ความเสี่ยงเงินเฟ้อไทย ทำไมยังน่ากังวล

เงินเฟ้อ
คอลัมน์ : นอกรอบ
ผู้เขียน : ดร.ฉมาดนัย มากนวล
Krungthai COMPASS

หากถามถึงสิ่งที่พวกเรากำลังกังวลกันอยู่ขณะนี้ คำตอบลำดับต้น ๆ ในผลสำรวจทุกสำนักจะเป็นเรื่องสินค้าราคาแพง ที่กดดันต้นทุนและค่าครองชีพ วิกฤตโควิดรอบนี้ทำให้อัตราเงินเฟ้อไทยพุ่งสูงสุดในรอบ 24 ปี ขณะที่ระดับราคาในตะกร้าสินค้าเฉลี่ยตอนนี้ยังมากกว่าราคาเดิมที่เคยใช้จ่ายเมื่อช่วงก่อนการแพร่ระบาดถึงเกือบ 3 เท่า

ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ อัตราเงินเฟ้อไทยในปี 2567 มีแนวโน้มสูงกว่าตัวเลขในปีนี้ ความเชื่อเดิมที่ว่าปัญหาสินค้าราคาแพงเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว จากการผลิตที่ไม่พอต่อความต้องการที่อั้นไว้ช่วงล็อกดาวน์เท่านั้นคงไม่ถูกต้อง เนื่องจากราคาอาจยืนสูงต่อไป ปรากฏการณ์ดังกล่าวจึงท้าทายและก่อให้เกิดคำถามว่า ยุคเงินเฟ้อ ต่ำที่แข่งกันขายของลดราคาหมดลงแล้ว และเงินเฟ้อสูงจะอยู่กับเราต่อไปจนกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่หรือไม่

แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปรายเดือนได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว หลังแรงกดดันอุปสงค์เร่งตัวจากการเปิดประเทศ ผนวกกับปัญหาอุปทานชะงักงัน ซึ่งส่งผลให้เงินเฟ้อพุ่ง 7.9% สูงเป็นประวัติการณ์ในเดือนกันยายน 2565 แต่การปรับลดของเงินเฟ้อช่วงขาลง (disinflation) หลังผ่านจุดสูงสุดดังกล่าว กลับมีแนวโน้มล่าช้ากว่าในช่วงขาขึ้น อัตราเงินเฟ้อระยะ 3 เดือนแรกของขาลงปรับลดเกือบ 1.0%

แต่หลังจากนั้นทยอยลดช้าลงเรื่อย ๆ จนช่วง 3 เดือนที่ผ่านมานี้ลดไปเพียง 0.02% เท่านั้น สะท้อนว่าเงินเฟ้อเริ่มทรงตัวและไม่มีสัญญาณว่าราคาจะกลับไปสู่ระดับเดิมที่เคยเห็นในช่วงก่อนการแพร่ระบาด

หากเจาะลึกองค์ประกอบของตะกร้าสินค้าในการสำรวจดัชนีราคา ตัวหลักที่ทำให้ราคาขยับแรงจะเป็นกลุ่มพลังงานและอาหารสด โดยเฉพาะราคาพลังงานซึ่งปรับลดเร็วเฉลี่ยเดือนละ 2.6% แต่เมื่อหักบรรดารายการผันผวนเหลือเพียงกลุ่มสินค้าพื้นฐานที่มีสัดส่วนประมาณ 67.1% ของตะกร้า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานกลับลดลง 0.18% ต่อเดือนเท่านั้น เห็นได้ว่าราคาสินค้าส่วนใหญ่มีความหนืด เนื่องจากการส่งผ่านต้นทุนล่าช้าและกลไกการปรับราคาขาดความยืดหยุ่น

