เทรนด์ออกกำลังแรงไม่ตก หนุนสินค้ากีฬาโต 7 หมื่นล้าน

เทรนด์ออกกำลังกาย หนุนสินค้ากีฬาโต 7 หมื่นล้าน

ปี 2566 นี้แม้สภาพเศรษฐกิจ-กำลังซื้อจะยังไม่ดีนัก แต่ตลาดสินค้ากีฬาทั้งเสื้อผ้า รองเท้า และอื่น ๆ กลับเติบโตคึกคักต่อเนื่องเป็นปีที่สอง จนผู้เชี่ยวชาญในวงการคาดว่าสิ้นปีจะมีมูลค่าสูงกว่าช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว สะท้อนจากการจับจ่ายของผู้บริโภค และการเข้ามาปักธงทำธุรกิจ-เปิดสาขาของแบรนด์ใหม่ ๆ ขณะที่ผู้เล่นปัจจุบันเดินหน้าเปิดตัวสินค้า จัดกิจกรรมและทำการตลาดคึกคัก เช่นเดียวกับกิจกรรมยอดฮิตอย่างงานวิ่ง ไม่ว่าจะเป็นฟันรัน, มินิมาราธอน, ฮาล์ฟมาราธอน, มาราธอน และเทรล ที่กลับมาจัดกันรัว ๆ ในหลายจังหวัดต่อเนื่องตลอดทั้งปีนี้

ตลาด 7 หมื่นล้าน โตทะลุโควิด

“ตฤณ ธนากิตติวรา” ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท แอซิคส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ฉายภาพว่า ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 ตลาดสินค้ากีฬาในประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 6 หมื่นล้านบาท แต่ปี 2566 นี้คาดว่าตลาดจะเติบโตไม่น้อยกว่า 10% ทำให้มีมูลค่าอย่างน้อย 7 หมื่นล้านบาท นับเป็นการโตต่อเนื่องจากการเติบโต 20% ในปี 2565 ที่ผ่านมาด้วย

ปัจจัยหลักที่ผลักดันการเติบโตนี้มาจากทั้งเทรนด์การแต่งตัวสไตล์สปอร์ต ที่นอกจากผู้บริโภคทั่วไปแล้ว ดาราและเหล่าคนดังในวงการต่าง ๆ ยังแต่งตัวสไตล์นี้มากขึ้น ช่วยปลุกดีมานด์สินค้าได้แบบล้นหลาม

ตัวอย่างเช่น เจนนี่ (Jennie) นักร้องดังจากวง BLACKPINK ใส่รองเท้าเอสิคส์รุ่น GT-2160 ทำให้แฟน ๆ มาตามหารองเท้ารุ่นนี้จนขายดีขึ้นทันที

รองเท้ากีฬา

ขณะเดียวกันจำนวนผู้ที่ออกกำลังกายด้วยการวิ่ง เล่นกีฬาอื่น รวมถึงออกกำลังกายในฟิตเนสหรือยิม ยังเพิ่มจำนวนขึ้น สังเกตได้จากการมีกลุ่ม-คอมมิวนิตี้เกี่ยวกับการออกกำลังเกิดขึ้นหลายกลุ่ม ทั้งที่ผู้บริโภคตั้งขึ้นเอง แบรนด์สินค้าเป็นฝ่ายผลักดัน ซึ่งช่วยเพิ่มปริมาณกิจกรรมออกกำลังและโอกาสในงานสินค้า รวมถึงปริมาณความต้องการสินค้า

โดยบริษัทรับเทรนด์นี้ด้วยการนำรองเท้ารุ่นดังในอดีตมาผลิตใหม่ในรูปแบบรองเท้าไลฟ์สไตล์ สำหรับใส่ในชีวิตประจำวัน พร้อมเสริมจุดขายด้วยนวัตกรรมเพื่อสร้างความแตกต่างและความคุ้มค่า

