เมื่อไหร่จะได้รัฐบาลชุดใหม่

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปกว่า 2 เดือนแล้ว ที่พรรคเสียงข้างมากในนามฝ่ายประชาธิปไตย 8 พรรคการเมืองยังไม่สามารถจัดตั้ง รัฐบาลชุดใหม่ เข้ามาบริหารประเทศได้ โดยพรรคก้าวไกลในฐานะ “แกนนำ” ที่ได้รับเสียงเลือกตั้งมาเป็นอันดับหนึ่ง ไม่สามารถผลักดันให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีขึ้นเป็น นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ได้

เนื่องจากไม่ได้รับเสียงโหวตจากสภาเกินกึ่งหนึ่งหรือ 376 เสียง แถมในการนัดโหวตรอบที่ 2 เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ก็ไม่สามารถโหวตได้อีก เนื่องจากการเสนอชื่อของนายพิธานั้นเข้าข่ายเป็นญัตติที่รัฐสภาตีตกไปแล้ว นำมาซึ่งการลงมติในที่ประชุมสภาเสียงข้างมาก 395 เสียง ต่อ 312 เสียงไม่สามารถเสนอชื่อ นายพิธา เป็นนายกฯซ้ำได้อีกในสมัยประชุมสภานี้

จากข้อเท็จจริงที่เขียนเป็น “กติกา” ไว้ในรัฐธรรมนูญที่ว่า การให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 จะต้องได้รับเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่ง ในขณะที่ 8 พรรคที่ให้สัตยาบันร่วมกันมีเสียงแค่ 312 เสียง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจาก สมาชิกวุฒิสภา

แต่ก็มาติดขัดตรงนโยบายของพรรคก้าวไกล ในการแก้ไขมาตรา 112 ไม่อาจเป็นที่ยอมรับได้ทั้งในส่วนของเสียงสนับสนุนจาก สมาชิกวุฒิสภา รวมไปถึง พรรคร่วมรัฐบาลเดิม ก็ได้แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข มาตรา 112 และยังเลยเถิดไปถึงขั้นที่ว่า ในอนาคตก็ไม่สามารถร่วมงานกับ พรรคก้าวไกล ได้ด้วย เนื่องจากมีความแตกต่างทางด้านนโยบายอย่างมาก

สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นกับพรรคก้าวไกลที่ไม่สามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนเกินกว่ากึ่งหนึ่งและยังติดข้ออุปสรรคไม่สามารถเสนอชื่อ นายพิธา เพื่อโหวตรอบที่ 2 จนนำมาซึ่งการ“ตกลง” ที่จะให้พรรคที่ได้รับเสียงเลือกตั้งเป็นอันดับ 2 คือ พรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็น “แกนนำ” จัดตั้งรัฐบาลแทน

Advertisment

แม้จะมีแนวคิดในการเปลี่ยนสูตรการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อผ่าทางตัน แต่ก็ยังต้องเผชิญกับการต่อต้านจากสมาชิกวุฒิสภา และความเห็นจากพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ที่ไม่ต้องการเห็นพรรคก้าวไกล อยู่ใน 8 พรรคที่ลงนามในสัตยาบันร่วมกันอยู่ดี

แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันอยู่ในขณะนี้ก็คือ จะไม่เกิดผลดีแต่อย่างใดทั้งสิ้นที่จะปล่อยให้เกิดความยืดเยื้อในการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอที่ว่า ให้รอไปอีก 10 เดือนจนกว่า ส.ว.ชุดนี้จะหมดอายุ แล้วค่อยโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อรักษาหลักการรัฐบาลประชาธิปไตย ไม่สืบทอดอำนาจรัฐบาลเผด็จการนั้น

สะท้อนออกมาจากภาคเอกชนอย่าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ว่า ความล่าช้าที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อประเทศไทย จนถึงขั้นที่ว่า ปัญหาเฉพาะหน้าเร่งด่วนไม่ว่าจะเป็น การลดค่าไฟฟ้า การสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ปัญหาภัยแล้ง ขอให้แก้ไขทันทีโดยไม่ต้องรอรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งยังไม่รู้ว่า จะตั้งได้สำเร็จเมื่อไหร่