สาเหตุที่ เศรษฐา ไม่ลืมพระคุณค่ายรถยนต์ “ญี่ปุ่น”

อุตสาหกรรมรถยนต์
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : อมร พวงงาม

สัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จะมีงานใหญ่ “JAPAN MOBILITY SHOW 2023” หลายคนอาจนึกไม่ออก…งานอะไรหว่า

แต่ถ้าบอกว่าคือ “โตเกียวมอเตอร์โชว์” ซึ่งสมาคมผู้ผลิตยานยนต์ประเทศญี่ปุ่นเพิ่งเปลี่ยนชื่อเป็นปีแรกรับรองร้องอ๋อทุกคน

งาน “Japan Mobility Show” ถือเป็นงานสำคัญที่ค่ายรถยนต์หลากหลายแบรนด์พร้อมใจกันนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้านยานยนต์

ต่างจากงานมอเตอร์โชว์บ้านเรา เน้นแต่ยอดขายกันอย่างเดียว

ข้อมูลจาก 3 ยักษ์ค่ายญี่ปุ่น ทั้ง “โตโยต้า” “ฮอนด้า” “นิสสัน” ปีนี้ขอร่วมพลิกโฉมอนาคตแห่งวงการยานยนต์ จาก auto ไปสู่ “mobility” อย่างเต็มตัว

โตโยต้าลุยเน้นเทคโนโลยีที่ตอบสนองแต่ละบุคคล ด้วยพลังงานไฟฟ้า และใส่ความเป็นอัจฉริยะเข้าไปเพิ่ม โดยมีรถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบ 2 รุ่น ได้แก่ FT-3e และ FT-Se

ขณะที่แบรนด์ฮอนด้า ปีนี้มีทั้ง SUSTAINA-C Concept รถยนต์ไฟฟ้าที่ออกแบบเพื่อสะท้อนแนวคิดแบบรีไซเคิลและยังมี CI-MEV โมเดลสาธิตของรถยนต์ไฟฟ้าแบบ 2 ที่นั่ง 4 ล้อ

ไม่ต่างไปจากแบรนด์นิสสัน ที่นอกจากมีรถยนต์ไฟฟ้า “ลีฟ” ที่ขายดิบขายดีในอเมริกาและยุโรป ปีนี้ยังเผยโฉมรถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด

นิสสัน ไฮเปอร์ เออร์เบิน ครอสโอเวอร์ โดยเน้นคุณสมบัติการถ่ายเทพลังงานจากรถสู่ทุกสิ่งทุกอย่าง vehicle-to-everything (V2X)

เห็นเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของค่ายรถญี่ปุ่น หลายคนคงอยากได้คำตอบ “มีของดีโดยเฉพาะ EV ทำไมไม่เอามาขาย” ตลาดเมืองไทย ดันปล่อยให้แบรนด์จีนคว้าพุงมันๆ ไปกินซะงั้น

รถยนต์ไฟฟ้าบ้านเราต้องยอมรับว่า ญี่ปุ่นตามจีนไม่ทันแน่นอน แม้ว่าทั้งเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตจะเป็นต่อก็ตาม เพราะค่ายญี่ปุ่นยังมีความเชื่อเดิม ๆ ว่าตลาดรถอีวียังไม่พร้อมโต ส่วนซีโร่คาร์บอน พลังงานอื่นก็มีให้เลือก เช่น “ไฮไดรเจน” จึงประมาท

พอเอาเข้าจริงตลาดดันโต ทีนี้ก็ว้าวุ่นเลย

การรุกแบบสายฟ้าแลบของค่ายจีน ทำให้แบรนด์ญี่ปุ่นกังวล โดยเฉพาะซัพพลายเชนดั่งเดิมของรถสันดาปที่ “ยาวมาก” ถือเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทั้งเครื่องยนต์, หม้อน้ำ, ท่อไอเสีย ฯลฯ

ดังนั้นเพียงแค่คิดจะก้าวข้ามจากรถสันดาปหันไปสู่อีวี ทั้งโรงงานผลิตรถยนต์และซัพพลายเชนที่เคยสร้างชื่อเสียงให้ไทยแลนด์เป็น “ดีทรอยต์ออฟเอเชีย” คงถึงเวลาล่มสลาย

เราจึงได้เห็นการยื่นมือเข้าไปช่วยของรัฐบาล หวังดึงให้ประเทศไทยยังเป็น “ศูนย์กลางช่วงสุดท้ายของการผลิตรถยนต์สันดาป” ต่อไปอีก 10-15 ปี

แม้จะดูย้อนแย้งกับเทรนด์ของโลกที่มุ่งไปรถอีวี

วันก่อน บีโอไอก็ประกาศชัดเจนว่าจะมุ่งส่งเสริมทั้งรถอีวีและรถไฮบริด โดยตกลงจะให้สิทธิประโยชน์หลายอย่าง ยิงนัดเดียวได้สองต่อ ทั้งยืดอายุซัพพลายเออร์ผู้ผลิตชิ้นส่วนในบ้านเราแถมเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้รัฐบาลมีกำหนดจะไปโรดโชว์ญี่ปุ่น โน้มน้าวให้ย้ายฐานการผลิตเพื่อส่งออกจากประเทศอื่นๆ มาบ้านเรามากขึ้น

รู้แล้วนะว่าทำไม นายกฯเศรษฐา ถึงต้องพูดว่า “รัฐบาลไทยไม่ลืมพระคุณนักลงทุนญี่ปุ่น”