“ซูเปอร์สปอร์ต” ลงทุนต่อเนื่อง

สอดคล้องกับความเห็นของซูเปอร์สปอร์ตเชนร้านสินค้ากีฬาในเครือเซ็นทรัล ที่ระบุว่า ตลาดรองเท้ากีฬากลับมาคึกคักตั้งแต่ปลายปี 2565 ที่ผ่านมาแล้ว ทั้งด้านการซื้อสินค้าของผู้บริโภคที่คึกคักต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปีก่อนจนถึงปัจจุบัน

โดยนอกจากกระแสการใส่รองเท้ากีฬาในชีวิตประจำวันที่ยังคงฮิตต่อเนื่อง ในปี 2566 นี้แบรนด์สินค้ายังพากันส่งสินค้าใหม่ออกมาหลากหลายรุ่น พร้อมกับดีไซน์ที่มีความเป็นแฟชั่นมากขึ้นด้วย ส่วนทำการตลาดคึกคักขึ้นกว่าที่ผ่านมาอย่างชัดเจน รวมถึงมีแบรนด์ใหม่ ๆเข้ามาร่วมแข่งขันในตลาด

“หนึ่งในสัญญาณที่สะท้อนถึงการฟื้นตัวคือ งานวิ่ง 10 ไมล์ ที่บริษัทจัดเมื่อเดือนพฤษภาคมนั้น มีผู้สมัครทั้งชาวไทยและต่างประเทศเข้าร่วมเต็มโควตา 8,000 คน ภายในเวลาเพียง 48 ชั่วโมงหลังเปิดรับสมัคร” เออร์ลินดา เพชรพิสิฐ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ซี อาร์ ซี สปอร์ต จำกัด กล่าว

ท่ามกลางความคึกคักนี้ ซูเปอร์สปอร์ตตัดสินใจขยายธุรกิจตลอดช่วงปี 2566-2567 ด้วย “อเล็กซองด์ อัมเบล” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซี อาร์ ซี สปอร์ต จำกัด กล่าวในงานครบรอบ 26 ปี ซูเปอร์สปอร์ตว่า บริษัทพร้อมเดินหน้าลงทุนขยายธุรกิจต่อเนื่องตลอดช่วงปี 2566-2567 ทั้งการเปิดสาขาใหม่ รีโนเวตสาขาเดิม รวมถึงเปิดโมเดลใหม่ โดยในช่วงปี 2566-2567 มีแผนขยายสาขาเพิ่มอีก 8 สาขา พร้อมกับรีโนเวตสาขาเดิมจำนวน 10 สาขา รวมถึงจะมีสาขาโฉมใหม่ในชื่อ Supersport 2.0 ซึ่งเตรียมเปิดตัวในช่วงปลายปี 2566 นี้ เริ่มด้วยสาขา Westville และหาดใหญ่

แบรนด์ทำตลาดคึกคัก

ขณะเดียวกันแบรนด์สินค้าทั้งหน้าใหม่และรายเดิม ต่างโหมทำโปรโมชั่นกันเต็มที่เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาด หนึ่งในนั้นคือ CRAFT แบรนด์สินค้ากีฬาจากสวีเดน ที่ปักธงสาขาแฟลกชิปแห่งแรกของโลกในประเทศไทยไปเมื่อไตรมาส 2 และที่ผ่านมาอัดแคมเปญการตลาดต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นแคมเปญวันแม่ โดยให้ส่วนลด 20% สำหรับเสื้อผ้าและรองเท้าสำหรับผู้หญิง และให้ส่วนลด 10% สำหรับสินค้ารุ่นใหม่ ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2566-31 สิงหาคม 2566 ต่อเนื่องจากแคมเปญให้ส่วนลดสูงสุด 20% กับผู้เข้าร่วมงานวิ่ง Spartan Pattaya Trifecta Weekend & Trail 2023 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2566-31 สิงหาคมที่ผ่านมา

