ภารกิจหลัก ผลักดันอีอีซี

บทบรรณาธิการ

หนึ่งในเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันมากในเวทีการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก ครั้งที่ 16 ที่จัดขึ้นที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 23-26 มิถุนายนที่ผ่านมานี้ก็คือ การลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งถือเป็น “ความหวัง” ของประเทศที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

ไม่ว่าจะเป็น ยานยนต์ไฟฟ้า ชิป-อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง อุตสาหกรรมสีเขียว BCG ระบบขับเคลื่อน automation และอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งเชื่อกันว่าจะช่วยผลักดันระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ก้าวเข้าสู่ wave ใหม่

เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นโครงการที่รัฐบาลไทยดำเนินการต่อยอดมาจาก Eastern Seaboard เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ อุตสาหกรรม 4.0 ด้วยการยกระดับ 3 จังหวัด ระยอง-ชลบุรี-ฉะเชิงเทรา ในภาคตะวันออกให้กลายเป็นเขตอุตสาหกรรมใหม่

โดยรัฐบาลที่ผ่านมาได้ทุ่มเทการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับโครงการลงทุนแห่งอนาคตไม่ว่าจะเป็น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด โครงการท่าเรือแหลมฉบัง โดยอนุมัติงบฯลงทุนไปแล้ว 1.92 ล้านล้านบาท

แต่โครงการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกจะมาสะดุดจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จนโครงการสำคัญหลายโครงการต้องหยุดชะงัก ไม่เป็นไปตามแผน อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แม้จะมีการส่งมอบพื้นที่เกือบจะแล้วเสร็จ แต่ก็ยังติดขัดในเรื่องของการแก้ไขสัญญาร่วมทุน

Advertisment

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก หลังบริษัทแอร์บัสถอนตัวจาก โครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา ไปแล้ว ก็ยังติดเงื่อนไขการบังคับก่อนตามสัญญาร่วมทุน ดูเหมือนจะมีเพียง 2 โครงการใหญ่ที่มีความคืบหน้าในการดำเนินการ คือ โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด กับโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ที่มีการดำเนินการไปถึงระยะที่ 3

แม้โครงการที่ยังมีความจำเป็นต้องแก้ไขสัญญาร่วมทุนตามการร้องขอของภาคเอกชนที่ชนะการประมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใต้รัฐบาลรักษาการ

แต่จำเป็นที่รัฐบาลชุดใหม่จักต้องเร่งดำเนินการขจัดข้อปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นทันที โดยรัฐไม่เป็นฝ่ายเสียประโยชน์ โดยถือเป็นภารกิจแรก ๆ ของประเทศเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน สมกับที่บรรดานักธุรกิจเชื้อสายจีนชั้นนำของประเทศได้กล่าวเชิญชวนให้นักธุรกิจจีนเข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในระหว่างงานประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลกที่เพิ่งจบสิ้นไป