ตีโจทย์ “ส่งออกไทย” อีกความท้าทายสุดหิน

ตีโจทย์ ส่งออกไทย
คอลัมน์ : นอกรอบ
ผู้เขียน : ดร.ฉมาดนัย มากนวล Krungthai COMPASS

คำถามหนึ่งที่ไทยกำลังเผชิญหน้า คือ เกิดอะไรขึ้นกับเครื่องยนต์ส่งออกซึ่งตอนนี้กำลังเดินถอยหลังและฉุดเศรษฐกิจมากว่า 9 เดือนตั้งแต่ช่วงตุลาคมปีก่อนหลังจากมูลค่าการส่งออกเริ่มติดลบ ปัญหานี้จะลากยาวไปอีกนานแค่ไหน และเราเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์หรือยัง

หากประเมินวัฏจักรส่งออกหดตัวครั้งนี้ตามข้อมูลล่าสุดถึงมิถุนายน 2566 ตัวเลขส่งออกรายเดือนโดยเฉลี่ยติดลบไปแล้ว 6.3% ถ้าการส่งออกยังคงหดตัวต่อเนื่องเช่นนี้ มีความเป็นไปได้ที่ไทยจะเผชิญกับสภาวะส่งออกติดลบยาว เมื่อนับย้อนไปถึงเกือบ 30 ปีก่อน รอบการส่งออก
หดตัวเคยลากนานที่สุดกินเวลา 13 เดือน โดยเกิดขึ้นแล้ว 2 ครั้ง ได้แก่ ในปี 2540 หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง และอีกครั้งเมื่อปี 2558 ซึ่งเป็นช่วงโลกชะลอตัวหลังการเติบโตของประเทศตลาดเกิดใหม่นำโดยจีนแผ่วลง

มาเจาะลึกถึงตัวเลขขณะนี้ในเดือนมิถุนายนพบว่า สินค้าส่งออกหลัก “ติดลบ” เกือบถ้วนหน้า โดยเฉพาะอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง พลาสติก รวมไปถึงสินค้าเกษตรที่เคยโตต่อเนื่อง ซึ่งกลุ่มสินค้าหดตัวเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วนถึง 63.3% ของการส่งออกทั้งหมด

ส่วนคู่ค้าทั้งตลาดส่งออกหลักและรองติดลบเกือบยกแผง มีเพียงตะวันออกกลาง แอฟริกา อังกฤษ และเอเชียกลาง ที่ตัวเลขตั้งแต่ต้นปียังเติบโต แต่ตลาดดังกล่าวรวมกันเป็นเพียง 8.8% ของยอดส่งออกเท่านั้น เหตุการณ์ครั้งนี้จึงมีความเสี่ยงสูงหากวิกฤตลากยาวออกไป

เมื่อวิเคราะห์ต้นตอของปัญหาจะพบถึงความซับซ้อน เนื่องจากสาเหตุหลักเป็นปัจจัยในระดับโลก บรรดาผู้ส่งออกสำคัญโดยเฉพาะในเอเชีย เช่น จีน เกาหลีใต้ ต่างเผชิญภาวะเดียวกันกับไทย ตัวเลขเดือนมิถุนายนของทั้งสองชาติ (ซึ่งเผยแพร่เร็วกว่าไทย) รายงานการติดลบต่อเนื่อง ภาวะส่งออกตกต่ำของหลายประเทศเป็นผลกระทบจากภาคการผลิตของโลกที่หดตัว สินค้าที่เคยได้อานิสงส์จากโควิดบางตัวอยู่ในวัฏจักรขาลง ขณะที่การฟื้นตัวหลังการเปิดประเทศของจีนกลับเปราะบาง

นอกจากภาวะผันผวนข้างต้น ปัญหาอีกด้าน คือ การปรับระบบการผลิตและการค้าโลกที่จะกินเวลาและกระทบการส่งออกไทยไปอีกหลายปี ภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานอย่างรุนแรงหลังการแพร่ระบาด และสงครามยูเครนกระตุ้นให้บรรษัทข้ามชาติเปลี่ยนแหล่งสั่งซื้อและย้ายฐานการผลิต

ประกอบกับความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตที่ตึงเครียดขึ้นเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางการค้าไปสู่การแยกขั้ว คู่ค้าของผู้ส่งออกไทยบางส่วนจึงกำลังเปลี่ยนหน้าและเลี่ยงไม่พ้นที่เราต้องสูญเสียยอดขายเหล่านั้นไป

จากการพยากรณ์ด้วยเครื่องชี้ปัจจุบัน (Nowcasting) โดย UNCTAD ล่าสุดปลายเดือนมิถุนายน คาดว่าการค้าระหว่างประเทศจะชะลอลงต่อเนื่องในไตรมาส 3/2566 และมีแนวโน้มว่าการส่งออกของโลกในช่วงที่เหลือของปียังถูกกดดันต่อไป พร้อมเตือนว่าผลกระทบจากกระแสการค้าเฉพาะในกลุ่มมิตร (Friend-shoring) ได้ปรากฏขึ้นและทำลายบรรยากาศการค้าโลกอย่างชัดเจนแล้ว

อีกปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ยังใช้เวลาอีกระยะ คือ การปรับระดับสินค้าคงคลังของทั้งโลก หลังจากที่ภาคธุรกิจเคยเร่งสะสมสต๊อกป้องกันสินค้าขาดมือเพื่อรองรับกับอุปสงค์ซึ่งอั้นไว้ช่วงล็อกดาวน์ แต่เหตุการณ์ตอนนี้กำลังเป็นภาพกลับกัน โดยธุรกิจต่างพยายามระบายสต๊อกคงค้างและจำกัดคำสั่งซื้อใหม่เพราะกังวลว่าอุปสงค์กำลังลดลงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว การปรับสต๊อกกลับไปมาเหมือนแกว่งแส้ม้า (Bullwhip Effect) ดังกล่าวยังต้องใช้เวลาอีกระยะ โดยกระบวนการลดสต๊อกในช่วงนี้จึงเป็นอีกปัจจัยลบที่กระทบการส่งออกของไทย

โจทย์ส่งออกครั้งนี้เป็นข้อสอบหิน หากจะให้ตัวเลขกลับมาเป็นบวก การส่งออกรายเดือนของไทยช่วงที่เหลือของปีต้องไม่ต่ำกว่าเดือนละ 24,320 ล้านดอลลาร์ แต่ขณะนี้เราส่งออกได้เฉลี่ยเพียง 23,530 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ภาพระยะข้างหน้าเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ท่ามกลางการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อของประเทศหลักช่วงครึ่งปีหลัง

โลกในระยะปลายปีอาจแย่ลงกว่านี้ หากชาติตะวันตกบางส่วนประสบภาวะเศรษฐกิจหดตัว Krungthai COMPASS ประเมินว่า มูลค่าการส่งออกไทยในปี 2566 จะหดตัว -1.6% เทียบจากปีก่อนที่สามารถขยายตัวได้ 5.5% ความหวังจะเห็นตัวเลขสินค้าไทยทั้งปีกระเตื้องกลับเป็นบวกจึงเกิดขึ้นได้ยาก ขณะที่การขยายตลาดต้องเผชิญกับอุปสรรคทางการค้าใหม่ ๆ ที่กำลังทวนกระแสโลกาภิวัตน์ลง

หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไปโดยละเลยการเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส เครื่องยนต์ที่กำลังรวนตัวนี้อาจจะน็อกกลไกอื่นของระบบเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนภาคเอกชน ที่ล้วนถูกขับเคลื่อนด้วยการส่งออก การสร้างมิตรในกระแสแยกขั้วผ่านการเดินหน้าข้อตกลงทางการค้าเสรี การเพิ่มทางเลือกสินค้าตอบโจทย์ใหม่เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในตลาดเดิม และการมองหาลูกค้ากลุ่มใหม่ในตลาดเปิดใหม่ยังคงเป็นโอกาสสำหรับไทยเสมอ