“ขวัญพงษ์ ชื่นฤดีมล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพลย์กราวน์ สามหกศูนย์ จำกัด ผู้นำเข้าและบริหารเชนร้านสินค้ากีฬา อาทิ CRAFT และ Hoop Station ร้านสินค้าบาสเกตบอลมัลติแบรนด์ ย้ำความเชื่อมั่นว่า กำลังซื้อในวงการสินค้ากีฬาฟื้นกลับมาเต็ม 100% ตั้งแต่ช่วงครึ่งแรกของปีนี้แล้ว สะท้อนจากการซื้อรองเท้าราคาเฉลี่ย 6 พันบาท ในจำนวน 3-5 คู่/ปี/คน ทั้งสำหรับซ้อม 2-3 คู่และแข่งอีก 1-2 คู่ ทำให้เชื่อว่าปี 2566 นี้ตลาดเติบโตแน่นอน

แนวโน้มการเติบโตและความมั่นใจในการจับจ่ายสินค้ากีฬาของผู้บริโภคนี้ เป็นสาเหตุให้บริษัทตัดสินใจเพิ่มความเข้มข้นของการทำตลาดแบรนด์ CRAFT ด้วยการเปิดสาขาแฟลกชิปแห่งแรกของโลกที่ชั้น 1 สยามดิสคัฟเวอรี่ หลังเริ่มนำสินค้าเข้ามาทดลองทำตลาดตั้งแต่ปี 2565 ที่ผ่านมาและได้รับผลตอบรับดี

เช่นเดียวกับแบรนด์อื่น ๆ อาทิ ร้าน REV RUNNR ที่จัดแคมเปญ REV RUNNR TRAIL ON TOP ให้ส่วนลดเพิ่ม 20% เมื่อซื้อรองเท้า+เสื้อผ้าหรืออุปกรณ์ที่ร่วมรายการชิ้นที่ 2 และสมาชิก The1 สามารถใช้คะแนนเดอะวัน 1,000 คะแนนแลกรับส่วนลด 100 บาท ตั้งแต่ 10-22 สิหาคม 2566

ส่วน HOKA ONE ONE ลุยจัดกิจกรรมวิ่งกลุ่มย่อระยะ 5 กิโลเมตร พร้อมสิทธิทดลองรองเท้ารุ่นใหม่ ในสวนสาธารณะของกรุงเทพฯ เช่น สวนหลวง ร.9 สวนอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ฯลฯ ซึ่งจัดไปแล้วถึง 8 ครั้ง และงานวิ่งซิตี้รัน HOKA FLY RUN BANGKOK ที่มีผู้เข้าร่วมกว่า 650 คน

งานวิ่งพรึ่บ 137 งานยันปลายปี

ขณะเดียวกันกิจกรรมหลักของวงการอย่างงานวิ่งยังกลับมาจัดกันอย่างคึกคัก ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลของแพลตฟอร์มร่วมงานวิ่งอย่างไทยรัน และวิ่งไหนดี เพียงในเดือนสิงหาคม 2566 นี้มีงานวิ่งถึง 49 งาน โดยเป็นงานเวอร์ชวลรันเพียง 3 งาน ที่เหลือเป็นการวิ่งในสถานที่จริงในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งฟันรัน, มินิมาราธอน, ฮาล์ฟมาราธอน, มาราธอน และเทรล

หากรวมงานทั้งหมดที่ประกาศกำหนดการจัดตั้งแต่กันยายน-ธันวาคม 2566 จะมีงานวิ่งรอจัดอีก 137 งาน ซึ่งผู้จัดมีหลากหลายทั้งภาคเอกชนอย่าง MICE and Communications, ห้างเซ็นทรัลและเดอะมอลล์ เครือสหพัฒน์ บริษัทห้างร้าน หอการค้า รวมถึงหน่วยงานรัฐเช่นจังหวัดและองค์การบริหารส่วนตำบลต่าง ๆ สะท้อนถึงความคึกคักของงานวิ่งที่ฟื้นกลับมา เช่นเดียวกับตลาดสินค้ากีฬา

ทั้งกิจกรรมการตลาดของทั้งร้านค้าและแบรนด์สินค้า รวมถึงงานวิ่งที่จ่อคิวจัดอีกกว่า 140 งานในช่วง 4 เดือนที่เหลือนี้ สะท้อนถึงความคึกคักของตลาดสินค้ากีฬาที่จะเติบโตจนมีมูลค่า 7 หมื่นล้านบาทในปีนี้