อีกสาเหตุหนึ่งซึ่งทำให้เงินเฟ้อปรับลดช้าในช่วงขาลง เนื่องจากเงินเฟ้อมีแนวโน้มฝังตัว ผู้บริโภคและผู้ผลิตจะยิ่งวิตกกังวลมากขึ้น เมื่อประสบปัญหาเงินเฟ้อสูง โดยจะเฝ้าติดตามราคาและทยอยอัพเดตข้อมูลใหม่เมื่อราคาขยับขึ้น เพื่อคำนวณค่าใช้จ่ายแต่ละครั้งอย่างละเอียด ต้นทุนสูงกดดันผู้ผลิตให้ปรับราคาสินค้าแพงขึ้น เพื่อชดเชยรายจ่ายและรักษาผลกำไร ภาพจำต่อราคาซึ่งเคยทยอยปรับขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้มีมุมมองว่าเงินเฟ้อระยะข้างหน้ายังคงสูงอยู่ต่อไป แม้เงินเฟ้อได้ผ่านเข้าสู่ช่วงขาลงแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปช่วงขาลงของไทยปรับลดเฉลี่ยเดือนละ 0.6% ขณะที่ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อระยะข้างหน้าปรับลดแค่ 0.1% ต่อเดือน สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ค่าเฉลี่ยรายเดือนของการคาดคะเนเงินเฟ้อช่วงขาลงสูงถึง 3.7% ขณะที่ตัวเลขก่อนการแพร่ระบาดอยู่ที่ 1.8% ทัศนคติที่ฝังในใจว่าเงินเฟ้อยังสูงจะเป็นตัวกำหนดให้ราคาอยู่ในระดับสูงและปรับลงได้ยากไปอีกระยะหนึ่ง ถือเป็นหน้าที่ของผู้กำหนดนโยบายในการปลุกความเชื่อว่า เงินเฟ้อยังยึดเหนี่ยวกับเป้าหมายและสามารถลงสู่ค่ากลางของกรอบที่ 2% ได้ในระยะข้างหน้า

พลวัตเงินเฟ้อของไทยในระยะหลังยังเปลี่ยนไปจากช่วงเงินเฟ้อขาขึ้น เงินเฟ้อได้รับแรงหนุนใหม่ ๆ ที่ทำให้ปรับลงได้ยาก เช่น ค่าใช้จ่ายด้านบริการซึ่งขยับขึ้นตามการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะราคาหมวดนันทนาการซึ่งเพิ่งเริ่มปรับลงต่อเนื่องหลังเดือนมิถุนายนนี้ ลดไปได้ประมาณ 0.04% ต่อเดือนเท่านั้น ขณะเดียวกัน การส่งผ่านที่ล่าช้าของราคานำเข้า ตลอดจนค่าเงินบาทซึ่งระยะหลังผันผวนในทิศทางอ่อนค่ากว่าคาด ต่างเป็นปัจจัยหน่วงรั้งให้เงินเฟ้อทรงตัวในระดับสูง

มองต่อไปในระยะข้างหน้า เรายังต้องเผชิญกับภาวะสินค้าราคาแพง ขณะที่ความเสี่ยงซึ่งจะกดดันให้เงินเฟ้อกลับมาเร่งตัวถาโถมเข้ามาอีก ทั้งปรากฏการณ์เอลนีโญ ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์

และปัญหาในตะวันออกกลาง ซึ่งอาจยกระดับความรุนแรงขึ้น เป็นไปได้สูงมากว่ายุคเงินเฟ้อต่ำได้ผ่านไปแล้ว เพื่อปรับตัวกับอีกหนึ่งวิถีใหม่ที่จะอยู่กับเราต่อไป ขอแนะนำผู้บริโภคและผู้ประกอบการลองหันมาใช้เทคนิคการประหยัดเพิ่มเติม เช่น ลดต้นทุนหรือตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป บริหารการซื้อให้ได้รับส่วนลดในทุกยอดใบเสร็จ ลดปริมาณการใช้ของแต่ละอย่าง เหลือเพียงเท่าที่ต้องการ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น จัดลำดับความสำคัญของรายจ่ายแต่ละรายการก่อนซื้อ เชื่อว่ากลยุทธ์เหล่านี้อาจเป็นทางออกเพื่อแบ่งเบาภาระรายจ่ายในโลกยุคใหม่ที่อะไรก็แพงได้ดีขึ้น