ต้องมีรัฐบาลโดยเร็วที่สุด

Photo by REUTERS/Athit Perawongmetha
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

ผลการลงมติพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้เสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรี ภายหลังเปิดให้มีการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภากว่า 4 ชั่วโมง

ประธานรัฐสภาขอปิดอภิปรายและเปิดให้มีการลงคะแนนเสียงโดยเปิดเผย ปรากฏมีสมาชิกให้ความเห็นชอบ 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง และงดออกเสียง 199 เสียง ส่งผลให้ นายพิธา ได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบไม่มากกว่า “กึ่งหนึ่ง” ของจำนวนสมาชิกทั้ง 2 สภา (375 เสียง)

ทั้งนี้ มีข้อน่าสังเกตว่า นอกเหนือจากเสียงโหวตของพรรคร่วม 8 พรรค จำนวน 311 เสียงแล้ว มีสมาชิกวุฒิสภาจำนวนแค่ 13 คน จากทั้งหมด 249 คน ที่โหวตให้ นายพิธาหลังจากการลงคะแนนเสียงสิ้นสุดลง นายพิธา “ยอมรับ แต่ไม่ยอมแพ้” และจะใช้เวลาที่เหลืออยู่ ก่อนที่จะมีการโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งต่อ ๆ ไป รวบรวมเสียงสนับสนุนให้เกินกึ่งหนึ่งให้ได้

สำหรับเหตุผลที่นายพิธาไม่สามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนให้เกินกว่ากึ่งหนึ่ง หรืออีกนัยหนึ่ง การต้องพึ่งพาเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. อีก 51 เสียงนั้น ได้สะท้อนออกมาอย่างเป็นทางการจากการเปิดอภิปรายภายหลังการเสนอชื่อนายพิธาโดยตลอดของการอภิปรายประเด็นข้อสงสัยและกังวลใจของทั้ง ส.ว. และพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ที่ให้น้ำหนักไว้ก็คือการแก้ไข มาตรา 112 ซึ่งถือเป็น “วาระเฉพาะ” ของพรรคก้าวไกล ที่จะผลักดันตามนโยบายที่หาเสียงไว้ แม้จะไม่อยู่ใน MOU 8 พรรคร่วม แต่ก็เปิดช่องเป็นการเฉพาะให้สามารถกระทำได้

ดังนั้นการดำเนินอยู่ของความพยายามที่จะแก้ไข มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล โดยไม่มีท่าทีว่าจะถอนเรื่อง หรือยอมถอย จึงกลายมาเป็นอุปสรรคสำคัญในการได้เสียงสนับสนุนของ ส.ว. และพรรคร่วมรัฐบาลเดิม แม้พรรคก้าวไกลจะอ้างถึงคะแนนเสียงที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามากว่า 14 ล้านเสียง ส่งผลให้ได้ ส.ส. 151 ที่นั่ง แต่อย่าลืมว่าเป็นการเลือกตั้งภายใต้ “กติกา” ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ล็อกจำนวนเสียงสนับสนุนจากทั้ง 2 สภาไว้ว่า จะต้องเกินกึ่งหนึ่ง

Advertisment

ขณะที่ภายนอกรัฐสภาก็ถูกดำเนินการไปอย่างเข้มข้นในรูปของมวลชน เพื่อ “ส่งพิธา” เป็นนายกฯ พร้อมนัดหมายการชุมนุมต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะมีการโหวตครั้งที่ 2 โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวได้กลายมาเป็นความกังวลของภาคเอกชนที่หวั่นเกรงภาวะชะงักงันทางการเมืองที่ไปต่อไม่ได้

อันแสดงถึงการไม่มีรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศในเร็ววัน จนสะท้อนออกมาเป็นข้อเรียกร้องจากภาคธุรกิจเอกชน ขอให้พรรคร่วม 8 พรรค เร่งแสวงหาแนวทางในการนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วที่สุด