บทบรรณาธิการ : 2 เรื่องสำคัญเทศกาลสงกรานต์

FILE : Photo by Jewel SAMAD / AFP
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

เทศกาลสงกรานต์ประจำปี 2566 จะมีช่วงหยุดยาวตั้งแต่วันที่ 13-17 เมษายน โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ได้เผยแพร่ประกาศสงกรานต์ประจำปีพุทธศักราช 2566 จากฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง ตรงกับ ปีเถาะ (มนุษย์ผู้หญิง ธาตุไม้) เบญจศก จุลศักราช 1385 ทางจันทรคติ เป็น อธิกมาส ทางสุริยคติ เป็น ปกติสุรทิน

วันที่ 14 เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติตรงกับวันศุกร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 5 เวลา 16 นาฬิกา01 นาที 02 วินาที นางสงกรานต์ ทรงนามว่า “กิมิทาเทวี” ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จนั่งมาเหนือหลังมหิงสา (ควาย) เป็นพาหนะ โดยวันที่ 16 เมษายน เวลา 20 นาฬิกา 12 นาที 24 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่เป็น 1385

สงกรานต์ปีนี้จะมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 2 เรื่อง เรื่องหนึ่งเป็นการจัดเทศกาลสงกรานต์เต็มรูปแบบเป็นครั้งแรก หลังการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เทศกาลสงกรานต์ตกอยู่ในความเงียบเหงามาถึง 3 ปี ทางศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประมาณการจะมีเงินสะพัดประมาณ 125,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 17.3%

โดยเงินจำนวนนี้จะมาจากการออกมาจับจ่ายใช้สอยและทำกิจกรรมต่าง ๆ ของประชาชน ในสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งมูลค่าการใช้จ่ายและปริมาณการซื้อสินค้าและบริการ

ด้านกรมการท่องเที่ยวเองก็ได้ประเมินตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาเที่ยวเทศกาลสงกรานต์ระหว่างวันที่ 12-16 เมษายน จะเพิ่มขึ้นกว่า 525% จากปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็นสัดส่วน 58% ของจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในปี 2562

Advertisment

จึงควรที่ผู้ประกอบการธุรกิจประชาชนคนไทย หน่วยงานภาครัฐบาล จะต้องให้การดูแลต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามานำเงินจับจ่ายใช้สอยในประเทศ จากการตั้งเป้าหมายให้การท่องเที่ยวเป็นตัวจักรสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ

ทว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้กลับมีความพิเศษเกิดขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่ง กล่าวคือ ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งใหญ่ ส่งผลให้ทุกพรรคการเมืองต้องใช้ช่วงเวลาเดียวกันนี้รณรงค์ชี้แจงนโยบายสำคัญของพรรคในการแก้ปัญหาของประเทศชาติ ปัญหาของประชาชน

ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ การแก้ไขปัญหาความยากจน หนี้สิน ปัญหาปากท้อง คอร์รัปชั่น และความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันในสังคมไทย ด้วยการนำเสนอสารพัดชุดนโยบายประชานิยม ควรที่ประชาชนคนไทยที่จะออกไปใช้สิทธิใช้เสียงเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม จะต้องใช้เวลาที่เหลืออีก 27 วันหลังสิ้นสุดเทศกาลสงกรานต์พิจารณาอย่างถี่ถ้วน จะเลือกใครเข้าไปบริหารประเทศชาติในห้วงเวลาอีก 4 ปีข้างหน้า