เจ้าสัวธนินท์ แนะนักธุรกิจชาวจีนโลกดึงเทคโนโลยีปฏิรูปอุตสาหกรรม

ธนินท์ เจียรวนนท์

เจ้าสัวธนินท์ เครือซี.พี. ปาฐกถาเวทีประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลกครั่งที่ 16 แนะดึงเทคโนโลยีปฏิรูปอุตสาหกรรมการผลิต-การลงทุน สร้างโอกาสพัฒนาธุรกิจแห่งอนาคต เดินหน้าตั้งกองทุนปั้นนวัตกรรม พร้อมหนุนธุรกิจในอนาคต ดูแลสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานสะอาด

วันที่ 25 มิถุนายน 2566 นายธนินท์ เจียรวนนท์ กล่าวปาฐกถาพิเศษในฐานะนายกสมาคมนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก ครั้งที่ 16 (The 16th World Chinese Entrepreneur Convention หรือ WCEC) ว่าการประชุมครั้งนี้นักธุรกิจจีนจะต้องมองวิกฤตเป็นโอกาส และจะต้องวิเคราะห์ถึงโอกาส

ปฏิรูปเทคโนโลยีเสริมแกร่ง

นายธนินท์ชี้ให้เห็นว่า การปฏิรูปด้านเทคโนโลยีชั้นสูงเป็นสิ่งสำคัญมาก การพัฒนาอุตสาหกรรม โดยเล่าย้อนไปในอดีตที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีชั้นสูงจากการลงทุนของญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนทั้งธุรกิจรถยนต์และส่วนประกอบ อิเล็กทรอนิกส์ทำให้เรามองว่าการที่ไทยประสบความสำเร็จในวันนี้มาจากการลงทุนเทคโนโลยีชั้นสูงของญี่ปุ่นด้วย

“เอเชียเป็นภูมิภาคที่มีประเทศที่มีขนาดทางเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 และ 3 ของโลก ปัจจุบันนี้จีนมีขนาดทางเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ญี่ปุ่นใหญ่เป็นอันดับ 3 มีประชากรในจีนมากกว่า 1,400 ล้านคน ประชากรญี่ปุ่นก็มีเป็นจำนวนมากหลายร้อยล้านคน น้อยกว่าจีนแต่ยังสามารถสร้างความแข็งแกร่งทางด้านเทคโนโลยีให้กับประเทศไทยได้มากขนาดนี้ เชื่อว่าจีนก็สามารถทำได้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีประชากรจากเกาหลีใต้ซึ่งรวมแล้วมีมากกว่า 2 พันล้านคน จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับภูมิภาค”

ลงทุนเทคโนโลยี พัฒนาภาคการผลิต

พร้อมกันนี้ ยังได้ยกตัวอย่างการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเลี้ยงไก่ซึ่งอาศัยเทคโนโลยีที่มาจากประเทศสหรัฐอเมริกาสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมไก่ในประเทศไทยอย่างมาก สะท้อนให้เห็นว่าการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงเป็นสิ่งสำคัญที่ภาคธุรกิจจะต้องคำนึงถึง

“การลงทุนทางด้านการผลิตเป็นสิ่งสำคัญซึ่งแน่นอนว่าจะต้องใช้เงินลงทุน มันต่างจากการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล หรือ content อย่างหนังหรือเพลง การลงทุนด้านการผลิต คุณจะต้องมีการสร้างโรงงานซึ่งมีการสร้างโอกาสให้กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้ด้วย และต้องนำการพัฒนาเทคโนโลยีมาปฏิรูปใช้ในธุรกิจเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่ได้แปลว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยีแทนแรงงานคน แต่การใช้เทคโนโลยีมาพัฒนา จะทำให้แรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดิมสามารถไปสร้างธุรกิจใหม่”

ในอนาคตคนหนุ่มสาวจะต้องมีการออกไปสร้างธุรกิจ ซึ่งในวันนี้การสร้างธุรกิจมีความสะดวกมากกว่าในอดีต เพราะมีทั้งองค์ความรู้ มีเทคโนโลยี มีอินเทอร์เน็ตที่สามารถใช้สืบค้นข้อมูลตัวเลขและจัดหาสินค้าและวัตถุดิบในการลงทุน แต่สุดท้ายหนีไม่พ้นในเรื่องของอุตสาหกรรมการผลิต การมีศูนย์กระจายสินค้า นักธุรกิจส่วนใหญ่จำเป็นต้องมีการลงทุนอุตสาหกรรมการผลิต และใช้เงินลงทุนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์

ศึกษาโมเดลลงทุนจีน ตั้งกองทุนปั้นนวัตกรรม

“นักธุรกิจถ้ามีการลงทุนต้องมีการปฏิรูปเทคโนโลยี เพื่อสร้างนวัตกรรมให้เกิดการพัฒนาธุรกิจ ซึ่งเราสามารถไปศึกษาเรื่องนี้ที่ประเทศจีนได้ เขามีการดำเนินการเรื่องนี้เขาตั้งกองทุนขึ้นมาและเข้าไปลงทุนในบริษัทที่มีนวัตกรรม ซึ่งเราก็มีแผนที่จะตั้งกองทุนเช่นกัน”

