บทบรรณาธิการ : เทศกาลสงกรานต์วิถีใหม่

สงกรานต์
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในทุกมิติ ภายใต้แนวคิด “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2566 โดยมาตรการในลักษณะแบบนี้ได้จัดกันทุกปีเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และการเสียชีวิต จากการขับขี่ยวดยานพาหนะทุกประเภท

เพียงแต่ปีนี้จะต้องเข้มงวดกวดขันเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นการจัดเทศกาลสงกรานต์เต็มรูปแบบ หลังจากไม่ได้จัดงานใหญ่โตกันมาถึง 3 ปี จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19

จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วงสงกรานต์ปี 2565 แม้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แต่ยังมีคนเสียชีวิตทางถนนในช่วง 7 วันของเทศกาลถึง 278 ราย บาดเจ็บ 1,869 ราย เกิดอุบัติเหตุทั้งหมด 1,914 ครั้ง โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (66 ครั้ง)

จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (63 คน) และจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (13 ราย) และหากจะเทียบจำนวนผู้เสียชีวิตในห้วงเวลานั้นก็จะพบว่า มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในรอบ 7 วัน “สูงกว่า” ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เสียอีก

มีการคาดการณ์กันว่า เทศกาลสงกรานต์ปีนี้จะมีผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บ-ล้มตายกันมากกว่าช่วง 3 ปีที่ผ่านมาแน่นอน จากเหตุการระบาดของโควิด-19 สิ้นสุดลง เปิดทางให้มีการจัดเทศกาลงานรื่นเริงทั้งในระดับประเทศ ระดับชุมชน และระดับท้องถิ่นกันอย่างคึกคัก การเดินทางข้ามจังหวัดข้ามประเทศของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ไปจนกระทั่งถึงการเดินทางกลับภูมิลำเนา

Advertisment

อันเป็นช่วงวันหยุดยาวเพื่อพบปะครอบครัวญาติสนิทมิตรสหาย ขณะที่สถิติที่ผ่านมาได้บ่งบอกอย่างชัดเจนไว้ว่า การเกิดอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งนำไปสู่การบาดเจ็บล้มตายนั้น ล้วนแล้วแต่เกิดจากการดื่มสุราจนขาดสติแทบจะทั้งสิ้น

ขณะที่ภาครัฐเองได้เตรียมการรับมือไว้ในระดับ “ความห่วงใย” จากความเชื่อที่ว่า ประชาชนคนไทยจะเดินทางอย่างสุขใจกับชีวิตวิถีใหม่ที่ห่างไกลอุบัติเหตุ ด้วยมาตรการมุ่งลดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ภายใต้แผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลและช่วงวันหยุด พ.ศ. 2566 ซึ่งมีเป้าหมายลดจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ (admit) ลงให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 โดยนับจากเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง

ทว่ามาตรการและการตั้งเป้าหมายแบบนี้ได้ถูกใช้กันมาทุกปีจนกลายเป็น “งานปกติ” ขณะที่ภาคประชาชนจะต้องมีจิตสำนึก มีสติ ลดความเสี่ยง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากสาเหตุ “เมาแล้วขับ” ด้วยตนเอง ควบคู่ไปกับมาตรการของรัฐบาล จึงจะนำไปสู่ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” ได้อย่างแท้จริง