“เขาค้อ” โมเดล

แฟ้มภาพประกอบข่าว

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย พิเชษฐ์ ณ นคร

ช็อกคนไทยทั้งประเทศไม่น้อยไปกว่าข่าวเสี่ยบริษัทยักษ์รับเหมาคดีล่าเสือดำ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตก จ.กาญจนบุรี ที่กำลังฮือฮาอยู่ขณะนี้ เมื่ออัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีก่อสร้างตึกหรูบนเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ จากสาเหตุหลักฐานไม่เพียงพอ

โดยเฉพาะพยานหลักฐานที่เป็นเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการถือครองที่ดินแปลงที่ถูกตรวจสอบ และเป็นที่มาของการกล่าวหาว่าเจ้าของที่ดินกระทำผิดเงื่อนไข แต่เอาเข้าจริงกลับไม่ได้เป็นไปตามข้อสันนิษฐาน

ส่วนอาคาร สิ่งปลูกสร้างใหญ่ ยักษ์ ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง เท่าที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อ แม้ลงทุนพัฒนาโครงการบนที่ดินแปลงที่ถูกทางการตรวจสอบ แต่ไม่ได้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือ เพราะนายทุนเจ้าของโครงการใช้วิธีการร่วมทุนกับเจ้าของที่ดินที่ได้รับการจัดสรรในฐานะราษฎรอาสาสมัคร (รอส.) ภายใต้โครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก ของกองทัพภาคที่ 3 ตั้งแต่ปี 2527

แตกต่างจากหลายกรณีที่ส่วนใหญ่ที่ดินที่ถูกรัฐตรวจสอบมีการซื้อขายเปลี่ยนมือหลายต่อ กรณีนี้ถือเป็นการใช้แท็กติกประเด็นข้อกฎหมายปราบเซียนขึ้นต่อสู้โต้แย้ง ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปกครอง ทหาร แทบจนแต้ม แม้ล่าสุด นายพิบูลย์ หัตถกิจโกศล ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ยืนยันจะหาช่องทางสู้ต่อแต่ผลก็อาจไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง

เพราะเคสนี้ดูตามรูปการณ์ เจ้าของที่ดินอาจไม่ได้ทำผิดหลักเกณฑ์เงื่อนไข โดยเฉพาะเรื่องการจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินที่ได้รับการจัดสรรให้บุคคลอื่น ซึ่งจะเข้าข่ายถูกเพิกถอนสิทธิ์ แต่ใช้วิธีการร่วมทุนระหว่างนายทุนกับเจ้าของที่ดิน

จึงน่าห่วงว่า รูปแบบการร่วมทุนพัฒนาโครงการลักษณะนี้จะเป็นโมเดลที่ถูกนำไปใช้กับที่ดินที่รัฐจัดสรรให้เป็นที่อยู่อาศัยทำกินในพื้นที่อื่น ๆ ในเขตปฏิรูปที่ดิน ที่ดินป่าไม้ที่จัดสรรให้คนยากจน ผู้มีรายได้น้อย กว่ากฎหมายจะจับได้ไล่ทันก็อาจสายเกินการณ์

ที่ยังเป็นปัญหา แก้ไม่ตก และเกิดข้อพิพาทระหว่างเจ้าของที่ดิน รีสอร์ต บ้านพักตากอากาศ กับหน่วยงานของรัฐ ทั้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กับสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) พอยกให้เห็นเป็นตัวอย่าง มีกรณีที่ดิน สปก.ใกล้อุทยานแห่งชาติวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา กับปราจีนบุรี ฯลฯ

เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสบูมของการท่องเที่ยว บวกกับความนิยมของเศรษฐีผู้มีอันจะกินที่ต่างซื้อหาบ้านหลังที่สองเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ พื้นที่ป่าไม้ในทำเลที่ธรรมชาติมีความสวยงาม อากาศ สภาพแวดล้อมดี ที่ดินติดภูเขา ชายทะเล ล้วนสนองนีด กลุ่มเศรษฐี นายทุนได้ ราคาแพงแค่ไหนก็พร้อมควักจ่ายไม่อั้น

ไม่แปลกที่มาตรการเชิงรุกปราบปรามจับกุมผู้บุกรุกพื้นที่ป่า ที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติจะเข้มงวดเข้มข้นเพียงใด ก็ไม่ทำให้คนกลุ่มนี้เกรงกลัวหลาบจำมิฉะนั้นการบุกรุกป่า การเข้าถือครองที่ดินของรัฐโดยมิชอบด้วยกฎหมาย คงไม่พุ่งขึ้นทำลายสถิติบ่อยครั้ง ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังต่างคนต่างทำไม่มีความเป็นเอกภาพ

กรมป่าไม้ระบุว่า ที่ผ่านมาแต่ละปีมีคดีเกี่ยวกับทรัพยากรป่าไม้เฉลี่ยปีละ 6,532 คดี ตัวเลขที่น่าตกใจคือ ช่วงระยะเวลา 36 ปี นั้งตั้งแต่ปี 2516-2552 พื้นที่ป่าไม้ลดลง 30.91 ล้านไร่ หรือลดลงเฉลี่ยปีละ 859,769 ไร่ ผลพวงจากการถูกบุกรุกทำลาย ส่งผลกระทบความสมดุลของระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพประเมินค่ามิได้

โจทย์ของรัฐบาลกับหน่วยงานฝ่ายปฏิบัติเวลานี้จึงอยู่ที่จะเลือกตั้งรับ ด้วยการทำงานแบบเดิม ๆ หรือใช้วิธีรุกไล่ยึดคืนผืนป่า และป้องกันไม่ให้ถูกบุกรุกเพิ่ม

แต่ที่ต้องจับตาและหาทางแก้ล่วงหน้าก่อนจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ คือ การสกัดไม่ให้ “เขาค้อ” โมเดล ถูกนำไปขยายต่อยอดฮุบที่ดินรัฐ พื้นที่ป่าไม้ โดยกฎหมายที่มีอยู่ทำอะไรไม่ได้