นายธนินท์อธิบายว่า ตลาดจีนมีขนาดใหญ่มีทั้งอุตสาหกรรมที่ต้องการปฏิรูป ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เขามีบุคลากรและนวัตกรรม แต่ยังขาดแหล่งเงินทุน ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็จะต้องหาแหล่งลงทุนเข้าไป หรืออีกด้านหนึ่งเราเข้าไปศึกษาเพื่อนำเอาประสบการณ์ของเขามาประยุกต์ใช้

“ประตูของประเทศจีนยิ่งเปิดได้ก็จะยิ่งกว้าง
ปัจจุบันคงสร้างพื้นฐานของจีนแตกต่างจากเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ประชาชนชาวจีนที่รวยและมีทุนทรัพย์มากกว่าอดีต แต่อุตสาหกรรมของเขาจำเป็นต้องมีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่การพูดเรื่องนี้เราจะไปแทรกแซงในเรื่องของเขา แต่เรามองว่าการใช้เทคโนโลยีอาจจะทำให้มีการพัฒนามากยิ่งขึ้น หากสามารถนำเข้าเทคโนโลยีไปที่จีนได้ หรือใช้ศึกษาความสำเร็จของจีนที่มีการพัฒนาและนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศของเราได้”

นายธนินยกตัวอย่างว่า ในอดีตเมื่อ 30-40 ปีก่อน CP ได้รับเชิญเข้าไปลงทุนผลิตมอเตอร์ไซค์ในประเทศจีน ซึ่งขณะนั้นประเทศจีนนับเป็นประเทศที่มีขนาดตลาดใหญ่ แต่ยังขาดทุนทรัพย์ ในขณะที่ CP มีทุนและมีเทคโนโลยีพร้อม จึงนำมาให้เกิดการลงทุนดังกล่าว

ทุกวันนี้จีนมีเทคโนโลยี มีบุคลากร แต่บางอุตสาหกรรมยังต้องการการปฏิรูปการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจ เรามีตัวอย่างการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้มากถึง 5 เท่า โดยการใช้เทคโนโลยีและ big data เข้ามาช่วย ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีสามารถผลิตสินค้าที่มีราคาถูกลงได้ ก็จะกลายเป็นจุดขาย แต่หากเรายังไม่มีการพัฒนาสินค้าทำให้สินค้ายังมีราคาแพงและยังไม่ทันสมัย เราก็จะต้องตกยุค

ไทยศูนย์กลางอาเซียน

“การที่จีนมีนโยบายพัฒนา 1 แถม 1 เส้นทาง หรือ BRI ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ประกาศ นำมาสู่การร่วมกัน การหารือ พัฒนา และแบ่งปันสิ่งต่าง ๆ ในภูมิภาคเป็นคำกล่าวที่เป็นรูปธรรมที่สุด”

ในด้านการลงทุนไทยเป็นจุดศูนย์กลางอาเซียน ผมยังมองโอกาสของการพัฒนาความสัมพันธ์ในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักธุรกิจจีนซึ่งมีความชัดเจนในเรื่องของการขยายการลงทุน เราหวังว่านักธุรกิจจีนจะมองโอกาสการลงทุนในพื้นที่ EEC ประเทศไทย

หนุนพลังงานสะอาด

นายธนินท์กล่าวว่า เรื่องพลังงานไฟฟ้าเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งในภาคการผลิตในอนาคต เพราะเป็นพื้นฐานของภาคการผลิตหากไฟฟ้าไม่แพง ไฟฟ้าสะอาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาของอุตสาหกรรม

พร้อมกันนี้ได้ยกตัวอย่างนโยบายด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศฝรั่งเศสที่ได้มีการลงทุนผลิตพลังงานไฟฟ้าพลังงานสะอาดจากนิวเคลียร์ ซึ่งประชาชนชาวฝรั่งเศสไม่ได้แสดงการคัดค้านเรื่องนิวเคลียร์ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลฝรั่งเศสวางมาตรการในการลดความเสี่ยงและคุ้มครองประชาชน เรื่องนี้ส่งผลให้เกิดความคึกคักในการลงทุนอย่างมาก พร้อมมีธุรกิจสนใจเข้าไปลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดมากกว่าการลงทุนในกองทุนเลี้ยงชีพคนชราเสียอีก นี่จึงเป็นโอกาสในการขยายการลงทุนในฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ CP มองว่าพลังงานสะอาดเป็นสิ่งสำคัญและมีหลายช่องทาง ทั้งพลังงานไฟฟ้าจากน้ำ ลม และนิวเคลียร์ เพราะในอนาคตพลังงานสะอาดจะมีความสำคัญต่อภาคการผลิต และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