เมื่อโลกใกล้เดือด

โลกร้อน
บทบรรณาธิการ

นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ออกมากล่าวในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ว่า การเปลี่ยนของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในตอนนี้เป็นสิ่งที่น่ากลัวและกำลังเป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดยุคของ “ภาวะโลกร้อน” โดยโลกกำลังเข้าสู่ยุค “ภาวะโลกเดือด” จากผลกระทบที่รุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นายกูเตอร์เรส ได้เรียกร้องก่อนที่จะมี การประชุมสุดยอดสภาพภูมิอากาศ (Climate Ambition Summit) ในเดือนกันยายนนี้ ด้วยการให้ประเทศที่พัฒนาแล้ว มุ่งมั่นที่จะบรรลุ ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) หรือการที่ปริมาณการปล่อยคาร์บอน (CO2) เข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืนมาผ่านป่าหรือวิธีการอื่น ให้ใกล้เคียงกับปี 2583 เช่นเดียวกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในปี 2593 ด้วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เช่น การลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล การปลูกป่า หรือการซื้อคาร์บอนเครดิต

โดยความเป็นกลางทางคาร์บอนนับเป็นเป้าหมายแรก ควบคู่ไปกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ net zero emissions คือ การที่ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีความสมดุลเท่ากับก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดซับออกจากชั้นบรรยากาศ ซึ่งในสภาวะสมดุลนี้จะไม่เพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ

หากทำได้ตามเป้าหมายจะเท่ากับสามารถหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก “ส่วนเกิน” ที่จะส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์โลกร้อนได้ โดยมี ความตกลงปารีส (Paris Agreement) เป็นเครื่องกำกับที่จะรักษาอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เหนืออุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมและพยายามจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดในการลดก๊าซเรือนกระจก (Nationally Determined Contributions : NDCs) ประเทศไทย ได้ลงนามรับรองความตกลงปารีสในปี 2559 และได้จัดทำ แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 โดยกำหนดเป้าหมายว่า ภายในปี 2573 (2030) ประเทศไทยจะลดก๊าซเรือนกระจกขั้นต่ำที่ร้อยละ 20 และกำหนดเป้าหมายขั้นสูงที่ร้อยละ 25 จากกรณีปกติ

แต่การส่งสัญญาณจากเลขาธิการสหประชาชาติที่ได้ก้าวไปไกลกว่าภาวะโลกร้อนแล้ว เท่ากับเป็นการย้ำเตือนให้ที่ประชุมสุดยอดสภาพภูมิอากาศในเดือนกันยายน จักต้องเร่งปรับเปลี่ยนเป้าหมายทั้งความเป็นกลางทางคาร์บอน และการลดก๊าซเรือนกระจก ให้เร็วขึ้นไปอีก ประเทศไทยในฐานะสมาชิกของความตกลงปารีส จำเป็นต้องเตรียมพร้อมในการปรับแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกให้เท่าทันกับสถานการณ์โลกร้อนที่กำลังจะเปลี่ยนไปในทางเลวร้ายมากขึ้น

เพราะการลดก๊าซเรือนกระจกนอกจากจะเป็นการช่วยโลกโดยรวมแล้ว ผลของการปฏิบัติในทุกประเทศจะย้อนกลับมาช่วยลดผลกระทบจากโลกร้อนให้กับตัวเองด้วย