กระแสสะสม “สินค้ากีฬา” มาแรง โตก้าวกระโดด-ขยายตัวต่อเนื่อง

sport
คอลัมน์ : Market Move

การสะสมของที่ระลึกเกี่ยวกับวงการกีฬาอย่างรองเท้าหรือเสื้อที่นักกีฬาดังเคยใส่ดูจะเป็นการลงทุนที่ฮอตฮิตยิ่งขึ้นกว่าเดิม Sotheby’s บริษัทจัดการประมูลผลงานศิลปะของศิลปินระดับตำนาน เครื่องเพชรและอื่น ๆ หันมาจัดประมูลของสะสมของนักกีฬาดังซึ่งต่างทำเงินได้ระดับหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างต่อเนื่อง จนสถานประมูลถึงกับจัดเทศกาลสัปดาห์สินค้ากีฬาขึ้นมาเป็นการเฉพาะ

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า Sotheby’s หนึ่งในบริษัทจัดประมูลชื่อดังกำลังเดินหน้าขยายไลน์อัพสินค้ากีฬาที่จะนำออกประมูล รวมถึงประกาศจัด Sports Week อีเวนต์สำหรับการประมูลสินค้ากีฬาโดยเฉพาะ ซึ่งจะมีการจัดประมูลทั้งแบบออฟไลน์ในห้องประมูลและผ่านออนไลน์ หวังสร้างรายได้จากดีมานด์ของสะสมของนักกีฬาที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจากกลุ่มนักสะสมรุ่นใหม่กระเป๋าหนัก

โดย บราห์ม วอคเตอร์ หัวหน้าฝ่ายสตรีตแวร์และของสะสมสมัยใหม่ของ Sotheby’s กล่าวว่า ตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ดีมานด์และความสนใจของสะสมของนักกีฬาดังเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด จนปัจจุบันสินค้ากลุ่มนี้กลายเป็นกลุ่มที่เติบโตเร็วที่สุดของสถานประมูลไปแล้ว

ด้วยเหตุนี้บริษัทจึงตัดสินใจจัดอีเวนต์ Sports Week ขึ้น เพื่อสื่อสารความมุ่งมั่นของบริษัทที่จะรุกเข้าสู่ตลาดนี้ และการตั้งราคาประเมินในระดับที่น่าสนใจของทั้งแฟนกีฬา รวมถึงนักสะสมทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ให้ชุมชนนักสะสมได้รับรู้

หลังดีมานด์ในตลาดนี้พุ่งสูงขึ้นในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมกับการแพร่ภาพของสารคดีเรื่อง The Last Dance ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของไมเคิล จอร์แดน นักกีฬาบาสเกตบอลชื่อดังจากทีม Chicago Bulls เมื่อครั้งพยายามพาทีมคว้าแชมป์การแข่งขันบาสเกตบอล NBA สมัยที่ 6 ซึ่งช่วยกระตุ้นความสนใจในของสะสมที่เกี่ยวข้องกับไมเคิล จอร์แดน ก่อนจะลามไปถึงของสะสมของนักกีฬารายอื่น ๆ ด้วย

สอดคล้องกับการวิเคราะห์ของ Market Decipher บริษัทผู้ให้คำปรึกษาด้านธุรกิจคาดการณ์ว่า ของสะสมของนักกีฬาไม่เพียงเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ แต่ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2021 ตลาดของสะสมของนักกีฬาทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 2.61 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมคาดการณ์ว่าตลาดนี้น่าจะเติบโต ต่อเนื่องจนมีมูลค่าถึง 2.27 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2032

ขณะเดียวกันการประมูลของสะสมของนักกีฬาดังไม่เพียงนำรายได้เข้ามาให้กับฐานประมูล แต่ยังนำฐานลูกค้าใหม่ ๆ ที่อายุน้อยลงเข้ามาสู่วงการประมูลด้วย

บราห์ม วอคเตอร์ เปิดเผยว่า อายุเฉลี่ยของผู้ที่เข้าร่วมประมูลของสะสมของนักกีฬาดังอยู่ที่ประมาณ 20-40 ปี และ 50% เป็นผู้ที่เพิ่มเข้าร่วมการประมูลเป็นครั้งแรก นอกจากนี้หลายคนไม่เพียงประมูลของสะสมของนักกีฬาดัง แต่ยังซื้อสินค้าอื่น ๆ อย่างของสะสมหรือนาฬิกาติดไม้ติดมือไปด้วย

ด้วยเหตุนี้ทำให้บริษัทประมูลตัดสินใจทุ่มรุกตลาดสินค้าของสะสมของนักกีฬาดังอย่างเต็มตัว โดยไม่เพียงขยายไลน์อัพสินค้าที่จะนำมาประมูล แต่ยังจับมือกับสมาคมบาสเกตบอลแห่งชาติของสหรัฐหรือ NBA และองค์กรกีฬาอื่น ๆ เพื่อจัดหาสินค้า อย่างชุดที่นักกีฬาในการแข่งขันมาเข้าประมูล

หลังเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา Sotheby’s ขาย The Dynasty Collection ซึ่งเป็นเซตรองเท้าแอร์จอร์แดนจำนวน 6 คู่ที่ Michael Jordan ใส่ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งพาทีม Chicago Bulls คว้าแชมป์ NBA สมัยที่ 6 ออกไปด้วยราคา 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตัวเลขนี้ทำสถิติมูลค่าสูงสุดของการขายรองเท้าสนีกเกอร์ที่ Michael Jordan เคยใส่ในการแข่งขัน

สำหรับสินค้าไฮไลต์ในช่วง Sports Week ของสถานประมูล Sotheby’s จะมีกางเกงขาสั้นที่ Muhammad Ali นักมวยระดับตำนานเคยใส่ขึ้นชกในแมตช์ Thrilla in Manila เมื่อปี 1975 ซึ่งการชกครั้งนั้นถือเป็นการแข่งขันชกมวยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดรายการหนึ่งในประวัติศาสตร์วงการมวยโลก โดยคาดว่าจะมีผู้ประมูลกางเกงตัวนี้ไปในราคา 4-6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในของสะสมเกี่ยวกับ Muhammad Ali ที่มีค่าสูงสุดที่เคยปรากฏในการประมูล

และยังมีเสื้อเจอร์ซีย์ของ Kobe Bryant นักกีฬาบาสเกตบอลจากทีม Los Angeles Lakers ที่ใส่ในการแข่งขัน NBA รอบชิงชนะเลิศเมื่อปี 2009 ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ประมูลไปในราคา 1.5 ถึง 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ยังมีของสะสมเกี่ยวกับนักกีฬา NBA ชื่อดังอีกหลายราย ไม่ว่าจะเป็น LeBron James, James Harden และ Russell Westbrook

โดย Sotheby’s ประเมินว่า ตลอดช่วงอีเวนต์ Sports Week จะมีเงินสะพัดมากถึง 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการมีผู้ประมูลสินค้าแต่ละชิ้นออกไปด้วยราคาตั้งแต่ 500 ดอลลาร์สหรัฐไปจนถึง 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อชิ้น