันเกิดจากฝันร้ายของการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหรัฐได้ แต่วันนี้ หากได้ศึกษาข้อบทความตกลงที่มีความชัดเจนขึ้นแล้ว ประเทศไทยจะสามารถคาดการณ์ผลกระทบ และบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้อย่างแม่นยำและตัดสินใจได้ไม่ยากหาก เมื่อถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจอีกครั้งแน่นอน

ล่าสุดจากข้อแถลงร่วมของ 11 ประเทศ CPTPP ในการประชุม APEC ที่เวียดนามเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2017 น่าสนใจว่ามีการกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของความตกลง CPTPP แบบไม่มีสหรัฐ ไปจากความตกลง TPP เดิมอย่างละเอียด ว่ามีการระงับข้อบทใน TPP เดิมหรือแขวนข้อบทไหนบ้าง โดยข้อบทที่ถูกแขวนไว้ล้วนเป็นประเด็นเคยปวดใจของไทย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ใน มาตราที่ 18 ว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะประเด็น เช่น สิ่งที่สามารถจดสิทธิบัตรได้ การปรับแก้ระยะเวลาของสิทธิบัตรเพื่อชดเชยความล่าช้าอันไม่สมเหตุสมผลของ หน่วยงานผู้ออกสิทธิบัตร การปรับแก้ระยะเวลาของสิทธิบัตรยาเพื่อชดเชยระยะเวลาการคุ้มครองที่สั้นลง อย่างไม่สมเหตุสมผล การคุ้มครองข้อมูลการทดสอบยาหรือข้อมูลอื่น ๆ ที่ไม่ได้รับการเปิดเผย ยาชีววัตถุ ฯลฯ

หากถามว่า สำหรับไทยการเข้าร่วม CPTPP แบบไม่มีสหรัฐน่าสบายใจกว่า TPP แบบมีสหรัฐหรือไม่ ? ก็ต้องตอบว่าน่าสบายกว่า แต่ผลประโยชน์ก็น่าจะน้อยกว่าเช่นกัน นอกจากนี้ประเด็นสำคัญ “เรื่องอำนาจต่อรองของไทยกับกลุ่มประเทศคู่เจรจา ทั้งกับประเทศใน CPTPP-11 โดยเฉพาะญี่ปุ่น และกับสหรัฐ” เป็นเรื่องที่ต้องห้ามกะพริบตาจริง ๆ ค่ะ