444,294 ล้านกับการสู้กับโควิด-19

สินเชื่อโควิด1
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

นับเป็นเวลา 3 ปีเต็มที่โลกต้องเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 จากเชื้อไวรัสที่ไม่เป็นที่รู้จักกันมาก่อน ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้ออย่างกว้างขวางจากแหล่งในเมืองอู่ฮั่น กระจายไปทั่วโลก ส่งผลกระทบทางด้านสุขอนามัย ระบบสาธารณสุข ไปจนกระทั่งถึงการเสียชีวิตของผู้คนเป็นจำนวนมากในแต่ละประเทศ

ประเทศไทยนับเป็นประเทศแรก ๆ ที่ต้องเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 จากความไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับไวรัสชนิดนี้ ตามมาด้วยการระดมสรรพกำลังในระบบสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชนในการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับไวรัสชนิดนี้ จนสามารถสร้างชุดความรู้ความเข้าใจการระบาดของโควิด-19 ได้

แน่นอนว่า รัฐบาลเป็นผู้ผลักดันและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ในการนำเอาองค์ความรู้มาปฏิบัติ ทั้งการควบคุมการแพร่ระบาด การป้องกันการติดเชื้อ และการรักษาผู้ป่วย ผ่านทางศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือ ศบค. ที่บริหารจัดการในระบบสาธารณสุขและการประคับประคองระบบเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้ท่ามกลางการ “ล็อกดาวน์” เมื่อพบจำนวนผู้ติดเชื้อในช่วงที่การระบาดเข้าสู่ระดับสูงสุด

โดยผลของการดำเนินงานรัฐบาลได้รับความชื่นชมจากหน่วยงานระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการจัดลำดับของสื่อ ไปจนกระทั่งถึง WHO ในข้อที่ว่า ไทยเป็นตัวอย่างของประเทศที่มีการเตรียมการและตอบสนองต่อสถานการณ์โควิดได้ดีที่สุดประเทศหนึ่งภายใต้ผู้นำรัฐบาล

เมื่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ลดลงเป็นลำดับ จนใกล้สู่ภาวะปกติ มองย้อนกลับไปในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ปรากฏคนไทย 66 ล้านคน ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไป 4,728,035 คนเสียชีวิต 33,911 คน ใช้วัคซีนไปแล้ว 142,635,014 โดส คิดเป็นจำนวนผู้ได้รับวัคซีน 53,486,086 คน หรือร้อยละ 80.4 จัดเป็นสถิติที่ดีโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อัตราการเสียชีวิตที่ต่ำมาก

แต่การบริหารจัดการสถานการณ์แพร่ระบาดของรัฐบาลไทยเองก็ต้องแลกมาด้วยงบประมาณค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขระหว่างปี 2563-2565 สูงถึง 444,294 ล้านบาท กว่าครึ่งหนึ่งของงบประมาณที่ถูกใช้ไปกับค่าบริการสุขภาพ การรักษาพยาบาล ค่าฉีดวัคซีน รวม 260,174 ล้านบาทค่าจัดซื้อ บริหารจัดการวัคซีน 77,987 ล้านบาท และค่าตอบแทน-เยียวยา จ่ายชดเชย ค่าเสี่ยงภัย อีก 57,499 ล้านบาท

งบประมาณทั้งหมดนี้มาจากงบฯกลางและงบฯเงินกู้ในกรอบวงเงิน 1 ล้านล้านบาทและ 500,000 ล้านบาท จึงควรที่ผู้เกี่ยวข้องจักต้องถอดบทเรียน รักษาองค์ความรู้ ต่อยอดการวิจัย เพื่อเตรียมพร้อมกับการรับมือโรคระบาดใหม่ ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต เพื่อให้คุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไปให้มากที่สุด